นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย เกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้ 1.ตามธรรมชาติ 2.การบาดเจ็บที่ลูกอัณฑะ 3.โรคหรือเนื้องอกที่ต่อมใต้สมอง ซึ่งเป็นส่วนที่กระตุ้นให้เกิดการสร้างฮอร์โมนเพศ 4.โรคที่เกี่ยวกับการสร้างฮอร์โมนภายในร่างกาย เช่น โรคเอดส์ โรคตับ-ไตเรื้อรัง มีระดับไขมันสะสมในร่างกายมากเกินไป หรือโรคอ้วน 5.พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม เช่น ทำงานหนัก มีความเครียดสูง พักผ่อนไม่เพียงพอ ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน

นพ.อดิศักดิ์ งามขจรวิวัฒน์ ผู้อำนวยการ รพ.เลิดสิน กล่าวว่า ภาวะพร่องฮอร์โมน อาการที่พบได้ มีดังนี้ ความต้องการทางเพศลดลง อวัยวะเพศชายแข็งตัวยาก รู้สึกหนาวๆ ร้อนๆ ตามตัว ปวดกล้ามเนื้อ อ้วนลงพุง มีมวลกล้ามเนื้อและมวลกระดูกลดลง นอนไม่หลับ ความจำเสื่อม สามารถรักษาได้ด้วยการเพิ่มระดับฮอร์โมนเพศชาย มี 2 วิธี คือ 1.ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต เป็นการลดปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย และเพิ่มปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นร่างกายให้สร้างฮอร์โมนเพศชายได้ดีขึ้น ได้แก่ งดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ลดน้ำหนัก นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ 2.รักษาด้วยยา เป็นการให้ฮอร์โมนเพศชายเพื่อเสริมส่วนที่จำเป็นต่อระบบการทำงานต่างๆของร่างกาย โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อ หรือทาที่ผิวหนัง สนใจติดต่อเข้ารักษา คลินิกสุขภาพเพศชาย ทุกวันพฤหัสบดีที่ 1 และ 3 ของเดือน เวลา 09.00-12.00 น. โทร. 0-2353-9633.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่