ขึ้นชื่อว่าความงามแล้ว ไม่มีสาวคนไหนไม่อยากได้ หรือไม่อยากมี อยากเป็น เป็นแน่ และหัตถการความงามที่ดูเหมือนจะเป็นที่นิยมมากที่สุด เห็นจะเป็นการฉีดโบทอกซ์ (Botox) ซึ่งถือว่าเป็นธุรกิจที่ทำเงินมหาศาลในช่วงระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา

“โบทอกซ์” (Botox) คือวิธีรักษาทางการแพทย์อย่างหนึ่ง นิยมทำกันทั่วไปเพื่อเสริมความงาม รวมทั้งทำให้ริ้วรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้าลบเลือนหายไป ที่ถือว่ามีความปลอดภัยสูง แต่ไม่นานมานี้มีรายงานว่าอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงถาวรที่ไม่พึงประสงค์ขึ้นได้ หากใช้ติดต่อกันในระยะยาว

ที่ผ่านมารายงานเกี่ยวกับผลข้างเคียงของโบทอกซ์นั้น พบเพียงผลข้างเคียงเล็กน้อยที่เกิดขึ้นชั่วคราวในระยะสั้น ซึ่งก็คืออาการเจ็บปวด บวม หรือฟกช้ำนิดหน่อยตรงบริเวณที่ฉีดโบทอกซ์ บางคนอาจปวดศีรษะหรือมีอาการเหมือนไข้หวัดใน 24 ชั่วโมงแรกหลังการฉีด แต่บางครั้งก็พบว่าผู้ที่ได้รับการฉีดโบทอกซ์บางรายมีอาการกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรง หน้าเบี้ยว มุมปากและหางตาตกได้

แต่เมื่อไม่นานมานี้ โดยศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งสหรัฐฯ (CDC) แจ้งเตือนว่ามีผู้หญิงวัย 25-59 ปี จำนวน 22 คน เกิดปฏิกิริยาตอบสนองต่อโบทอกซ์ในขั้นที่เป็นอันตรายร้ายแรง เนื่องจากได้รับผลิตภัณฑ์โบทอกซ์ปลอมหรือมีการใช้อย่างผิดวิธี 11 คนในจำนวนนี้ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และมีอยู่ 6 คนที่ต้องรับยาต้านพิษ เพราะแพทย์เกรงว่าจะเกิดภาวะโบทูลิซึม (Botulism) ซึ่งพิษจะแพร่กระจายออกจากบริเวณที่ฉีด จนอาจเกิดอันตรายได้

...

ปี 2023 มีผู้ป่วยภาวะโบทูลิซึม 67 ราย ที่พบในสหราชอาณาจักร ล้วนได้รับการฉีดโบทอกซ์เพื่อลดความอ้วนจากโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในเมืองอิซมีร์ ประเทศตุรกี แอช โมซาเฮบี ศาสตราจารย์ด้านศัลยกรรมพลาสติก จากมหาวิทยาลัยยูนิเวอร์ซิตี คอลเลจ ลอนดอน (UCL) บอกว่า หากพิษโบทูลินัมถูกผลิตขึ้นอย่างเหมาะสม หรือเป็นยี่ห้อที่ดีเชื่อถือได้ ความแรงของพิษจะอยู่ในระดับที่ไม่รุนแรง แม้จะแพร่กระจายเกินขอบเขตออกไปนิดหน่อย ก็จะไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรงขนาดนั้น เพราะโดยปกติแล้วการฉีดโบทอกซ์จะใช้โดสที่ต่ำมาก ซึ่งสารพิษในปริมาณขนาดนั้นไม่อาจทำให้เกิดภาวะโบทูลิซึมกับคนทั่วไปได้ ปัญหาที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นการได้รับโบทอกซ์ปลอมที่ลักลอบซื้อขายกันหมุนเวียนอยู่ในท้องตลาด

