“โรคเมอร์ส” หรือ “โรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสทางเดินหายใจตะวันออกกลางจากเชื้อโคโรนาไวรัส” มีชื่อเต็มภาษาอังกฤษคือ “Middle East Respiratory Syndrome” จึงนำตัวย่อมาเรียกสั้นๆ ว่า “MERS (เมอร์ส)” นั่นเอง โดยเป็นการติดเชื้อโคโรนาไวรัส ซึ่งเป็นตระกูลเดียวกันกับเชื้อที่ก่อโรคโควิด-19 ที่มารู้จักกันภายหลัง
“โรคเมอร์ส” เป็นโรคที่ติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยคาดว่าจะมาจากอูฐ พบครั้งแรกใน ปี พ.ศ. 2555 ที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย ต่อมาพบในหลายประเทศในตะวันออกกลาง แอฟริกา และเอเชียใต้ รวมทั่วโลกมีรายงานถึง 27 ประเทศ
การติดต่อจากคนสู่คนก็มีรายงานในผู้ใกล้ชิด หรือการติดต่อในสถานพยาบาล โดยสามารถติดต่อจากการสัมผัส ทั้งโดยตรงและทางอ้อมจากสัตว์หรือคนที่ป่วยด้วยไวรัสนี้ แล้วติดจากการสูดดมเข้าไป
ผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการ ในคนที่มีอาการมักจะประกอบด้วย ไข้ ไอ และหายใจเหนื่อยหอบ ไวรัสนี้อาจลงปอดทำให้เกิดปอดอักเสบได้เป็นบางราย อาจพบว่า มีอาการทางเดินอาหาร เช่น ถ่ายเหลว ท้องเสีย ได้เช่นเดียวกัน บางรายที่เป็นรุนแรงอาจเสียชีวิตได้ มักเกิดจากที่การหายใจล้มเหลวต้องใส่ท่อช่วยหายใจ และพักรักษาตัวในหอผู้ป่วยวิกฤติ
...
“โรคเมอร์ส” เป็นโรคที่ค่อนข้างรุนแรง โดยประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ติดเชื้อจะเสียชีวิตได้ แต่ตัวเลขอาจจะสูงกว่านี้ หากมีการรายงานอย่างเป็นขั้นตอน
แนวทางการรักษาโรคเมอร์ส มักเป็นการบรรเทาอาการ ยังไม่มียาจำเพาะ ขณะนี้ยังไม่มีการป้องกันที่จำเพาะ อย่างไรก็ตาม ได้มีการพัฒนาวัคซีนที่จำเพาะอยู่และมีความก้าวหน้าอย่างมาก
คำแนะนำทั่วไปในการป้องกันโรค ได้แก่ การล้างมือให้สะอาดก่อนและหลังสัมผัสสัตว์ต่างๆ โดยเฉพาะอูฐ เลี่ยงการใกล้ชิดคนหรือสัตว์ที่ป่วย ไม่กินเนื้อสัตว์ดิบหรือกึ่งสุก ไม่กินนมที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ รวมทั้งการมีมาตรฐานในการรักษาสุขอนามัย และการทำความสะอาดในสถานพยาบาลอย่างสม่ำเสมอ มีห้องแยกที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยเมอร์สในสถานพยาบาลที่รับผู้ป่วยติดเชื้อ หรือสงสัยว่าติดเชื้อ จึงมีความสำคัญอย่างมาก
แหล่งข้อมูล
อ.พญ.รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล