“โรคมะเร็งศีรษะและลำคอ” เป็นโรคมะเร็งที่อยู่ในบริเวณพื้นที่แคบ และประกอบด้วยหลากหลายอวัยวะ เริ่มตั้งแต่ บริเวณโพรงจมูก หลังโพรงจมูก ช่องปาก หลังช่องปาก และบริเวณคอหอย ซึ่งมะเร็งแต่ละที่ก็มีแนวทางการรักษาที่แตกต่างออกไป การรักษาหลักของโรคมะเร็งศีรษะและลำคอ ประกอบด้วย การผ่าตัด การฉายรังสี และการให้ยาเคมีบำบัด รวมทั้งในปัจจุบันก็มีข้อมูลยาใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นยามุ่งเป้า หรือภูมิคุ้มกันบำบัด แต่ในบทความนี้จะกล่าวถึงเฉพาะ “การรักษาด้วยการฉายรังสีแบบสงวนอวัยวะ” เท่านั้น

และหลังจากที่มีการฉายรังสีแล้ว คนไข้อาจจะมีฟันผุ ฟันเสียมากขึ้น โดยมักมีสาเหตุมาจากน้ำลายลดลง และการกินอาหารลดลงจากการฉายรังสี เรื่องของโภชนาการจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ ในคนไข้มะเร็งศีรษะและลำคอ จะมีอะไรบ้าง

การกินอาหารในช่วงที่ฉายรังสี

1. คนไข้สามารถกินอาหารได้ทุกอย่าง โดยเน้นโปรตีน เนื้อ นม ไข่ ยกเว้นคนไข้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น ไต เบาหวาน ไขมัน ซึ่งต้องควบคุมอาหารเป็นพิเศษ

2. กินอาหารที่สุก สะอาด เพื่อป้องกันการท้องเสีย เพราะในระหว่างการฉายรังสี คนไข้อาจจะท้องเสียได้ง่ายกว่าปกติ

3. หลีกเลี่ยงการดื่มเหล้า การสูบบุหรี่ ซึ่งหนึ่งในนี้เป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็ง และการกินอาหารที่แปลกเกินไป เช่น สมุนไพรที่ไม่ทราบที่มาที่ไป เนื่องจากอาจส่งผลให้เกิดอาการไตวายได้

การฉายรังสี แบ่งออกเป็น 4 ช่วง ดังนี้

ช่วงแรก จะเป็นการจำลองการฉายรังสี คนไข้ที่ต้องได้รับการฉายรังสีบริเวณหู คอ จมูก ทุกคนจะมีการทำหน้ากากฉายรังสี ซึ่งจะเปลี่ยนรูปไปตามรูปใบหน้า หูและศีรษะของคนไข้ โดยผู้ป่วยจะต้องใส่หน้ากากนี้ทุกครั้งที่มีการฉายรังสี เพื่อให้ตำแหน่งอยู่นิ่งที่สุดเท่าที่จะทำได้ และมีการถ่ายภาพทางรังสีอีกครั้ง เพื่อใช้ในการวางแผนว่ารังสีควรจะเข้าจากทิศไหน และมีการปรับลักษณะของรังสีอย่างไร เพื่อให้บริเวณที่มีมะเร็งได้รับปริมาณรังสีที่เหมาะสม และให้อวัยวะข้างเคียงได้รับปริมาณรังสีน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

...

หลังจากนั้นก็จะมีการทำเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เพื่อให้เห็นขอบเขตของมะเร็งที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น และนำมาใช้การวางแผนเพื่อให้การฉายรังสีแม่นยำมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ในคนไข้บางรายอาจจะได้รับการทำ PET CT ซึ่งเป็นการเอกซเรย์ที่ใช้สารรังสีแบบพิเศษ ทำให้มองเห็นรอยโรคในตำแหน่งที่มองเห็นยากให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น และยังสามารถประเมินการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นได้เพิ่มเติม

ช่วงที่ 2 คือ การวางแผนขั้นตอนการรักษา ใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ โดยในปัจจุบันผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและลำคอจะมีการวางแผนการรักษาด้วยเทคนิคที่เรียกว่า การฉายรังสีแบบปรับความเข้ม ซึ่งทำให้สามารถควบคุมปริมาณการฉายรังสีให้ดีมากขึ้น ควบคุมปริมาณรังสีให้อยู่ตรงเฉพาะตัวก้อนมะเร็งเป็นหลัก

ช่วงที่ 3 การฉายรังสีจริง โดยการฉายรังสีนั้นเป็นการรักษาแบบเฉพาะที่ ซึ่งผลข้างเคียงจะขึ้นอยู่กับว่า ฉายรังสีตรงบริเวณไหน การคุมน้ำหนักให้คงที่มีความสำคัญมากที่สุด เพราะในระหว่างการรักษาด้วยการฉายรังสี ร่างกายต้องการโปรตีนและสารอาหารต่างๆ เพื่อซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ และฟื้นฟูร่างกายให้เป็นปกติมากที่สุด เนื่องจากผลข้างเคียงของการฉายรังสีมักจะทำให้คนไข้จะกินอาหารได้น้อยลง โดยในช่วงแรกคนไข้จะเบื่ออาหารมากขึ้น ต่อมาจะรับรสอาหารได้ลดลง ไม่อร่อยเหมือนเดิม ซึ่งจะส่งผลถึงความอยากอาหารของผู้ป่วย ช่วงสัปดาห์ที่ 3-4 น้ำลายจะลดลง ถ้าเป็นคนไข้ที่มีการฉายรังสีบริเวณต่อมน้ำลาย รวมทั้งมีอาการเจ็บปากร่วมด้วย

สัปดาห์ที่ 5-6 ซึ่งเป็นครึ่งหลังของการฉายรังสี ก็จะเริ่มมีอาการอ่อนเพลีย เจ็บปาก เจ็บคอมากขึ้น ผิวหนังบริเวณที่คอที่ฉายรังสีจะคล้ำมากขึ้น ผลข้างเคียงเหล่านี้จะน้อยลง ถ้าคนไข้กินอาหารได้ดี กินโปรตีนอย่างเพียงพอ

สัปดาห์ที่ 7 เป็นสัปดาห์ที่ยากที่สุด ช่วงนี้คนไข้ก็ต้องพยายามกินให้เต็มที่ ถ้ามีผลข้างเคียงอะไรเกิดขึ้น แพทย์รังสีรักษาก็จะมีการนัดตรวจติดตามทุกสัปดาห์ และคอยให้ยารักษาผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น

ช่วงที่ 4 การตรวจติดตามหลังการฉายรังสี แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ดังนี้

ช่วงแรก การฟื้นฟูสภาพร่างกาย ซึ่งผลข้างเคียงต่างๆ จากการฉายรังสีจะค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ ได้แก่ ผิวหนังอักเสบบริเวณคอ เยื่อบุในช่องปากอักเสบ เจ็บคอ ประมาณ 2-3 สัปดาห์จะค่อยๆ ดีขึ้น ผู้ป่วยจะเริ่มทานอาหารได้มากขึ้น

ช่วงที่ 2 การรับรสและน้ำลายแห้ง จะค่อยๆ กลับมา ขึ้นอยู่กับว่ามีการฉายรังสีบริเวณใด ในคนไข้บางรายถ้าปริมาณรังสีที่ต่อมน้ำลาย หรือที่ลิ้นมีค่าสูง การรับรสอาจจะกลับมาช้ากว่าคนปกติ โดยส่วนมากจะใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือนจึงสามารถเริ่มรับรสได้ แล้วค่อยๆ กลับมาชัดเจนขึ้นที่ประมาณ 1 ปี อย่างไรก็ดีพบว่ามีผู้ป่วยบางส่วนที่อาจจะมีการรับรสที่ผิดเพี้ยนไปในระยะยาวได้

...

ส่วนผลข้างเคียงในระยะยาว ผิวหนังที่คออาจจะตึงมากขึ้น การกลืนลำบากมากขึ้น คนไข้จะต้องบริหารคอ หรือขากรรไกร เพื่อให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติ นอกจากนี้ในคนไข้บางรายที่พบว่ามะเร็งอยู่ใกล้กับหู การฉายรังสีอาจจะมีผลข้างเคียงในเรื่องของการได้ยินในระยะยาวที่ลดลงไปเรื่อยๆ ซึ่งจะต้องติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง

หลังจากนั้นแพทย์จะต้องมีการตรวจติดตามอาการอยู่เสมอ ทั้งการซักประวัติ การตรวจร่างกาย อาการต่างๆ และเจาะเลือดทั่วไป เพื่อตรวจหาความผิดปกติ มีการส่องกล้องจากทีมแพทย์หู คอ จมูก เพื่อดูว่าตัวโรคที่เคยมีอยู่ ปัจจุบันเป็นอย่างไร รวมทั้งมีการตรวจภาพถ่ายทางรังสี อาทิ การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เพื่อดูว่าตัวโรคนั้นมีการกลับมาเป็นซ้ำหรือไม่ และมีจุดใดที่น่ากังวล ซึ่งต้องได้รับการติดตามเป็นพิเศษ

แม้ว่าการรักษาโรคมะเร็งศีรษะและลำคอด้วยการฉายรังสีจะมีผลข้างเคียงต่างๆ ดังที่กล่าวไป แต่ก็เป็นการรักษาหลักที่มีประสิทธิภาพและให้ผลดีต่อคนไข้ และหากตรวจพบโรคในระยะแรก โอกาสหายขาดก็จะมีมาก ดังนั้นจึงควรตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นก็ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและเข้ารับการรักษาทันที

@@@@@@

แหล่งข้อมูล

อ.นพ.สมภัทร วัฒนาสุวรรณ สาขารังสีวิทยาและมะเร็งวิทยา ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล