“โรคมะเร็งศีรษะและลำคอ” เป็นลักษณะของมะเร็งที่เกิดบริเวณเยื่อบุในช่องปาก ช่องคอและทางเดินหายใจส่วนต้น โดยสามารถแบ่งกลุ่มของโรคมะเร็งในส่วนนี้ได้ ดังนี้

- มะเร็งช่องปาก
- มะเร็งคอหอยหลังช่องปาก
- มะเร็งคอหอยส่วนล่าง
- มะเร็งโพรงจมูก
- มะเร็งบริเวณกล่องเสียง แบ่งออกเป็น เหนือกล่องเสียง เส้นเสียงและใต้กล่องเสียง
- มะเร็งภายในโพรงอากาศในช่องจมูก
- มะเร็งศีรษะระยะลุกลาม ที่ไม่สามารถหาต้นกำเนิดของโรคได้ มีเพียงการลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ
- มะเร็งบริเวณต่อมน้ำลาย

“โรคมะเร็งศีรษะและลำคอ” ที่พบได้บ่อย จะเป็นกลุ่มมะเร็งในช่องปาก ซึ่งจากสถานการณ์โรคมะเร็งในประเทศไทยพบว่า มะเร็งในช่องปาก มีผู้ป่วยสูงถึงอันดับที่ 6 เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเพศชาย และจากสถานการณ์ทั่วโลกจากการเก็บข้อมูลในปี 2022 มีผู้ป่วยมะเร็งในช่องปากรายใหม่สูงถึง 389,846 ราย

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง

1. การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยหลัก โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่สูบบุหรี่จัด และสูบมาเป็นเวลานาน เนื่องจาก บุหรี่ประกอบด้วยสาร เช่น กลุ่มไนโตรซามีน (nitrosamines) และสารก่อมะเร็งในกลุ่มไฮโดรคาร์บอน

2. การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เมื่อแอลกอฮอล์ถูกเปลี่ยนแปลงด้วยกระบวนการเมแทบอลิซึมจะสามารถรบกวนกระบวนการสังเคราะห์สารพันธุกรรมได้ แต่การดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้ท้าให้ผู้ที่ดื่มทุกคนต้องเป็นโรคมะเร็งศีรษะและคอเสมอไป เพราะขึ้นกับความแปรผันของสารพันธุกรรมในแต่ละคน

ทั้งนี้ หากสูบบุหรี่ร่วมกับการดื่มแอลกอฮอล์ ก็จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งศีรษะและลำคอได้มากถึงร้อยละ 20

3. การเคี้ยวหมาก พบได้ในอดีต เนื่องจากปัจจุบันไม่ค่อยมีคนเคี้ยวหมากแล้ว

...

4. การติดเชื้อไวรัส HPV ส่งผลให้เกิดมะเร็งศีรษะและลำคอ โดยเฉพาะบริเวณคอหอยหลังช่องปาก โดยเชื่อว่าพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์อาจ ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อนี้ได้

5. สุขอนามัยในช่องปาก หากสุขอนามัยในช่องปากไม่ดี ทำให้เกิดการอักเสบในช่องปากแบบเรื้อรัง ทำให้เซลล์ในช่องปากเกิดการกลายพันธุ์จนกลายเป็นมะเร็งในช่องปากได้

6. ความผิดปกติทางพันธุกรรม หากมีประวัติครอบครัวเป็นโรคมะเร็ง ก็จะมีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป

อาการ พบได้หลากหลาย ดังนี้

1. เจ็บคอมากและแผลในช่องปาก โดยมีอาการเหล่านี้มากกว่า 2 สัปดาห์
2. มีเลือดออกจากบริเวณแผลเหล่านั้น จากแผลในปาก ในคอ หรือบริเวณคอหอยส่วนลึก
3. หากมะเร็งเกิดบริเวณคอหอยส่วนลึกซึ่งติดกับหลอดอาหาร คนไข้ก็อาจจะมาด้วยอาการกลืนอาหารแล้วเจ็บ กลืนติดได้
4. ในบางรายที่มีอาการค่อนข้างมาก อาจจะพบมีก้อนโตที่บริเวณต่อมน้ำเหลือง

อาการบริเวณคอหรือต่อมน้ำลาย มีดังนี้

1. คลำได้ก้อนบริเวณคอ และมีลักษณะโตขึ้นเรื่อย ๆ
2. ก้อนมีลักษณะแข็ง และอาจจะรู้สึกเจ็บได้ในบางครั้ง
3. มีก้อนแข็งบริเวณต่อมน้ำลาย หากก้อนมีขนาดใหญ่ขึ้น จะส่งผลให้ใบหน้าเบี้ยวได้

อาการทางหู มีดังนี้

คนไข้มักจะมาด้วยอาการปวดหู คล้ายๆ เหมือนปวดหูจากการติดเชื้อ แต่อาการปวดจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงมีอาการหูอื้อ การได้ยินลดลงและมักเป็นข้างเดียว

อาการทางจมูก มีดังนี้

คัดแน่นจมูก หายใจไม่สะดวก มีเลือดกำเดาไหล กลุ่มตัวโรคมะเร็งโพรงจมูก หากมีขนาดใหญ่ อาจจะกดเบียดอวัยวะข้างเคียงได้ เช่น บริเวณตา อาจจะทำให้เห็นภาพซ้อนได้ หรืออาจจะทำให้หูอื้อได้

สัปดาห์หน้า ยังมีเรื่องราวของการวินิจฉัยและการผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งศีรษะและลำคอกันต่อ รอติดตามกันนะคะ

@@@@@@@

แหล่งข้อมูล

อ.พญ.โยษิตา หมื่นแก้ว ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล