วัยทำงาน เป็นช่วงวัยที่ต้องแบกรับภาระมากมายทั้งเรื่องหน้าที่การงานไปจนถึงชีวิตครอบครัวที่แต่ละบ้านก็มีปัญหาแตกต่างกันไป จึงเป็นที่มาของฉายา “เดอะแบก” เพราะเต็มไปด้วยความกดดันที่ถาโถมรอบด้าน จึงมีความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคทางจิตเวชได้มากที่สุด หนึ่งในนั้นคือ โรคจิตเภท

วันที่ 24 พฤษภาคมของทุกปี องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้เป็นวันจิตเภทโลก เพื่อรณรงค์ให้ทุกคนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคจิตเภทอย่างถูกต้อง และลดการตีตราผู้ป่วยโรคจิตเภทจากสังคม ซึ่งจากสถิติพบว่าโรคจิตเภท มักเกิดขึ้นในกลุ่มวัยทำงานมากกว่าวัยอื่นๆ เนื่องจากความเครียดเป็นหนึ่งในสาเหตุการก่อโรค

แพทย์หญิงณัฏฐพัชร์ ลำเลียงพล จิตแพทย์ โรงพยาบาล BMHH – Bangkok Mental Health Hospital กล่าวว่า วัยทำงานเป็นวัยที่ต้องเผชิญกับสภาวะความเครียดจากปัญหาต่างๆ ในชีวิตมากกว่าวัยอื่นๆ ทั้งเรื่อง การทำงาน การเข้าสังคม หรือการแบกความรับผิดชอบในวัยที่มากขึ้น ดังนั้น วัยทำงานจึงเป็นช่วงอายุที่พบโรคทางจิตเวชได้มากที่สุด

“โรคจิตเภท” หรือ Schizophrenia เป็น 1 ใน 5 โรคทางจิตเวชที่พบบ่อยในวัยทำงาน เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของสมอง ส่งผลให้มีความคิดและการรับรู้ที่ผิดปกติไปจากเดิม โดยมักจะมีอาการหูแว่ว ประสาทหลอน พูดไม่รู้เรื่อง หรือมีพฤติกรรมแปลกๆ สาเหตุของการเกิดโรคแบ่งเป็น 3 สาเหตุ ได้แก่ พันธุกรรม, ความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง และภาวะทางด้านจิตใจ ซึ่งโรคจิตเภทเป็นโรคที่มีความรุนแรง จำเป็นต้องรีบรักษา

...

นอกจากนี้ โรคอื่นๆ ที่สามารถพบได้บ่อยในกลุ่มวัยทำงาน ได้แก่

  1. ติดสารเสพติด พบมากในวัยผู้ใหญ่ แต่ก็พบเพิ่มมากขึ้นในเยาวชนตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไป สารเสพติดที่ถูกใช้มากที่สุดในประเทศไทย คือ สุรา ร้อยละ 18 บุหรี่ร้อยละ 14.9 และติดยาเสพติดอื่นๆ เช่น กัญชา ยาบ้า ยาไอซ์ ร้อยละ 2.8
  2. โรคซึมเศร้า มีคนจำนวนมากที่ยังไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้า ทำให้ไม่ได้เข้ารับการรักษา หรือบางคนอาจรู้ตัวแต่ไม่ยอมรักษาจนทำให้มีอาการที่รุนแรงขึ้น
  3. โรควิตกกังวล ในกลุ่มวิตกกังวลมีหลายชนิด ที่พบมาก ได้แก่ โรคแพนิก โรคกลัวสถานที่ โรควิตกกังวลไปทั่ว และโรคเครียดหลังประสบเหตุการณ์รุนแรง
  4. โรคอารมณ์แปรปรวนหรือโรคไบโพลาร์ ผู้ป่วยจะมีลักษณะอารมณ์เปลี่ยนไปมา ระหว่างซึมเศร้าสลับกับช่วงอารมณ์ดีมากกว่าปกติ

ไม่เพียงแต่วัยทำงานเท่านั้นที่เป็นโรคทางจิตเวชได้ ในวัยอื่นๆ ก็สามารถเกิดโรคทางจิตเวชได้เช่นกัน โดยจะแบ่งเป็นตามกลุ่มวัย ดังนี้

วัยเด็กและวัยรุ่น

มักได้รับการวินิจฉัยโรคในช่วงอายุ 7–14 ปี โดยในช่วงวัยนี้พบความชุกของโรคตามลำดับ ดังนี้ โรคสมาธิสั้น, โรคออทิสติก, โรคพฤติกรรมเกเรก้าวร้าว และสติปัญญาต่ำกว่าวัย

วัยสูงอายุ

เป็นวัยที่มักเกิดโรคสมองเสื่อม ซึ่งเป็นภาวะที่สมองทำงานผิดปกติ ส่งผลให้มีอาการหลงลืม ความจำเสื่อม บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลงหรือผิดปกติ จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต โดยส่วนใหญ่มักเกิดกับผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป

“โรคทางจิตเวช หลายโรครักษาให้หายได้ หลายโรครักษาให้ดีขึ้นได้ เพราะฉะนั้น การเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้องและต่อเนื่องเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ป่วยและคนใกล้ชิดควรต้องให้ความร่วมมือ เพื่อผู้ป่วยจะสามารถกลับมาใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างปกติสุข” แพทย์หญิงณัฏฐพัชร์กล่าว