มะเร็งลำไส้ เป็นหนึ่งใน 5 ของโรคมะเร็งที่คร่าชีวิตคนไทยในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก ซึ่งกว่าที่จะแสดงอาการก็มักจะอยู่ในระยะลุกลามจนรักษาได้ยากแล้ว การตรวจคัดกรองเบื้องต้นด้วยการส่องกล้องเป็นวิธีตรวจที่ได้ผลแม่นยำที่สุด แต่วันนี้ จุฬาฯ ได้ยกระดับความสามารถในการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้โดยใช้ AI ที่ช่วยให้ผลแม่นยำขึ้นกว่าเดิมถึง 16 เปอร์เซ็นต์

ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติเผยว่า มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 3 ในเพศชาย จำนวน 8,658 คน และอันดับ 2 ในเพศหญิง จำนวน 7,281 คน และมีแนวโน้มพบผู้ป่วยมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้เฉลี่ยวันละ 14 คน หรือ 5,332 คนต่อปี

การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ด้วยการส่องกล้องช่วยลดอัตราจำนวนผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ได้เป็นจำนวนมาก รวมทั้งยังมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าการไปรักษาเพื่อยืดอายุเมื่อพบว่าป่วยแล้ว (ภาพจาก iStock)
การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ด้วยการส่องกล้องช่วยลดอัตราจำนวนผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ได้เป็นจำนวนมาก รวมทั้งยังมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าการไปรักษาเพื่อยืดอายุเมื่อพบว่าป่วยแล้ว (ภาพจาก iStock)

...

นอกจากนี้ มะเร็งลำไส้ใหญ่ ยังเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับต้นๆ ในกลุ่มผู้สูงอายุ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้น ผู้สูงอายุจึงเป็นกลุ่มเสี่ยงของโรคมะเร็งระบบทางเดินอาหาร หากตรวจพบโรคมะเร็งในระยะเริ่มต้นจะช่วยในการรักษาได้ทันท่วงที ช่วยลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตจากโรคนี้ได้

รศ.ดร.พีรพล เวทีกูล และ ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ หนูไพโรจน์ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ ศ.นพ.รังสรรค์ ฤกษ์นิมิตร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และคณะ จากศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย พัฒนานวัตกรรม “AI ตรวจจับความผิดปกติในทางเดินอาหาร” (DeepGI-Deep Technology for Gastrointestinal Tracts) ได้สำเร็จ เพื่อช่วยตรวจจับติ่งเนื้อที่มีความผิดปกติ ในลำไส้ใหญ่และโรคในระบบทางเดินอาหารอื่นๆ โดยมีความร่วมมือกับบริษัท อีเอสเอ็ม โซลูชั่น จำกัด ในการร่วมสนับสนุนนวัตกรรม และเป็นตัวแทนจำหน่าย DeepGI ซึ่งปัจจุบันได้ให้บริการตรวจคนไข้ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และทดสอบใช้งานในโรงพยาบาลหลายแห่ง

ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ หนูไพโรจน์ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ (ซ้าย) ศ.นพ.รังสรรค์ ฤกษ์นิมิตร ผู้รักษาการผู้ช่วยอธิการบดี ด้านนวัตกรรม จุฬาฯ  (กลาง) และ รศ.ดร.พีรพล เวทีกูล ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ (ขวา)
ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ หนูไพโรจน์ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ (ซ้าย) ศ.นพ.รังสรรค์ ฤกษ์นิมิตร ผู้รักษาการผู้ช่วยอธิการบดี ด้านนวัตกรรม จุฬาฯ (กลาง) และ รศ.ดร.พีรพล เวทีกูล ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ (ขวา)

ปัจจุบันการส่องกล้องผ่านช่องทวารหนัก (ตรวจลำไส้ใหญ่) หรือระบบทางเดินอาหารส่วนปลาย เป็นวิธีการมาตรฐานที่ใช้ในการตรวจหาความผิดปกติต่างๆ เช่น ติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ ซึ่งการตรวจจับความผิดปกติค่อนข้างมีความท้าทายมาก เนื่องจากลักษณะของติ่งเนื้อมีรูปแบบที่หลากหลาย เช่น แบบที่นูน และแบบที่แบนราบไปกับผนังลำไส้ อีกทั้งอาจจะมีขนาดที่เล็ก และสีที่กลมกลืนไปกับบริเวณโดยรอบ จึงทำให้การตรวจวินิจฉัยผิดพลาดได้ง่ายหากแพทย์ขาดประสบการณ์หรืออุปกรณ์การแพทย์ไม่ครบเครื่อง จากสถิติพบว่าการตรวจอาจผิดพลาดได้ถึง 22 เปอร์เซ็นต์

เทคโนโลยี DeepGI ช่วยยกระดับการส่องกล้องคัดกรองมะเร็งลำไส้ได้ตั้งแต่การตรวจพบชิ้นเนื้อต้องสงสัยก่อนที่จะกลายเป็นมะเร็งในอนาคต
เทคโนโลยี DeepGI ช่วยยกระดับการส่องกล้องคัดกรองมะเร็งลำไส้ได้ตั้งแต่การตรวจพบชิ้นเนื้อต้องสงสัยก่อนที่จะกลายเป็นมะเร็งในอนาคต

...

