ปัญหาภาวะสายตาผิดปกติในเด็ก โดยเฉพาะเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาตั้งแต่ ป.1-ป.6 ที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้น สาเหตุหนึ่งอาจมาจากการที่เด็กใช้สายตาผ่านอุปกรณ์ดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งต้องรับแสงและเพ่งมองจอเป็นเวลานาน ส่งผลให้กล้ามเนื้อสายตาเมื่อยล้า หรืออาจทำให้จอตาเสื่อมไวขึ้น นำไปสู่ภาวะสายตาสั้น สายตาเอียง สายตาเลือนราง ฯลฯ ได้ ซึ่งจะส่งผลต่อการเรียนรู้ พัฒนาการทางสมองและสติปัญญา กระบวนการจดจำและความคิดช้าลง

จากฐานข้อมูล Vision 2020 ปี 2559 พบนักเรียนสายตาผิดปกติประมาณ 11,000 คน ได้รับการตรวจวินิจฉัยจากจักษุแพทย์ 2,436 คน คิดเป็นร้อยละ 22.3 ส่วนใหญ่เป็นสายตาสั้น และสายตาเอียง ปี 2560 พบนักเรียนสายตาผิดปกติ 8,687 คน ได้รับการตรวจวินิจฉัยจากจักษุแพทย์ 1,367 คน คิดเป็นร้อยละ 16 ส่วนใหญ่พบสายตาสั้นและสายตาเอียง ปี 2561 สายตาผิดปกติ 9,976 คน แต่ได้รับการตรวจวินิจฉัยจากจักษุแพทย์เพียง 166 คน คิดเป็นร้อยละ 2 พบสายตาเอียงมากที่สุดและสายตาสั้นรองลงมา

พญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย บอกว่า ภาวะสายตาที่ผิดปกติ (Refractive error) ถูกจัดให้เป็นปัญหาที่ทำให้เกิด ภาวะสายตาเลือนรางและตาบอดอันดับที่หนึ่งโดยองค์การอนามัยโลก สายตาผิดปกติที่ไม่ได้รับการแก้ไขในเด็กโดยเฉพาะในวัยเรียนจะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการความสามารถในการเรียนรู้รวมไปถึงบุคลิกภาพของเด็ก ดังนั้นการค้นหา ให้การวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่แรกเริ่มจึงเป็นเสมือนการป้องกันและช่วยให้เด็กสามารถมีการมองเห็นได้เป็นปกติหรืออาจจะใกล้เคียงกับปกติมากที่สุด

...

พญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล
พญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล

“ถ้าเด็กมีความผิดปกติทางสายตาจะทำให้เรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง อ่านหนังสือไม่รู้เรื่อง เรียนช้า คิดช้าซึ่งในเบื้องต้น พ่อแม่ผู้ปกครอง รวมทั้งคุณครู อาจจะต้องสังเกตว่าเด็กมีพฤติกรรมอะไรที่ไม่ปกติในเรื่องการเรียนหรือไม่ ซึ่งบางทีอาจมีสาเหตุมาจากการที่เด็กมีภาวะสายตาผิดปกติ” อธิบดีกรมอนามัยกล่าวและว่า กรมอนามัยในฐานะหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่อภิบาลสุขภาพประชาชนทุกกลุ่มวัย จึงมีนโยบายที่จะเพิ่มการตรวจคัดกรองภาวะสายตาผิดปกติในเด็กเพื่อลดผลกระทบเชิงลบต่อการเรียนรู้ลงให้ได้ ทั้งนี้ จากสถิติพบว่า นักเรียนระดับประถมศึกษามีภาวะสายตาผิดปกติสูงถึง 32.5% โดยปัญหาหลักที่พบคือภาวะสายตาเอียง 22.5% สายตาสั้น 16.7% และสายตายาว 3.3% ตามลำดับ ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาในต่างประเทศส่วนใหญ่ที่พบว่าปัญหาสายตาสั้นและสายตาเอียงเป็นปัญหาที่พบมากที่สุดของปัญหาค่าสายตาผิดปกติ และพบว่า เด็กชายมีสัดส่วนของเด็กที่มีปัญหาค่าสายตาผิดปกติมากกว่าเด็กผู้หญิง