ซึ่งจริงๆแล้ว จะว่าไป โบทอกซ์ก็จัดว่าเป็นสารอันตรายชนิดหนึ่งอยู่แล้ว โดยผลิตจากโบทูลินัม นิวโรท็อกซิน (botulinum neurotoxin) หรือพิษโบทูลินัมที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท เป็นสารพิษที่ร้ายแรงถึงชีวิต ซึ่งแบคทีเรีย Clostridium botulinum ที่อยู่ในสารพิษชนิดนี้สามารถเข้าไปในเซลล์ประสาท มีหน้าที่ทำให้กล้ามเนื้อหดตัว พิษโบทูลินัมจึงทำให้กล้ามเนื้อกลายเป็นอัมพาต โดยพิษชนิดรุนแรงมากที่สุดคือพิษประเภท A ซึ่งมีฤทธิ์ร้ายยิ่งกว่าพิษงูเห่าถึงล้านเท่า และเป็นโบทอกซ์ที่ฉีดให้คนทั่วไป แต่มีความบริสุทธิ์สูงและเจือจางลงมากแล้ว

ผลการศึกษาหนึ่งที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2020 ระบุว่า ได้ประเมินทบทวนความปลอดภัยของการฉีดโบทอกซ์เพื่อความงาม แล้วสรุปว่าการเกิดผลข้างเคียงรุนแรงแบบที่พบในกรณีรายงานของ CDC นั้น เกิดขึ้นได้ยากมาก ตัวอย่างเช่นระหว่างปี 2002-2003 FDA รายงานผลข้างเคียงรุนแรงจากการใช้โบทอกซ์เพื่อความงามเพียง 36 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาการกลืนลำบาก อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงต่อสุขภาพจะเพิ่มขึ้นอีก 33 เท่า หากเป็นการใช้โบทอกซ์เพื่อบำบัดรักษาโรคอื่นๆ อย่างเช่นปวดศีรษะไมเกรน, กล้ามเนื้อคอหดเกร็ง, เหงื่อออกมากผิดปกติ, กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน ฯลฯ งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในปี 2023 ของ ศ.โมซาเฮบี และคณะนักวิจัยจาก UCL ชี้ว่า 69% ของผู้ตอบแบบสำรวจระบุว่าตนเองได้รับผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์ในระยะยาวจากการฉีดโบทอกซ์ เช่นมีอาการปวดกล้ามเนื้อ วิตกกังวล และปวดศีรษะ นอกจากนี้ยังมีรายงานผลกระทบทางจิตใจและอารมณ์ที่ร้ายแรงเมื่อมีการฉีดโบทอกซ์ผิดพลาดด้วย

อย่างไรก็ตาม ยังไม่ค่อยมีรายงานถึงผลกระทบระยะยาวจากการฉีดโบทอกซ์ เนื่องจากการทดลองระดับคลินิกส่วนใหญ่ติดตามอาการของคนไข้หลังการฉีดเพียงไม่เกิน 6 เดือนเท่านั้น มีเพียงงานศึกษาวิจัยบางชิ้นพบผลข้างเคียงจากการฉีดโบทอกซ์เพื่อความงามติดต่อกันเป็นเวลานาน ว่าอาจทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงถาวรในการแสดงสีหน้าได้ เนื่องจากไม่สามารถขยับเขยื้อนกล้ามเนื้อบนใบหน้าได้อีกต่อไป นอกจากนี้ อาจเป็นไปได้ว่าพิษโบทอกซ์อาจแพร่กระจายออกจากปลายประสาทบริเวณที่ติดกับกล้ามเนื้อ และเดินทางไปทั่วระบบประสาทส่วนกลางได้ นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ของออสเตรเลียได้เคยทำการทดลองในปี 2015 พบว่าโมเลกุลของพิษโบทูลินัมสามารถจะเดินทางด้วยความเร็วสูงไปตามแนวเซลล์ประสาทของหนูทดลองได้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้เชื่อกันว่าโมเลกุลของพิษดังกล่าวจะถูกกักเก็บไว้ที่ถุงปลายเซลล์ประสาท ก่อนจะสลายตัวไปในที่สุด

...

ทั้งนี้ การฉีดโบทอกซ์ควรเป็นการฉีดจากบุคลากรทางการแพทย์ที่มีใบอนุญาต และผ่านการฝึกฝนอบรมมาอย่างถูกต้อง รวมทั้งต้องฉีดภายในสถานพยาบาลเท่านั้น.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สมาร์ทไลฟ์” เพิ่มเติม