รศ.ดร.พีรพล เวทีกูล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เผยว่า การพัฒนาระบบเอไอในการส่องกล้องช่วยให้ทีมแพทย์ (AI-Assisted Solution) สามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และลดความผิดพลาดดังกล่าว โดยเทคโนโลยี DeepGI จะประมวลวิเคราะห์ภาพที่ได้จากวิดีโอระหว่างการส่องกล้อง แล้ววิเคราะห์ความผิดปกติด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยใช้เทคนิค การเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning) ซึ่งโมเดลจะตีกรอบบริเวณที่มีความผิดปกติแล้วแจ้งเตือนให้กับแพทย์ทันที โดยมีความแม่นยำมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ พร้อมสามารถวินิจฉัย ชนิดของติ่งเนื้อว่าเป็นชิ้นเนื้อที่เป็นอันตราย (Neoplastic) หรือไม่เป็นอันตราย (Hyperplastic) ได้อย่างแม่นยำ ซึ่งทำให้แพทย์มีความมั่นใจในการวินิจฉัยโรคได้มากขึ้น

รศ.ดร.พีรพล เวทีกูล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ
รศ.ดร.พีรพล เวทีกูล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ

จากผลการวิจัยพบว่า DeepGI สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการค้นหาติ่งเนื้อถึง 16 เปอร์เซ็นต์ การตรวจพบติ่งเนื้อเพิ่มขึ้น 1 เปอร์เซ็นต์ และจะสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งลำไส้ได้ถึง 3 เปอร์เซ็นต์

...

สำหรับจุดเด่นของ DeepGI ซึ่งเป็นระบบตรวจความผิดปกติในทางเดินอาหาร มี 4 ข้อ ได้แก่

  1. Deep Technology เทคโนโลยีขั้นสูงของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่เรียกว่าการเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning) มาช่วยตรวจจับ (Detection) พร้อมแยกประเภทชิ้นเนื้อผิดปกติ (Characterization) แบบ real-time ด้วยความแม่นยำสูงสุด
  2. Vendor Unlock รองรับกล้องส่องทางเดินอาหารทุกแบรนด์และทุกรุ่น
  3. Extensible Future ต่อยอดได้อีกในอนาคตเพื่อตรวจหาชิ้นเนื้อผิดปกติตามจุดอื่นๆ ภายในร่างกาย เช่น ท่อน้ำดี และกระเพาะอาหาร เป็นต้น
  4. Affordable ราคาต่ำกว่าระบบอื่นในตลาด ซึ่งโรงพยาบาลหรือหน่วยงานราชการต่างๆ สามารถเข้าถึงได้ เพิ่มศักยภาพการตรวจขยายผลสู่แพทย์ชนบท

ปัจจุบัน (ปี 2567) DeepGI ได้ขยายขีดความสามารถรองรับการตรวจจับความผิดปกติในกระเพาะอาหาร ที่เรียกว่า Gastrointestinal Metaplasia (GIM) ซึ่งเป็นระยะเริ่มแรกของการเป็นมะเร็งในกระเพาะอาหาร โดยมะเร็งชนิดนี้เป็นหนึ่งในมะเร็งที่พบได้บ่อยและมีอัตราการเกิดมากขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารของผู้ป่วย

กล่องเทคโนโลยี DeepGI รุ่นล่าสุดที่คณะวิศวกรรม จุฬาฯ พัฒนาร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ
กล่องเทคโนโลยี DeepGI รุ่นล่าสุดที่คณะวิศวกรรม จุฬาฯ พัฒนาร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ

...

