เป็นศาสตร์ที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมาก สำหรับ “จิตเวชศาสตร์โภชนาการ” ซึ่งเน้นการใช้อาหารเป็นยาเพื่อสุขภาพจิต

หนังสือ Clam your Mind with Food เขียนโดย พญ.อุมา ไนดู จิตแพทย์ที่ผ่านการฝึกอบรมจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เชฟมืออาชีพที่สำเร็จการศึกษาด้วยรางวัลอันเป็นที่ต้องการมากที่สุดจากโรงเรียนสอนทำอาหาร ทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้งและกำกับดูแล Nutritional Psychiatry Service ในโรงพยาบาลแห่งแรกของสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันเธอเป็น ผอ.ฝ่ายจิตเวชศาสตร์โภชนาการและไลฟ์สไตล์ที่ Massachusetts General Hospital

ดร.อุมา บอกว่า การทำความเข้าใจของการกินอาหารเป็นยาเพื่อสุขภาพจิต เป็นเรื่องสำคัญมาก อย่าลืมว่าลำไส้และสมองเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของคุณ การเลือกอาหารที่ดีต่ออวัยวะทั้งสองส่วนนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นอย่างมาก

ผอ.ฝ่ายจิตเวชศาสตร์โภชนาการและไลฟ์สไตล์ Massachusetts General Hospital อธิบายว่า ในการที่จะใช้อาหารเป็นยาเพื่อสุขภาพจิต ก่อนอื่นเลยต้องไม่ลืมการปฏิบัติตามกฎ 80/20 หมายความว่า 80% ของอาหารที่คุณกิน ควรเน้นไปที่อาหารที่มีส่วนประกอบของไฟเบอร์จำนวนมาก เช่น ผัก ผลไม้ ถั่ว เมล็ดพืช พืชตระกูลถั่ว เมล็ดธัญพืช และโปรตีน ส่วนที่เหลืออีก 20% สามารถยืดหยุ่นได้ว่าจะเป็นอะไรในสัดส่วนที่พอเหมาะ

...

คุณหมออุมา พูดถึงการกินแบบสายรุ้ง ซึ่งหมายถึงการกินอาหารหลากสีจากผัก ธัญพืช รวมทั้งผลไม้ ส่วนผักใบเขียวนั้นถือเป็นจานหลักที่สำคัญมากๆอยู่แล้ว เพราะในผักใบเขียวเกือบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นผักโขม สวิสชาร์ด ผักคอลลาร์ด ผักร็อกเก็ต ผักโรเมน และดอกแดนดิไลออน มีสารโฟเลต ซึ่งเป็นวิตามินสำคัญที่ช่วยรักษาการทำงานของสารสื่อประสาท และยังสัมพันธ์กับอาการซึมเศร้าที่ลดลงและการรับรู้ที่ดีขึ้น เมื่อได้กินผักใบเขียววันละประมาณ 4-6 กรัม

“สิ่งสำคัญของความเป็นอยู่ที่ดีทางจิต คือ การมีสติและความสามารถในการรับรู้ว่าสิ่งต่างๆทำให้คุณรู้สึกอย่างไร รวมไปถึงอาหาร ซึ่งถ้าปฏิบัติตามกฎของการมีสุขภาพดีได้ สุขภาพจิตก็จะดีตามไปด้วย” เจ้าของหนังสือ Clam your Mind with Food บอก

คุณหมออุมา บอกว่า เคยสังเกตตัวเองไหมว่า ในบางวันเรารู้สึกหงุดหงิด ล้า และต้องการงีบหลับหลายชั่วโมงหลังอาหารเช้า ให้คุณกลับไปดูเมนูอาหารเช้าที่รับประทานว่ามีอาหารที่มีรสหวานหรือไม่ โดยเฉพาะสารให้ความหวานประเภทแพนเค้กหรือน้ำเชื่อมเมเปิ้ล อาหารที่ทำให้เกิดอาการอักเสบและทำให้เกิดความวิตกกังวล เช่น การเติมน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ในอาหาร น้ำมันเมล็ดพืชอุตสาหกรรม เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด และน้ำมันเมล็ดองุ่น ไนเตรตที่มีในอาหารแปรรูปและเนื้อสัตว์ อาหารเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่ไม่ส่งผลดีต่อสุขภาพจิต คุณต้องฟังเสียงร่างกายของคุณหลังจากรับประทานอาหารเหล่านั้น และพิจารณาว่าอาหารที่มีสีสันและมีเส้นใยสูงชนิดใดที่จะทำให้คุณรู้สึกดีขึ้นแทน

ทางที่ดีที่สุดคือ จำไว้เสมอว่าครั้งต่อไปที่คุณเลือกมื้อเช้า ถ้ามีอะไรที่ไม่ทำให้คุณรู้สึกดีหลังจากกินเข้าไป นั่นแปลว่ามันไม่ดีต่อร่างกายของคุณแล้ว จงใช้ความฉลาดของร่างกายที่เตือนคุณด้วยอาการบางอย่างนี้ นำทางคุณและอย่าหลงทางเป็นอันขาด

และเพื่อที่จะเพิ่มประสิทธิภาพสุขภาพจิตของเราอย่างยั่งยืน จิตแพทย์ที่ผ่านการฝึกอบรมจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดบอกว่า สิ่งสำคัญคือต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านโภชนาการและการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน แทนที่จะจมอยู่กับการแก้ไขอย่างรวดเร็วหรือควบคุมอาหารอย่างมหัศจรรย์ การปฏิบัติตามกฎ 80/20 เป็นวิธีที่ดีในการบรรลุความสมดุลและเป็นวิธีที่ยั่งยืน

...

“เราเชื่อว่า จิตเวชศาสตร์โภชนาการ ประกอบกับคำแนะนำที่ดี สามารถช่วยให้ผู้คนจำนวนมากบรรลุ หรือรักษาสุขภาพจิตเชิงบวกเมื่อเผชิญกับความท้าทายที่ไม่ธรรมดา ซึ่งคุณต้องเริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจอาหารที่สามารถจะเป็นยาได้ และนำสิ่งเหล่านี้เข้ามาในชีวิตของคุณ” คุณหมออุมาทิ้งท้าย พร้อมกับบอกว่า ถ้าคุณสังเกตดีๆในทุกๆเมนู ทุกๆมื้ออาหารที่คุณรับประทาน คุณจะประหลาดใจว่าอาหารดีๆสามารถทำให้คุณรู้สึกดีได้อย่างไร ซึ่งนั่นหมายความว่าคุณจะตัดสินใจเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สมาร์ทไลฟ์” เพิ่มเติม