มะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือลูคีเมีย (Leukemia) เป็นที่สนใจในสังคมขึ้นมาหลังจากที่อดีตดาราสาว นิ้ง-ณิชชยาณัฐ หรือ นิ้ง กุลสตรี ศิริพงศ์ปรีดา ยอมรับว่าตนเองป่วยเป็นโรคดังกล่าวมานานกว่า 5 ปี ทำให้หลายคนอยากรู้ว่ามะเร็งเม็ดเลือดขาวมีอาการอย่างไร และสามารถรักษาได้หรือไม่

ข้อมูลจากเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เผยถึงรายงานขององค์การอนามัยโลกว่า ในปี 2020 อุบัติการณ์ของผู้ป่วยมะเร็งในประเทศต่างๆ ทั่วโลกคาดการณ์ว่า โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือลูคีเมีย (Leukemia) มีประมาณ 7 ใน 1 แสนประชากร เมื่อเทียบกับประชากรของประเทศไทยประมาณ 60-70 ล้านคน จะอยู่ที่ประมาณเกือบ 5 พันคน ต่อปี สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกช่วงวัย ตั้งแต่วัยเด็กอายุ 2-5 ปี และวัยกลางคน อายุเฉลี่ย 40-50 ปี

สาเหตุมะเร็งเม็ดเลือดขาว

สาเหตุของโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือลูคีเมีย (Leukemia) ในปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่าปัจจัยทางกรรมพันธุ์และการติดเชื้อไวรัสบางชนิด รวมถึงได้รับสารเคมีบางอย่าง เช่น ยาฆ่าแมลง และกัมมันตภาพรังสี สามารถทำให้เกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้ โดยแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง ทั้ง 2 ชนิดมีการดำเนินโรคที่แตกต่างกัน

ภาพจาก iStock
ภาพจาก iStock

...

  1. มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน จะเกิดขึ้นเร็วเป็นวันเป็นสัปดาห์ โดยเกิดขึ้นใน “ไขกระดูก” เซลล์ลูคีเมียจะขัดขวางการสร้างเม็ดเลือดในไขกระดูก ทำให้การสร้างเม็ดเลือดต่างๆ ในไขกระดูกลดลง ทำให้มีอาการเหนื่อยง่าย ติดเชื้อ มีไข้ มีเลือดออกผิดปกติ เช่น เลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาไหล เป็นต้น หากไม่ได้รับการรักษา โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะเสียชีวิตใน 3-4 เดือน จากการติดเชื้อง่าย และการติดเชื้อนั้นมีการลุกลามไปตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย อีกกรณีหนึ่งก็คือมีเลือดออก เช่น มีเลือดออกจากสมองอาจทำให้ผู้ป่วยถึงเสียชีวิตได้ย่างรวดเร็ว
  2. มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง เซลล์ลูคีเมียเกิดในไขกระดูก เซลล์เหล่านี้สามารถเจริญเติบโตเป็นตัวแก่ได้ เซลล์เหล่านี้จะออกมาในเลือด และไปอยู่ที่ตับ ม้าม ต่อมน้ำเหลือง ชนิดเรื้อรังมีอาการไม่มาก อาการจะดำเนินแบบค่อยเป็นค่อยไป อาจจะเริ่มจาก 6-8 เดือน หลังจากนั้นอวัยวะต่างๆ ก็จะเริ่มเสื่อมลง และเกิดปัญหารุนแรงตามมา

มะเร็งเม็ดเลือดขาวทั้ง 2 ชนิดนี้มีความแตกต่างกัน และปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะชนิดเฉียบพลันที่ถือเป็นมะเร็งที่รุนแรงที่สุด และรักษายากที่สุดด้วย

อาการมะเร็งเม็ดเลือดขาว

สำหรับอาการมะเร็งเม็ดเลือดขาว สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่ม คือ

  1. อาการแรกที่เป็น คือ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ซีด อ่อนเพลียง่าย ซึ่งเป็นอาการทั่วไปที่สังเกตได้
  2. มีเลือดออกง่าย เพราะมะเร็งเม็ดเลือดขาวจะมีเกล็ดเลือดต่ำ จึงทำให้เลือดออกง่าย เช่น ออกตามไรฟัน มีจ้ำเขียวขึ้นบนตามตัว หรือมีประจำเดือนมากผิดปกติ
  3. มีเม็ดเลือดขาวปริมาณมากแต่ทำหน้าที่ไม่ได้ตามเท่าที่จะเป็น เฉพาะเม็ดเลือดขาวมีหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อโรค แต่เมื่อเป็นอย่างนี้ก็ต่อสู้เชื้อโรคไม่ได้ ก็มีการติดเชื้อง่ายมีไข้ มีการติดเชื้อในตำแหน่งต่างๆ
  4. เม็ดเลือดขาวไปบีบบังอวัยวะต่างๆ หรือสะสมอยู่ ก็ทำให้มีก้อนขึ้นที่ขาหนีบ ต่อมน้ำเหลือง ขา คอ หรือมีตับ ม้ามโต
ภาพจาก iStock
ภาพจาก iStock

หากพบอาการเหล่านี้ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย เพื่อแยก “มะเร็งเม็ดเลือดขาว” ทั้ง 2 ชนิดนี้ด้วยการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) ดูว่ามีเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดเป็นอย่างไร การวินิจฉัยโรคที่แน่นอนทำได้ด้วยการเจาะไขกระดูก สามารถตรวจว่าเป็นชนิดเฉียบพลันชนิดใด

วิธีรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาว

การรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวในปัจจุบันสามารถทำได้ 2 วิธี คือ การให้เคมีบำบัด และการปลูกถ่ายไขกระดูก

  1. การให้เคมีบำบัด เป็นการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวในช่วงเริ่มต้น เพื่อประคองให้โรคสงบ คือ ไม่พบเซลล์มะเร็งในเม็ดเลือดและในไขกระดูกพบเซลล์มะเร็งน้อยกว่า 5% รวมถึงการสร้างเม็ดเลือด ทั้งเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดปกติ
  2. การปลูกถ่ายไขกระดูก หลังจากให้ยาเคมีบำบัดจนโรคสงบแล้วจะเข้าสู่การรักษาด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูก ซึ่งปัจจุบันได้พัฒนาให้มีการรักษาด้วยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ จากเดิมที่ต้องใช้ไขกระดูกของพี่น้องที่มี “เอ็ชแอลเอ” (HLA) เข้ากันได้เท่านั้น ปัจจุบันสามารถใช้ของพี่น้องที่มี “เอ็ชแอลเอ” เหมือนกันครึ่งหนึ่ง หรือพ่อแม่ให้ลูก และลูกให้พ่อแม่ ทำให้มีโอกาสหายขาดเช่นเดียวกัน ส่วนคนที่ไม่มีพี่น้องสามารถหาผู้ให้จากสภากาชาดไทย ซึ่งมีการลงทะเบียนของผู้ที่ประสงค์จะบริจาคสเต็มเซลล์

...

สำหรับการป้องกันมะเร็งเม็ดเลือดขาว และมะเร็งทุกชนิดที่ดีที่สุดคือการตรวจพบและรีบรักษาในระยะเริ่มแรก เพราะร่างกายมีการตอบสนองและมีโอกาสรักษาหายมากกว่าระยะลุกลามหรือระยะสุดท้าย แต่โดยส่วนใหญ่มักพบว่ากว่าผู้ป่วยจะรู้ตัวว่าเป็นมะเร็ง อาการก็อยูในระยะลุกลามไปมากแล้ว ดังนั้นหากเราหมั่นสังเกตความผิดปกติในร่างกาย และตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อค้นหาความผิดปกติภายในร่างกาย ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้โดยที่เราไม่รู้ตัว โดยเฉพาะโรคมะเร็ง ที่ยิ่งตรวจพบเร็วก็ยิ่งรักษาได้เร็วตามไปด้วย

ข้อมูลอ้างอิง : โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่