DeepGI มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องโดยมีความพร้อมด้านเทคโนโลยีระดับ 5 (Technology Readiness Level 5, TRL5) และถูกทดสอบใช้งานจริงในหลายโรงพยาบาล มีการเปรียบเทียบประสิทธิภาพกับคู่แข่งในท้องตลาด และสามารถตรวจจับความผิดปกติได้ทั้งในลำไส้ใหญ่ และในกระเพาะอาหาร ซึ่งจะ ทำให้ป้องกันการเกิดมะเร็งในลำไส้ใหญ่และกระเพาะอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในอนาคต DeepGI จะมีการขยายขีดความสามารถอย่างต่อเนื่อง เช่น การตรวจหาความผิดปกติในท่อน้ำดี เป็นต้น

“การใช้เทคโนโลยี DeepGI นี้มีความยากกว่าเทคนิคการตรวจส่องกล้องที่อื่น เนื่องจากลักษณะของเยื่อบุที่ผิดปกติจะมีขอบเขตที่ไม่ชัดเจนและมีลักษณะแบนราบ ทำให้การส่องกล้องหาโดยแพทย์ทั่วไปสามารถทำได้ยาก และการตีกรอบของตำแหน่งที่ผิดปกติจะต้องตีกรอบให้สอดคล้องกับลักษณะความผิดปกติของเยื่อบุซึ่งไม่สามารถใช้เป็นวงกลมหรือสี่เหลี่ยมเหมือนเช่นที่ทำในติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ได้” ศ.นพ.รังสรรค์ ฤกษ์นิมิตร ผู้รักษาการผู้ช่วยอธิการบดี ด้านนวัตกรรม จุฬาฯ และอาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว

ศ.นพ.รังสรรค์ ฤกษ์นิมิตร ผู้รักษาการผู้ช่วยอธิการบดี ด้านนวัตกรรม จุฬาฯ
ศ.นพ.รังสรรค์ ฤกษ์นิมิตร ผู้รักษาการผู้ช่วยอธิการบดี ด้านนวัตกรรม จุฬาฯ

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของการตรวจส่องกล้องมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วย AI เนื่องจากมีประเทศอื่นๆ ทำได้เช่นกัน แต่ไทยก็เป็นกลุ่มแรกๆ ที่นำเทคโนโลยี DeepGI มาใช้ในการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ ที่สามารถตรวจจับความผิดปกติได้ตั้งแต่ก่อนเป็นมะเร็ง 

ปัจจุบันเทคโนโลยี DeepGI นี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบจากทางคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ถ้าหากผ่านแล้วก็จะนำมาจัดจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งจะมีราคาย่อมเยากว่าเครื่องส่องกล้องด้วย AI จากต่างประเทศกว่าครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว

“ตอนนี้มีการพรีออเดอร์จากโรงพยาบาลต่างๆ บ้างแล้ว และมีการนำไปทดลองใช้งาน เช่น โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์, โรงพยาบาลพระจอมเกล้า เพชรบุรี, โรงพยาบาลมหาชัย, โรงพยาบาล MedPark, โรงพยาบาล BNH ส่วนโรงพยาบาลรัฐบาลเราก็มีการคุยกับ สปสช. เพื่อให้เครื่องนี้เข้าระบบและสามารถช่วยเหลือประชาชนกลุ่มใหญ่ได้” ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ หนูไพโรจน์ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว

ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ หนูไพโรจน์ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ
ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ หนูไพโรจน์ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ

พร้อมทั้งให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าที่ โรงพยาบาลพระจอมเกล้าธนบุรี มีการศึกษาเรื่องค่าใช้จ่ายในการตรวจส่องกล้องมะเร็งลำไส้ใหญ่ของคนไข้ว่ามีความคุ้มค่ากว่าการไม่ตรวจเลยแล้วไปรักษาตอนเป็นมะเร็งลำไส้แล้ว ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการรักษาเป็นหลักล้านบาท

“จำนวนเงินของการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ 1 คน มีมูลค่าเท่ากับการส่องกล้องตรวจถึง 2 หมื่นคน ที่สามารถรักษาได้ทัน แต่คนหนึ่งที่ต้องรักษาอาจจะทำได้แค่ยืดชีวิตออกไป ดังนั้นการตรวจคัดกรองไว้ก่อนจึงเป็นเรื่องที่ดีกว่า” ศ.นพ.รังสรรค์ ฤกษ์นิมิตร ผู้รักษาการผู้ช่วยอธิการบดี ด้านนวัตกรรม จุฬาฯ และอาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวเสริม

สำหรับค่าใช้จ่ายในการตรวจส่องกล้องมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยเทคโนโลยี DeepGI นั้น ทาง ศ.นพ.รังสรรค์ เผยว่าไม่ได้บวกค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมกว่าการตรวจส่องกล้องทั่วไป เพราะเป็นเทคโนโลยีที่มาเสริมให้แพทย์ทำงานสะดวกขึ้น

นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้ที่ถือบัตรทองและผู้ที่มีสิทธิประกันสังคม เข้ารับการตรวจส่องกล้องมะเร็งลำไส้ด้วยเทคโนโลยี DeepGI ได้ แต่ต้องให้ทางโรงพยาบาลต้นสังกัดทำการส่งตัวมาเข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยเสียก่อน จึงจะสามารถเข้ารับการตรวจด้วยเทคโนโลยีนี้ได้

ภาพโดย : ธนัท ชยพัทธฤทธี