นายแพทย์ปกรณ์ ตุงคะเสรีรักษ์
นายแพทย์ปกรณ์ ตุงคะเสรีรักษ์

ด้านนายแพทย์ปกรณ์ ตุงคะเสรีรักษ์ ผู้ช่วยอธิบดีกรมอนามัย บอกว่า ก่อนหน้านี้มีตัวอย่างความสำเร็จของโครงการเด็กไทยสายตาดี เริ่มต้นที่เขต 10 โดยศูนย์อนามัยที่ 10 กรมอนามัย ซึ่งครอบคลุม 5 จังหวัด คือ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ และมุกดาหาร ได้ทำโครงการ “เด็กเขต 10 สายตาดี มีศักยภาพในการเรียนรู้” โดยร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 10 ทำโครงการคัดกรองสายตาให้เด็กๆในเขต 10 พัฒนาให้เกิดระบบบริการแว่นสายตาในเด็กกลุ่มอายุ 6-12 ปี โดยเชื่อมประสานกับ Service Plan สาขาจักษุและหน่วยบริการ Refraction unit ในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ทั้ง 5 จังหวัด ประกอบด้วย โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ อุบลราชธานี โรงพยาบาลศรีสะเกษ โรงพยาบาลยโสธร โรงพยาบาลอำนาจเจริญ และโรงพยาบาลมุกดาหาร ออกให้บริการตรวจคัดกรองสายตาเด็กวัยเรียนเชิงรุก (คาราวานเชิงรุก) ณ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประถมศึกษา ทั้ง 13 เขตโรงเรียน 3,077 แห่ง โดยมีจักษุแพทย์ พยาบาลเวชปฏิบัติทางตาของโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปในแต่ละจังหวัด ร่วมออกให้บริการ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการตรวจคัดกรองสายตาเด็กวัยเรียน ซึ่งร่วมกันจัดระบบการให้บริการตรวจคัดกรอง การตรวจวินิจฉัย การส่งต่อและแก้ไขดูแลรักษาที่รวดเร็วโดยในปี 2566 ตั้งเป้าคัดกรองภาวะสายตาผิดปกติให้เด็ก จำนวน 200,000 คน ซึ่งทำได้ครบตามเป้าที่ตั้งไว้

...

“เรามองเห็นปัญหาเรื่องนี้ในปี 2565 ที่พบว่าทั้งเขต 10 จำนวน 5 จังหวัด มีเด็กได้รับแว่นตาเพียง 44 คน เราก็มองว่ามันน้อยมาก จึงเกิดความคิดในการทำโครงการเชิงรุก พัฒนาระบบบริหารจัดการเครือข่ายบริการแว่นสายตาเด็ก กลุ่มอายุ 6-12 ปี พัฒนาศักยภาพด้านการตรวจคัดกรองสายตาให้แก่ครูอนามัยโรงเรียน ครูประจำชั้น บุคลากรผู้ให้บริการ และบุคลากรภาคส่วนท้องถิ่น ให้มีความพร้อมในการให้บริการและมีส่วนร่วมในการจัดบริการในพื้นที่ และเพิ่มการเข้าถึงบริการตรวจคัดกรองสายตาและแว่นสายตาเด็ก กลุ่มอายุ 6-12 ปี ซึ่งก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี” คุณหมอปกรณ์บอกและว่า ในอนาคตจะพัฒนาโครงการนี้ให้เป็นโครงการระดับประเทศ เพราะจริงๆแล้วในสิทธิประโยชน์ของระบบหลัก ประกันสุขภาพ เด็กที่มีสิทธิคือเด็กไทยทุกสิทธิ ทั้งบัตรทอง ประกันสังคม หรือสวัสดิการข้าราชการ อายุตั้งแต่ 3-12 ปี ทั้งที่อยู่ในและนอกระบบโรงเรียน มีสิทธิทุกคน เพราะในช่วงวัยนี้ถ้ามีความผิดปกติทางสายตาไม่ว่าจะสายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง ฯลฯ จะมีปัญหาต่อการเรียนรู้และพัฒนาการที่ล่าช้ากว่าปกติ หรืออาจทำให้เด็กไม่อยากเรียนหนังสือและอาจจะหลุดออกจากระบบการศึกษา เพียงเพราะปัญหาการมองเห็นที่ไม่ชัดเจน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น.

...

คลิกอ่านคอลัมน์ “สมาร์ทไลฟ์” เพิ่มเติม