เพื่อการกินอยู่อย่างสมดุล สร้างสุขภาพที่ดีทั้งกายและใจอย่างยั่งยืน บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ได้จัดเวิร์กช็อป “กินที่ชอบ บาลานซ์ที่ใช่ ไปกับเนสท์เล่” โดยมีผู้เชี่ยวชาญมาร่วมให้ความรู้และให้คำแนะนำ ที่เกษร เออเบิร์น รีสอร์ท ชั้น 19 อาคารเกษร ทาวเวอร์
ในงาน รศ.ดร.เรวดี จงสุวัฒน์ นายกสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทยฯ และอาจารย์ประจำภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมอธิบาย “แนวทางการส่งเสริมโภชนาการ เพื่อความสุขกายและสุขใจอย่างยั่งยืนของคนไทย” ว่าสาเหตุหลักของการเสียชีวิตอันดับ 1 ในประเทศไทยว่ามาจากโรค NCDs หรือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โดยกลุ่มโรคเหล่านี้เป็นผลมาจากวิถีชีวิตและทางสมาคมฯมีเป้าหมายสูงสุดในการทำให้คนไทยมีภาวะโภชนาการที่ดี และมีความรอบรู้ด้านโภชนาการ (Nutrition literacy) การสร้างความเข้าใจในแนวทางการกินอยู่อย่างสมดุล หรือ Balanced Diet จึงเป็นหนึ่งในแนวทางที่จะช่วยให้คนไทยมีสุขภาพดีได้อย่างยั่งยืน ส่วนหลักการกินอยู่อย่างสมดุลนี้มีความสำคัญมาก กินของที่ชอบได้ในสัดส่วนที่เหมาะสม และกินให้หลากหลายสลับกันไป มีผักและผลไม้ที่เพียงพอ เพื่อให้ดีต่อสุขภาพในระยะยาว ซึ่งถ้าเราดูแลเรื่องอาหารการกินแบบไม่เครียดจนเกินไป จิตใจก็จะมีความสุขไปด้วย
...
ด้าน สลิลลา สีหพันธุ์ ผู้บริหาร เนสท์เล่ (ไทย) เล่าถึงแนวคิดของการกินอยู่อย่างสมดุล หรือ Balanced Diet ว่า อาหารไม่เพียงแต่ตอบสนองด้านโภชนาการให้กับร่างกาย แต่ยังมีบทบาทด้านอารมณ์และการเข้าสังคมอีกด้วย เนสท์เล่จึงอยากสร้างแรงบันดาลใจและส่งเสริมไลฟ์สไตล์การกินอยู่อย่างสมดุลให้กับทุกๆคน เพื่อสร้างเสริมสุขภาพดีแบบองค์รวม ด้วยการกินพอและกินดี ซึ่งหมายถึงกินในสัดส่วนพอเหมาะ มีความหลากหลาย และเพียงพอสำหรับการดูแลร่างกายให้สุขภาพดี และเติมเต็มความรู้สึกทางจิตใจให้มีความสุขด้วย
ขณะที่ จันทิมา เกยานนท์ นักวิชาการด้านอาหารและโภชนาการ เนสท์ เล่ ได้แนะนำวิธีการกินอยู่อย่างสมดุล ให้ทุกคนได้กินอาหารที่ชอบในบาลานซ์ที่ใช่ ผ่านเทคนิคง่ายๆ อย่าง “บวก แบ่ง แพลน” ที่สามารถทำได้จริง และนำไปปรับใช้ให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของทุกคน ได้แก่ บวก จับคู่อาหาร หลักของการ “บวก” คือ การกินให้ดีด้วยการเพิ่มประโยชน์ให้มื้อนั้นๆจับคู่ให้ครบหมู่ เช่น เพิ่มผัก หรือธัญพืช หากในมื้อนั้นมีเนื้อสัตว์ หรือข้าวแป้งในสัดส่วนเกิน 50% “แบ่ง” ปริมาณที่พอดี คือการคุมปริมาณการกินให้เหมาะสมกับความต้องการพลังงานของร่างกาย การแบ่งมีหลักการคือ การแบ่งกินทีละน้อย สำหรับอาหารว่างที่ให้พลังงานสูง “แพลน” วางแผนมื้ออาหาร พยายามสร้างแนวคิดการจัดจานแบบ 2:1:1 ที่กำหนดให้แบ่งอาหารเป็นผัก 2 ส่วน ข้าวหรือแป้ง 1 ส่วน เนื้อสัตว์อีก 1 ส่วน แม้ในความเป็นจริงอาจไม่สามารถทำได้ในทุกๆมื้อ
สุดท้าย อ.กฤษฎี โพธิทัต นักกำหนดอาหารวิชาชีพ (ไทยและอเมริกา) ที่ปรึกษาศูนย์โภชนาการและการกำหนดอาหาร โรงพยาบาลวิมุต- เทพธารินทร์ ได้เสริมเรื่องการแบ่งและควบคุมปริมาณการกินว่า การกินแบบมีสติ หรือ Mindful Eating คือสิ่งที่สำคัญ เราอาจจะลองใช้ scale ความหิวและอิ่มมาประเมินเพื่อประกอบการตัดสินใจว่าควรกินเท่าไร อีกอย่างคือ ถ้ามื้อไหนที่เรากินอาหารที่มีโปรตีนหรือไฟเบอร์น้อยเกินไป ก็จะทำให้หิวเร็วขึ้นในมื้อถัดไป และที่สำคัญคือไม่ควรปล่อยให้ตัวเองหิวจัด เพราะจะทำให้เรากินอย่างขาดสติและเสียสมดุลได้ นอกจากนั้น การค่อยๆเคี้ยว ไม่กินเร็วเกินไป จะช่วยให้กระเพาะใช้เวลาส่งสัญญาณให้สมองรู้ว่าอิ่ม.