จากสถิติของประชากรทั่วโลกตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่นั้น มีจำนวนผู้ที่เป็น “โรคอ้วน” เพิ่มมากขึ้นในทุกปี ซึ่งต้นเหตุของความอ้วนอาจมาจากพันธุกรรม หรือพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่มีความเสี่ยง เช่น พฤติกรรมการรับประทานอาหารที่มีแคลอรีมากเกินไปในแต่ละวัน ไม่ค่อยออกกำลังกาย ทำให้เกิดการเผาผลาญแคลอรีไม่เพียงพอ รวมถึงอายุ และเพศ ความผิดปกติของสภาพอารมณ์ และจิตใจ ก็ส่งผลให้กินมากจนอ้วนได้ นอกจากนั้น ยังมีโรคและยาบางชนิดที่ส่งผลทำให้เกิดโรคอ้วนได้เช่นกัน

น้ำหนักแค่ไหนถึงเรียกว่าอ้วน

โรคอ้วน คือ สภาวะที่มีการสะสมไขมันในร่างกายมากเกินไป จนถึงขนาดที่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ ในทางการแพทย์ให้ความสำคัญกับโรคอ้วนที่ส่งผลต่อสุขภาพ มากกว่าความรู้สึกอ้วน ที่มาจากการประเมินความรู้สึกของแต่ละบุคคล เพราะโรคอ้วน คือ ความอ้วนที่เป็นโรค เรียกว่า Morbid Obesity วัดประเมินจากการคำนวณค่าดัชนีมวลกาย หรือเรียกว่า ค่า BMI ซึ่งค่าปกติจะอยู่ที่ประมาณ 20-25 ถ้าอยู่ในช่วง 25-30 จะเรียกว่าอยู่ในเกณฑ์น้ำหนักเกิน แต่หากค่า 30 ขึ้นไปจะเรียกว่า อ้วน ซึ่งวิธีคำนวณนั้นคิดได้จากน้ำหนักตัว (หน่วยเป็นกิโลกรัม) หารด้วยส่วนสูง (หน่วยเป็นเมตร) 

...

โรคอ้วน เสี่ยงอะไรบ้าง

การสะสมของเนื้อเยื่อไขมันในส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทั้งบริเวณชั้นใต้ผิวหนัง ตา พุง แขน และขา ไขมันเหล่านี้ไม่ได้สะสมอยู่เฉยๆ แต่ส่งผลต่อเมตาบอลิซึมของร่างกายด้วย ทำให้ร่างกายมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน ระบบการเผาผลาญก็จะผิดปกติ น้ำหนักตัวจึงเพิ่มมากขึ้น ส่งผลต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย ในกลุ่มคนที่อ้วนมากก็จะดื้อต่ออินซูลิน ทำให้มีความเสี่ยงเป็นเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดภาวะอื่นๆ ตามมา  เช่น เส้นเลือดหัวใจตีบ เส้นเลือดสมองตีบ ไขมันพอกตับ ซึ่งส่งผลต่อภาวะตับอักเสบ รวมถึงเมื่อรูปร่าง และน้ำหนักตัวมากขึ้นก็จะส่งผลให้ข้อเข่า สะโพก กระดูกสันหลังเสื่อมเร็ว และอาจมีภาวะนอนกรน หรือหยุดหายใจขณะหลับ ในผู้หญิงก็อาจเสี่ยงต่อโรคถุงน้ำรังไข่ มะเร็งสตรี หรือเข้าสู่ภาวะมีบุตรยากอีกด้วย 

แนวทางในการรักษาโรคอ้วน 

การรักษาโรคอ้วนนั้น ควรเริ่มจากการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตทั้งด้านการกิน และการออกกำลังกายก่อน แต่ในปัจจุบันมีการรักษาแบบทางลัด ด้วยการผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหาร ซึ่งมุ่งเน้นแนวทางแก้ปัญหาที่สาเหตุ เพื่อให้สามารถควบคุมพฤติกรรมการรับประทานอาหารของผู้ป่วยได้ ที่มีความปลอดภัยสูง โอกาสเกิดอาการแทรกซ้อนน้อย เพราะกระเพาะอาหารที่ตัดออกทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนความอยากอาหาร ซึ่งแนวทางทั้งหมดนี้ก็ยังคงต้องทำควบคู่ไปกับการดูแลสุขภาพที่ถูกต้องเช่นกัน ทั้งการออกกำลังกายที่สม่ำเสมอ และวินัยในการควบคุมอาหารที่จริงจัง จะช่วยให้น้ำหนักตัวลดลงได้ ภายใน 2-3 ปี  

การปล่อยให้ตัวเองมีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานจนกลายเป็นโรคอ้วนนั้น อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้มากกว่าที่เราคิด ถึงแม้ว่าบางครั้งเราอาจจะพยายามหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงในทุกวันไม่ได้ แต่ที่ทำได้ง่ายๆ คือเราสามารถลดอาหารประเภทไขมันในบางมื้อ และเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ในประเภทอื่นๆ ร่วมด้วย ก็จะช่วยให้ลดความเสี่ยงโรคต่างๆ ได้เช่นกัน ดังนั้นเราควรหันกลับมาดูแลตัวเอง เพื่อไม่ให้เกิดเป็นโรคอ้วน สุขภาพร่างกายก็จะแข็งแรง ทำให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยืนยาว 

ข้อมูลโดย : นพ. ศิขริน ศรพิพัฒน์พงศ์ ศัลยแพทย์เฉพาะทางการผ่าตัดผ่านกล้อง และการผ่าตัดเพื่อบำบัดรักษาโรคอ้วน โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน