สมองแบ่งออกได้เป็นสามส่วน สมองส่วนที่ใหญ่และเหนือที่สุด คือซีรีบรัม (cerebrum) ทำหน้าที่ในการประมวลผลและสั่งการไม่ว่าจะเป็นการขยับ การควบคุมประสาทอัตโนมัติ การตัดสินใจ ใช้เหตุผล การเรียนรู้ ไปจนถึงการได้ยิน การพูดและฟัง การมองเห็น ความรู้สึกและอารมณ์ เรียกว่าเป็นส่วนที่แยกเราออกจากสัตว์อื่นๆ

ส่วนที่สองที่อยู่ด้านล่างเป็นแนวยาวคือส่วนก้านสมอง (brainstem) ที่แบ่งย่อยไปได้อีก 3 ส่วน ประกอบไปด้วย midbrain, pons, medulla ซึ่งทำหน้าที่เชื่อมและรับส่งสัญญาณ ทั้งยังเป็นจุดที่มีการควบคุมการหายใจ และอัตราการเต้นของหัวใจ ยังเป็นจุดที่เริ่มต้นของเส้นประสาทสมอง (cranial nerve) 10 เส้นจากทั้งหมด 12 เส้นที่ออกมาจากก้านสมองโดยตรง

สุดท้ายเป็นจุดเชื่อมระหว่างสมองกับไขสันหลังไปถึงร่างกาย และซีรีเบลลัม (cerebellum) ซึ่งเป็นส่วนที่สามที่ทำหน้าที่ควบคุมการทรงตัวและจังหวะการเคลื่อนไหว

วันนี้จะลงลึกที่เส้นประสาทสมองคู่ที่ 10 ที่ชื่อว่าเวกัส (vagus nerve) ซึ่งเป็นเส้นที่ยาวที่สุดในทั้งหมด 12 เส้น นอกจากนั้นยังเป็นเส้นที่สำคัญที่สุดของระบบประสาทอัตโนมัติ พาราซิมพาเทติก (parasympathetic) หรือระบบประสาทในสภาวะพักอีกด้วย

...

เส้นประสาทเวกัสมีจุดกำเนิดที่บริเวณส่วน medulla ซึ่งเป็นส่วนล่างสุดที่ต่อกับไขสันหลัง และวิ่งออกมากับเส้นเลือดใหญ่ในคอ ระหว่างทางจะมีการแยกออกมาเป็นเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อบริเวณคอและปาก รวมถึงกล่องเสียง และกล้ามเนื้อที่รับผิดชอบการกลืน และการรับความรู้สึกเช่นจากหลังคออีกด้วย นอกจากการเลี้ยงในบริเวณที่วิ่งผ่านแล้วมันยังมีประสาทอัตโนมัติ พาราซิมพาเทติกที่ต่อยาวลงมาถึงหัวใจ รับผิดชอบในการคุมการเต้นหัวใจ การกระตุ้นนั้นจะทำให้การเต้นหัวใจช้าลง

อีกแขนงหนึ่งต่อไปที่หลอดลม และเมื่อกระตุ้นทำให้หลอดลมตีบลง แขนงต่อมาไปที่หลอดอาหารควบคุมการขยับและการเปิดของหูรูดกระเพาะอาหาร แขนงสุดท้ายไปที่กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก และครึ่งแรกของลำไส้ใหญ่ เพื่อเพิ่มการขยับและหลั่งน้ำย่อย และลงไปยังตับอ่อน เพื่อกระตุ้นการหลั่งของอินซูลิน ต่อมหมวกไตเพื่อลดการหลั่งของสารกระตุ้นร่างกาย ม้ามเพื่อลดการหลั่งของสารอักเสบ นับว่าเป็นเส้นประสาทคู่เดียวที่มีความสำคัญมากๆ

แต่เชื่อหรือไม่ว่าสมัยโบราณ แค่เป็นโรคแผลในกระเพาะอาหารก็อาจจะได้รับการผ่าเพื่อตัดเส้นประสาทเส้นนี้ จะได้ไม่ไปกระตุ้นการหลั่งกรด แต่เมื่อยามีประสิทธิภาพมากขึ้น ร่วมกับบางครั้งการกำจัดเชื้อแบคทีเรีย เฮลิโคแบคเตอร์ไพโลไร (Helicobacter pylori) สามารถรักษาโรคนี้ได้แล้วจึงไม่มีความจำเป็น เพราะการผ่าตัดย่อมมีความเสี่ยง และการที่ไม่มีกรดทำให้การดูดซึมสารอาหารได้ไม่ดี เช่น วิตามิน บี 12 เป็นต้น ที่น่าสนใจการศึกษาในคนที่ได้รับการตัดเส้นประสาทเส้นนี้พบว่าไม่เป็นโรคพาร์กินสันเลย จึงเป็นหนึ่งในที่มาของเรื่องการติดต่อสื่อสารกันระหว่างสมองและลำไส้ (gut-brain axis) และทฤษฎีว่าสารบางอย่างที่ไม่ดีต่อสมองอาจจะถูกส่งจากกระเพาะ ลำไส้ ขึ้นไปสู่สมอง ผ่านเส้นประสาทคู่นี้ก็เป็นได้

มาถึงอาการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเส้นประสาทเวกัส หลายๆคนน่าจะเคยมีอาการนี้แน่ๆ กล่าวคือ อาการวูบหรือเป็นลม (vasovagal syncope) ซึ่งเกิดได้จากการกระตุ้นหลายอย่าง เช่น ความเจ็บปวด เห็นเลือด หรือมีอะไรมากระทบกับอารมณ์รุนแรง อาจจะร่วมกับการขาดสารน้ำทำให้เกิดอาการนี้ได้ง่ายขึ้น

สันนิษฐานว่าเป็นจากที่ร่างกายกระตุ้นหัวใจให้บีบแต่พอมีเลือดในหัวใจไม่พอจึงเกิดการกระตุ้นประสาทอัตโนมัติ พาราซิมพาเทติก ซึ่งเลี้ยงผ่านเวกัส ทำให้หัวใจเต้นช้าลง แต่การกระตุ้นมากเกินไป ทำให้หัวใจเต้นช้าเกินไป ความดันจึงตกและขาดเลือดไปเลี้ยงสมอง เป็นสาเหตุทำให้วูบนั่นเอง การรักษาเป็นลักษณะประคับประคองและหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น แต่อย่างไรก็ตาม ประวัติก็สำคัญเนื่องจากอาจจะมีรายละเอียดปลีกย่อย เช่น ก่อนวูบทำอะไร มีอาการอะไร ระหว่างหมดสติและหลังวูบ แต่ละส่วนลักษณะและระยะเวลานานแค่ไหน เนื่องจากจำเป็นต้องแยกจากสาเหตุอื่นเช่น อาการชักหรือหัวใจ เช่น ลิ้นหัวใจตีบ หรือระบบไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ

ต่อมาเป็นภาวะกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กบีบตัวช้า โดยจะมีอาการ เช่น อิ่มเร็ว คลื่นไส้ แสบร้อนกลางอก หรือท้องอืด และเกิดได้จากหลายสาเหตุ

...

สาเหตุที่น่าจะพบบ่อยที่สุดคือการใช้ยาที่กระทบต่อการส่งสัญญาณในกลุ่ม แอนตี้มัสคารินิก (Antimuscarinic) เช่น ยาแก้แพ้ หรือยาลดเกร็งสั่นบางชนิด ต่อมาคือการบาดเจ็บต่อเส้นประสาท เช่น หลังการผ่าตัดคอ กระเพาะอาหารหรือตับอ่อน หรือต้นทางเช่นการผ่าตัดบริเวณกระดูกคอ หรือโรคปลอกประสาทอักเสบ ในบางครั้ง ตัวโรคเช่น พาร์กินสัน และเบาหวานก็กระทบต่อเส้นประสาทได้เหมือนกัน

ที่นึกไม่ถึงเลยคือ เรื่องสุขภาพจิต ในภาวะซึมเศร้ารุนแรง (Major Depression) หรือภาวะผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ (Post-traumatic Stress Disorder) จะกระตุ้นต่อมใต้สมองและกระตุ้น Hypothalamic pituitary adrenal (HPA) axis และกระตุ้นการสร้างฮอร์โมน cortisol ซึ่งส่งผลให้ร่างกายอยู่ในความตื่นตัว แต่ความตื่นตัวที่มากและนานเกินไปกลับเป็นผลเสียต่อสมดุลของสมองและลดระดับเซโรโทนิน (Serotonin) ลงทำให้โอกาสดีขึ้นจากโรคซึมเศร้านั้นน้อยลง

ฉะนั้น การปรับเปลี่ยนหรือกระตุ้นเส้นประสาทเวกัสจึงอาจจะมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงหรือช่วยรักษาอาการของโรคเหล่านี้ได้ โดยมีเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าที่ฝังอยู่ใกล้เส้นประสาทเส้นที่สิบ โดยได้รับการยอมรับในการรักษาโรคซึมเศร้ารุนแรงที่ไม่ตอบสนองต่อยาต้านซึมเศร้า เพื่อปรับสมดุลของ HPA axis และยังนำมาใช้ในโรคลมชักที่ไม่ตอบสนองต่อยา แต่กลไกนั้นยังไม่ทราบชัดเจน แต่คาดว่าอาจจะเป็นการเพิ่มเลือดไหลเวียนไปยังสมอง หรือเพิ่มสารสื่อประสาทบางตัวที่ลดการเกิดการชัก นอกจากนั้นอาจจะใช้ในโรคปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ได้อีกด้วย นอกจากการใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าแล้ว การกดบริเวณคอในส่วนเส้นเลือดใหญ่คาโรติด (carotid sinus massage) ยังเป็นวิธีนึงในการรักษาหัวใจเต้นพลิ้วอีกด้วย ขณะนี้ยังมีการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ว่าจริงๆจะมีการใช้การกระตุ้นนี้ในโรคอื่นๆได้อีกหรือไม่ และผลกระทบต่อการอักเสบในร่างกายรวมถึงการปรับเปลี่ยนของสารสื่อประสาทในการใช้อุปกรณ์เหล่านี้ว่ามีผลอย่างไร เป็นจุดเล็กๆจุดหนึ่งที่นับว่าน่าสนใจทีเดียว

...

รวบรวมและเรียบเรียงโดยนพภาสิน เหมะจุฑา BSc (King’s College London), MBBS Medicine (Barts and the London), ผู้เชี่ยวชาญสาขาประสาทวิทยา คณะแพทยศาสตร์จุฬาฯ.

หมอดื้อ

คลิกอ่านคอลัมน์ “สุขภาพหรรษา” เพิ่มเติม