“ท้องเดิน” คือ การที่มีอาการถ่ายเหลวมากกว่า 1 ครั้งต่อวัน ซึ่งสาเหตุของอาการท้องเดินที่พบ ได้แก่

1. เกิดจากตัวเชื้อแบคทีเรียหรืออะมีบาจากภายนอกก่อโรคขึ้นในลำไส้ เช่น โรคบิด สาเหตุเกิดจากการรับประทานอาหารที่ไม่สะอาด อาหารที่มีแมลงวันตอม

2. เกิดจากสารพิษของเชื้อโรคบางชนิด เกิดจากการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ เช่น อาหารกระป๋องที่เสื่อมสภาพ อาหารที่ไม่สะอาด เรียกภาวะท้องเดินที่เกิดจากสารพิษของเชื้อโรคว่า อาหารเป็นพิษ

3. เกิดจากเชื้อแบคทีเรียในร่างกายก่อโรคขึ้นในลำไส้ สาเหตุเกิดจากการรับประทานยาปฏิชีวนะบางชนิดที่ทำให้เกิดการเสียสมดุลของเชื้อแบคทีเรียในลำไส้ โดยยาทำลายเชื้อแบคทีเรียที่ดีในลำไส้

4. เกิดจากการรับประทานยาระบาย หรือยาที่มีผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดการระบาย เช่น Clavulanic acid (เป็นส่วนประกอบของยาปฏิชีวนะบางชนิด)

สัญญาณอาการขาดน้ำ

ขาดน้ำเล็กน้อย จะมีอาการกระหายน้ำ อ่อนแพลีย หน้าตายังแจ่มใส

...

ขาดน้ำปานกลาง จะอ่อนเพลียแทบเดินไม่ไหว ยังนั่งได้ ตาลึก ปากแห้ง ผิวหนังเหี่ยวลง ชีพจรเบาแต่เร็ว

ขาดน้ำรุนแรง จะอ่อนเพลีย นั่งไม่ได้ ต้องนอน ตัวเย็น มือเท้าเย็น ชีพจรเบาแต่เร็ว ปัสสาวะไม่ออก หายใจเร็ว

ถ้าสังเกตพบว่ามีอาการขาดน้ำปานกลาง ควรพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลเพื่อให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ

การดูแลตนเอง มีดังนี้

1. งดอาหารรสจัด และงดอาหารที่มีกาก เช่น ผัก ผลไม้ ให้กินอาหารอ่อน หรืออาหารเหลว เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก น้ำข้าว เด็กเล็กให้งดรับประทานนมชงในช่วงท้องเดิน

2. ให้จิบน้ำเกลือแทนน้ำ จะใช้แบบซองสำเร็จ หรือผสมเองก็ได้

น้ำเกลือผสมเอง ทำได้โดยนำน้ำต้มสุกสะอาด 1 ขวด (750 ซีซี) ผสมน้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ และเกลือป่นครึ่งช้อนชา

หลังจากผสมน้ำเกลือแล้ว เก็บไว้ได้แค่ 24 ชั่วโมงเท่านั้น

ถ้ากินไม่ได้ มีอาการอาเจียนมาก หรือท้องเสียมาก ควรไปให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำที่โรงพยาบาลดีกว่า

3. การรับประทานยาปฏิชีวนะ (ยาฆ่าเชื้อ) ส่วนใหญ่ไม่ต้องให้ ให้เฉพาะโรคบิด อหิวาต์เท่านั้น

4. การรับประทานยาแก้ท้องเดิน (ยาช่วยหยุดถ่าย) ใช้เมื่อมีความจำเป็นจริงๆ เท่านั้น ถ้าใช้ผิดอาจเกิดโทษได้ โดยเฉพาะท้องเสียจากตัวเชื้อ

5. รับประทานยาคาร์บอน (ถ่าน) เพื่อดูดซับพิษจากเชื้อ กรณีท้องเดินที่มีสาเหตุจากพิษของเชื้อโรค โดยรับประทานตอนท้องว่าง

6. การใช้ยาโพรไบโอติกในผู้ป่วยที่เหมาะสม อาจช่วยลดความรุนแรง ทำให้หายเร็วขึ้น

@@@@@@@@@

แหล่งข้อมูล
ศ. นพ.จุมพล วิลาศรัศมี ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล