มะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตลำดับต้นๆของคนไทย และส่วนใหญ่มักมาพบแพทย์เมื่อระยะของโรคลุกลามเข้าขั้นร้ายแรงแล้ว

เมื่อเร็วๆนี้ ศูนย์มะเร็ง ภายใต้กลุ่มศูนย์เพื่อความเป็นเลิศ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี จัดงานแถลงข่าว “ธนาคารชีวภาพสำหรับโรคมะเร็งรามาธิบดี (Ramathibodi Tumor Biobank) ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 20387 : 2018 ด้านธนาคารชีวภาพเป็นแห่งแรกในประเทศไทย โดย ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อาทิตย์ อังกานนท์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รามาธิบดี ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดีเป็นจำนวนมากกว่า 4,800 รายต่อปี ซึ่งการรักษาโรคมะเร็งจัดอยู่ในกลุ่มโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง รวมทั้งแนวทางการรักษาโรคมะเร็งแบบการแพทย์แม่นยำจำเป็นต้องใช้หลักฐานทางการแพทย์ที่ได้จากการศึกษาวิจัยในห้องปฏิบัติการและในระดับคลินิก ที่ใช้เงินงบประมาณในการวิจัยสูง ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งสูงขึ้น

“คณะแพทยศาสตร์ รามาธิบดี ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก จึงได้จัดตั้งธนาคารชีวภาพสำหรับโรคมะเร็งรามาธิบดีขึ้น เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมตัวอย่างทางคลินิกของผู้ป่วยที่เหลือจากขั้นตอนการวินิจฉัยและรักษามะเร็งไว้ใช้ทำวิจัยในระยะยาว ทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดการจัดระเบียบการเก็บตัวอย่างทางคลินิกและข้อมูลชีวภาพของผู้ป่วยมะเร็งอย่างมีระบบ มีประสิทธิภาพ” ศ.คลินิก นพ.อาทิตย์ ให้ข้อมูลพร้อมกับอธิบายเพิ่มเติมว่า การมีธนาคารชีวภาพสำหรับโรคมะเร็งครั้งนี้ยังช่วยสนับสนุนให้เกิดการศึกษาวิจัยเชิงลึกทางพยาธิโมเลกุลโรคมะเร็งแบบสหสาขา ร่วมกับการวิเคราะห์ข้อมูลทางคลินิกที่ได้จากทะเบียนมะเร็งรามาธิบดี ซึ่งผลการวิจัยเหล่านี้จะส่งผลให้เกิดการพัฒนารูปแบบการวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งแบบใหม่ในประเทศไทยได้ในอนาคต และว่าการที่ธนาคารชีวภาพสำหรับโรคมะเร็งรามาธิบดีได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 20387 : 2018 ด้านธนาคารชีวภาพเป็นแห่งแรกในประเทศไทย ถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญที่จะช่วยให้เกิดการพัฒนาและต่อยอดการดำเนินการในอนาคตได้เป็นอย่างดี

...

ด้าน นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยา ศาสตร์การแพทย์ บอกว่า การรับรองมาตรฐาน ISO ในครั้งนี้เป็นการรับรองมาตรฐาน ISO ที่เกี่ยวข้องกับธนาคารชีวภาพ คือ ISO 20387 ซึ่งว่าด้วยมาตรฐานระบบบริหารคุณภาพและการจัดเก็บตัวอย่างและข้อมูลทางชีวภาพที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีข้อกำหนดทั่วไปหลายประการ ครอบคลุมขั้นตอนต่างๆ รวมถึงข้อกำหนดในการปกป้องข้อมูลที่เป็นความลับและการรักษาความเป็นกลางของธนาคารชีวภาพเพื่อจัดการกับทรัพยากรชีวภาพแต่ละประเภท ซึ่งรับรองโดยหน่วยงานสำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ (สมป.กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์) อ้างอิงจากมาตรฐานของ Asia Pacific Accre ditation Cooperation (APAC) ในประเทศไทย

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กล่าวว่า ปัจจุบันมีความตื่นตัวในการริเริ่มจัดตั้งธนาคารชีวภาพเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชน ในด้านการแข่งขันและการเปรียบเทียบการบริการ นอกเหนือจากคุณภาพสิ่งจัดเก็บ วิธีการเก็บรักษา การประกันคุณภาพ มีการตรวจสอบย้อนกลับ และการจัดจำหน่ายตัวอย่าง

“การได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 20387 เป็นตัวบ่งชี้ศักยภาพของ biobank ที่ง่ายและชัดเจนต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงผู้บริจาค ผู้ใช้บริการ และนักลงทุน ถึงความสามารถและความน่าเชื่อถือ เพิ่มความมั่นใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อความสามารถของธนาคารชีวภาพในการให้บริการที่ได้มาตรฐานอย่างสม่ำเสมอ” นพ.ยงยศระบุ

...

ขณะที่ รศ.นพ.เอกภพ สิระชัยนันท์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ รามาธิบดี กล่าวถึงการดำเนิน งานของศูนย์ว่า ศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคมะเร็ง (Ramathi bodi Comprehen sive Cancer Center) ได้ดำเนินการจัดระบบการ บริหารจัดการในการดำเนินการตรวจดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งแบบครบวงจร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง ตลอดจนเพิ่มงานวิจัยและสร้างนวัตกรรมที่มีคุณภาพ ส่งเสริมให้มีการพัฒนาวิธีการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคมะเร็ง ในระดับสากล สามารถจดสิทธิบัตรได้ นอกจากนี้ยังให้บริการวิจัยเชิงลึก โดยมีธนาคารชีวภาพสำหรับโรคมะเร็งแบบครบวงจร ซึ่งธนาคารชีวภาพสำหรับโรคมะเร็งรามาธิบดีได้เริ่มดำเนินการเก็บรวบรวมตัวอย่างชิ้นเนื้อมะเร็ง ชิ้นเนื้อปกติ องค์ประกอบของเลือด และสารคัดหลั่งต่างๆ เช่น เซรั่ม พลาสม่า ที่เหลือจากการวินิจฉัยรักษาผู้ป่วยมะเร็งมาเก็บรักษาแบบแช่แข็งตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 รวมจำนวนตัวอย่างทางคลินิกที่จัดเก็บไว้ในปัจจุบันมากกว่า 40,000 ตัวอย่าง จากผู้ป่วยมะเร็งกว่า 4,000 รายที่ยินยอมเข้าร่วมโครงการ

ต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับการเปิดให้บริการของธนาคารชีวภาพสำหรับโรคมะเร็งรามาธิบดี (Ramathibodi Tumor Biobank) สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร.0-2201-2682, 0-2201-0049 หรือเข้าชมข้อมูลการดำเนินงานได้ทางเว็บไซต์ https://www.rama. mahidol.ac.th/cancer_ center/th/tumor_ biobank นอกจากนี้ท่านสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนเพื่อพัฒนาการวินิจฉัยและรักษาโรคมะเร็ง ต่อยอดระบบสุขภาพของประเทศไทยด้วยการร่วมบริจาคสมทบทุนมูลนิธิรามาธิบดี ผ่านกองทุน : ศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคมะเร็ง เพื่อการพัฒนา การวินิจฉัยและการรักษาโรคมะเร็ง มูลนิธิรามาธิบดี.

...

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่