การรักษาโรคมะเร็งศีรษะและลำคอสามารถทำได้หลายวิธี ได้แก่ การผ่าตัด การฉายรังสี และการให้ยาเคมีบำบัด

เป้าหมายของการรักษา

การให้ยาเคมีบำบัดร่วมกับการฉายรังสี มีเป้าหมายเพื่อรักษาให้หายขาดในกรณีที่มะเร็งยังไม่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ยังคงอยู่บริเวณศีรษะและลำคอเท่านั้น แต่หากมะเร็งกระจายไปยังอวัยวะอื่นแล้ว (ระยะแพร่กระจาย) แม้จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การให้ยาเคมีบำบัด และยากลุ่มอื่นๆ เช่น ยามุ่งเป้า และยากระตุ้นภูมิคุ้มกันบำบัด สามารถช่วยควบคุมโรคและทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ใกล้เคียงกับปกติ

ระยะเวลาในการรักษา

การรักษาโรคมะเร็งศีรษะและลำคอด้วยการให้ยาเคมีบำบัดจะควบคู่ไปกับการฉายรังสี โดยปกติการฉายรังสีจะดำเนินการฉายทุกวัน ตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ (เว้นเสาร์-อาทิตย์) เป็นระยะเวลาประมาณ 7 สัปดาห์ (รายละเอียด ปรึกษาแพทย์รังสีรักษา) ส่วนการให้ยาเคมีบำบัดจะให้ยาปริมาณน้อย เพื่อช่วยกระตุ้นให้การฉายแสงมีประสิทธิภาพมากขึ้น การให้ยานี้ไม่ทำให้ผมร่วง และผลข้างเคียงไม่มากเท่าการให้ยาเคมีบำบัดเพียงอย่างเดียว

ตารางการให้ยา

แพทย์จะจัดตารางการให้ยาเคมีบำบัดในช่วงเวลาเดียวกับที่ผู้ป่วยมารับการฉายรังสี โดยให้ยาสัปดาห์ละครั้ง หรือ 3 สัปดาห์ครั้ง โดยจะมีการให้ยาแก้แพ้ แก้คลื่นไส้อาเจียนก่อน จากนั้นจึงเริ่มให้ยาเคมีบำบัดทางหลอดเลือดดำ (คล้ายกับการให้น้ำเกลือ) ประมาณ 4-6 ชั่วโมงต่อครั้ง เช่น ฉายรังสีตอนเช้าและให้ยาเคมีบำบัดตอนบ่าย ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ในวันเดียวกัน และมาฉายรังสีใหม่ในวันถัดไป และนัดมาให้ยาเคมีบำบัดครั้งถัดไปในสัปดาห์หน้า ตารางการให้ยาจะดำเนินไปจนกว่าจะครบตามกำหนด

...

การเตรียมตัวก่อนเข้ารับยาเคมีบำบัด

ผู้ป่วยต้องรักษาระดับน้ำหนักตัวให้เป็นปกติ ไม่ควรให้น้ำหนักลด เพราะจะทำให้การให้ยาเคมีบำบัดร่วมกับการฉายแสงมีผลข้างเคียงมากขึ้น ระหว่างที่ฉายรังสีผู้ป่วยอาจมีปัญหาในการรับประทานอาหาร เนื่องจากการรับรสอาหารที่ไม่อร่อยและความเจ็บในการกลืนอาหาร ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้สารอาหารทางการแพทย์เพื่อรักษาระดับน้ำหนักตัว

ยาอื่นๆ ที่ใช้รักษาโรคมะเร็ง

1. ยามุ่งเป้า: ใช้รักษากรณีที่มะเร็งยังไม่มีการกระจาย ทดแทนการให้ยาเคมีบำบัด แต่ผลจากการวิจัยพบว่ามีประสิทธิภาพน้อยกว่าการให้ยาเคมีบำบัดและมีราคาสูง อีกทั้งยังมีผลข้างเคียงต่อคนไข้ไม่ต่างจากการให้ยาเคมีบำบัด

2. ยากระตุ้นภูมิคุ้มกันบำบัด: กระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกายเพื่อต่อสู้กับมะเร็ง ยากระตุ้นภูมิจึงไม่ได้เหมาะกับคนไข้ทุกราย เนื่องจากร่างกายคนเราไม่เหมือนกัน ควรมีการตรวจชิ้นเนื้อมะเร็งเพื่อประเมินความเข้ากันได้ของยากับคนไข้ก่อน ในปัจจุบันการรักษาโรคมะเร็งศีรษะและลำคอด้วยยากระตุ้นภูมิจะใช้รักษาในกรณีที่ตัวโรคมีการกระจายไปอวัยวะอื่นแล้ว ยังไม่มีข้อบ่งชี้ของการใช้ยากระตุ้นภูมิในมะเร็งศีรษะและลำคอในระยะลุกลามแต่ยังไม่แพร่กระจาย หรือร่วมกับการฉายแสง

ในอนาคตก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า จะมียาอะไรใหม่ๆ ที่ผลิตออกมาเพื่อใช้รักษาโรคมะเร็งศีรษะและลำคอกันต่อไป

@@@@@@

แหล่งข้อมูล
รศ.นพ.ณัฐพงศ์ งามไพบูลย์ สาขาวิชามะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล