ยาลดน้ำหนัก เป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยผู้คนมานับล้านๆคนให้ลดน้ำหนักได้สำเร็จ แต่เมื่อหยุดใช้ยา ผู้คนมักจะกลับมาน้ำหนักเพิ่มเกือบเท่าๆที่ลดลงไป รวมถึงอาจมีผลต่อสุขภาพในระยะยาวด้วย
โดมีนิกา รูบิโน ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมน้ำหนักและการวิจัยวอชิงตัน ให้สัมภาษณ์ว่า โรคอ้วนไม่เหมือนกับการติดเชื้อที่กินยาปฏิชีวนะแล้วหาย ไม่ต่างจากโรคความดันโลหิตสูงหรือเบาหวาน หรือโรคเรื้อรังอื่นๆที่ต้องใช้ยาในโรคเรื้อรัง
3 ปีที่ผ่านมา การเกิดขึ้นของยากลุ่มใหม่ที่เรียกว่า “GLP-1” ที่มีความสามารถในการเลียนแบบการทำงานของฮอร์โมน GLP-1 ตามธรรมชาติในลำไส้ที่ส่งเสริมความรู้สึกอิ่ม ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงวงการการลดน้ำหนัก โดย FDA ของสหรัฐอเมริกาได้อนุมัติยา “เวโกวี” ซึ่งเป็นยาสำหรับควบคุมน้ำหนักในกลุ่ม GLP-1 ทำให้ความต้องการยาเวโกวีเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว กระทั่งปลายปี 2023 มีการนำ ยามุนจาโร หรือ เทอร์เซปาไทด์ (tirzepatide) ออกมาวางจำหน่าย ก็ทำให้ความต้องการของคนอยากลดน้ำหนักเพิ่มสูงขึ้นมาอีก กระทั่งล่าสุดมีการพัฒนายาใหม่ที่มีประสิทธิภาพดีกว่าเดิม ที่ชื่อว่า เรทาทรูไทด์ (retatrutide) ก็กำลังเหมือนจะมีความต้องการมากขึ้นอีกเช่นกัน
...
ทั้งนี้ ยาในกลุ่ม GLP-1 มีประสิทธิภาพในการลดน้ำหนักอย่างไม่ต้องสงสัย งานวิจัยทางคลินิกที่สำคัญชิ้นหนึ่ง พบว่าผู้เข้าร่วมวิจัยลดน้ำหนักได้โดยเฉลี่ย 15% ภายใน 68 สัปดาห์ ขณะที่กลุ่มที่ได้รับยาหลอก (placebo) ลดน้ำหนักได้เพียง 2% บางคนที่ใช้ยาตัวนี้มีน้ำหนักลดลงถึง 20% ของน้ำหนักตัวเริ่มต้น นอกจากนี้ ข้อมูลล่าสุดจากการทดลองที่ชื่อว่า “Select” ซึ่งตีพิมพ์ในปี 2023 ยังชี้ให้เห็นว่าเซมากลูไทด์สามารถลดความเสี่ยงของโรคหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมองได้ถึง 1 ใน 5 ในผู้ป่วยที่มีประวัติโรคหัวใจและหลอดเลือดอยู่แล้ว
และแน่นอน เมื่อมียาที่ดีขนาดนี้ ราคาก็ย่อมสูงตามประสิทธิภาพของยา โดยยาเวโกวีสำหรับ 1 เดือน มีราคาถึง 1,350 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 49,500 บาท และยังมีผลข้างเคียงที่น่ารำคาญ เช่น คลื่นไส้ ปวดท้อง และกรดไหลย้อน และคำถามที่สำคัญที่สุด ก็คือ เมื่อหยุดใช้ยาเหล่านี้แล้ว น้ำหนักจะกลับมาเพิ่มขึ้นหรือไม่
มีการศึกษาหลายชิ้นที่พยายามหาคำตอบของคำถามนี้ และผลการวิจัยทั้งหมดชี้ไปในทางเดียวกัน นั่นคือน้ำหนักจะกลับมาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในการศึกษาวิจัยหนึ่ง ผู้เข้าร่วม 800 คนได้รับการฉีดยาเซมากลูไทด์ทุกสัปดาห์ ควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนอาหาร การออกกำลังกายตามแผนที่กำหนด และการเข้ารับการปรึกษาด้านจิตวิทยา ซึ่งทั้งหมดนี้ช่วยให้พวกเขาลดน้ำหนักไปเกือบ 11% ของน้ำหนักตัวเริ่มต้นภายในระยะเวลา 4 เดือน ทว่าเมื่อหยุดยาเซมากลูไทด์และเปลี่ยนไปฉีดยาหลอกเป็นเวลา 1 ปี หนึ่งในสามของผู้เข้าร่วมกลุ่ม ตัวอย่างมีน้ำหนักกลับขึ้นมา 7% ของน้ำหนัก ที่เคยลดลง ดร.อเล็กซ์ มิราส อาจารย์ประจำภาควิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัลสเตอร์ กล่าวว่า มีผู้ป่วยเพียงส่วนน้อย มากที่สุดประมาณ 10% ที่สามารถรักษาน้ำหนักที่ลดลงไว้ได้ทั้งหมด และที่สำคัญ การกลับมาเพิ่มขึ้นของน้ำหนักมักจะเกิดขึ้นเร็วกว่าระยะเวลาที่ใช้ในการลดน้ำหนักในตอนแรก เฉลี่ยภายใน 3-6 เดือนแรก หลังหยุดการรักษา ที่เรียกว่าโยโย่ เอฟเฟกต์
ทฤษฎีหลักที่อธิบายว่าทำไมคนส่วนใหญ่กลับมามีน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังหยุดยา ในทางการแพทย์อธิบายได้ว่า สมองส่วนควบคุมความอยากอาหารยังทำงานผิดปกติ กระตุ้นให้คนกินมากเกินไป ยาในกลุ่ม GLP-1 เพียง
แค่ช่วยกดการทำงานผิดปกติเหล่านี้เท่านั้น เมื่อฤทธิ์ของยาหมดไป ความอยากอาหารก็จะกลับมาในเวลาไม่นาน ผู้คนจำนวนมากที่กลับมามีน้ำหนักเพิ่มขึ้นหลังจากใช้ยาหรือการอดอาหาร สัดส่วนร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว เลวร้ายกว่ากรณีที่พวกเขารักษาน้ำหนักเดิมไว้เสียอีกเพราะน้ำหนักกลับมาเพิ่มขึ้น มักมาพร้อมกับการสะสมของไขมัน และกล้ามเนื้อที่ลดลง
ขณะที่ ดร.มาร์ติน ไวท์ รองศาสตราจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์การเผาผลาญ มหาวิทยาลัย เซอร์เรย์ อธิบายว่า ทฤษฎีหนึ่งที่เป็นไปได้ว่าทำไมผู้คนมักจะกลับมามีน้ำหนักเพิ่มขึ้นหลังจากหยุดยาเหล่านี้ เช่น ยาเซมากลูไทด์และเทอร์เซปาไทด์ มีปริมาณของ GLP-1 มากกว่าที่ร่างกายคาดหวังว่าจะได้รับตามปกติ ซึ่งอาจส่งผลต่อความสามารถในการผลิต GLP-1 ของร่างกายเอง ดังนั้น เมื่อหยุดยา ความหิวโหยอาจกลับมาอย่างรุนแรงยิ่งกว่าเดิม
...
ทางที่ดีที่สุดในการลดน้ำหนัก จึงน่าจะเป็นการควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย รวมถึง การลดหรือเลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น่าจะเป็นวิธีการลดน้ำหนักอย่างยั่งยืนกว่าการใช้ยา ซึ่งยังไม่มีผลการศึกษาที่ชัดเจนว่า จะได้ผล 100% โดยไม่เกิดโยโย่ เอฟเฟกต์.