ครอบครัวเป็นหน่วยของสังคมที่เล็กที่สุด และเป็นจุดเริ่มต้นที่จะส่งเสริมให้ทุกชีวิตดำเนินอยู่ได้อย่างสมบูรณ์ ไม่ว่าจะทั้งมนุษย์และสัตว์ในหลากหลายสายพันธุ์ก็ตาม การมีบุตรเป็นสิ่งที่สำคัญและเสริมสร้างครอบครัวให้มีขนาดใหญ่ขึ้น มีพัฒนาการไปในทิศทางที่ดีขึ้นในหลายๆ ด้าน แต่กระนั้นเลยในประเทศไทยของเรา การมีบุตรยังคงสงวนไว้ให้กับบุคคลบางกลุ่มเท่านั้น

แนวคิดเรื่องความหลากหลายทางเพศเป็นสิ่งที่เปิดกว้างและถูกผลักดันอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงเวลาของการทบทวนสิทธิมนุษยชน การรับรู้ถึงการมีอยู่ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศมีความแพร่หลายมากขึ้น ได้รับการยอมรับและถูกทำความเข้าใจมากขึ้นผ่านการศึกษาในหลากหลายมิติ แต่สิ่งที่เป็นผลพวงต่อมาคือการพบเจอกันในสังคมของผู้มีความหลากหลายทางเพศ และเกิดความสัมพันธ์อันดีในกลุ่มเฉพาะของเขา ก่อร่างสร้างตัวเป็นครอบครัวใหม่ขนาดเล็กๆ ที่ไม่ได้อนุญาตให้สมบูรณ์แบบเท่าที่ควร

ในหลายครอบครัวผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศอาจจะไม่ได้มีความประสงค์ที่จะมีบุตร แต่จำนวนไม่น้อยเลยที่สนใจเรื่องเหล่านี้ การจะขอมีบุตรจากครอบครัวผู้มีความหลากหลายทางเพศถูกกดทับด้วยคำถามที่ว่า บุตรที่เกิดมาเขาอยากเกิดมาในครอบครัวผู้มีความหลากหลายทางเพศหรือไม่ หรือแท้จริงแล้ว เด็กที่เกิดมาก็ไม่มีโอกาสเลือกใดๆ มาก่อนเช่นกัน

...

ความต้องการที่จะมีบุตรยังเป็นเอกสิทธิ์ของผู้ที่มีความสามารถในการจดทะเบียนสมรสได้เท่านั้น กล่าวคือถ้าเขาเป็นบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศแต่สามารถมีเอกสารทางราชการบางอย่างที่บ่งบอกถึงความสัมพันธ์ที่จะสามารถทำให้เชื่อได้อย่างผิวเผินว่าสามารถดูแลบุตรที่เกิดมาได้ เขาเหล่านั้นจะมีโอกาสมีบุตรได้ทั้งทางธรรมชาติและด้วยเทคโนโลยีเพื่อการมีบุตรยาก

การผลักดันเรื่องของการตั้งครรภ์แทน หรือ “การอุ้มบุญ” ไม่ใช่การส่งเสริมการค้าหรือการเช่าในพื้นที่มดลูกเพียงเท่านั้น แต่นี่ยังเป็นอีกวิธีหนึ่งที่เป็นทางออกที่จะทำให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศสามารถมีบุตรได้ หากแต่มายาคติบางอย่างยังคงปิดกั้นให้หนทางนี้มีขีดจำกัดอย่างมาก แทนที่จะใช้เวลาและความรู้ที่มีศึกษาหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทุกชีวิตในอนาคต

ขอบคุณข้อมูล : นพ.สุชาครีย์ วัฒนวิกย์กิจ นักเพศวิทยาคลินิก และแพทย์เฉพาะทางผู้ดูแลด้านเวชศาสตร์ทางเพศ คลินิกเติมรัก Love Space โรงพยาบาลพญาไท พหลโยธิน