การลดน้ำหนัก หรือลดความอ้วน ดูเป็นเรื่องซับซ้อนยุ่งยาก โดยเฉพาะในคนที่อายุมากขึ้น และระบบเผาผลาญในร่างกายเริ่มทำงานน้อยลง

ส่วนใหญ่แล้วคนที่กำลังลดความอ้วนจะเลือกใช้วิธีที่อยากให้เห็นผลเร็ว โดยเฉพาะการกินยาเพื่อทำให้ไม่รู้สึกหิว เพื่อจะได้กินน้อยลง โดยยาลดความอ้วนที่มีอยู่ในท้องตลาดขณะนี้ ส่วนใหญ่ก็คือสารที่ออกฤทธิ์กดประสาทจนทำให้ไม่รู้สึกหิว ซึ่งแน่นอนอาจเป็นผลดีในช่วงแรกๆ แต่ในระยะยาวนอกจากจะเกิดโยโย่เอฟเฟกต์ คือกลับมาอ้วนเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าแล้ว ยังเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ในระยะยาว

นอกจากนี้ วิทยาการสมัยใหม่ทำให้มนุษย์ค้นพบว่า การลดความอ้วนนั้นเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนและทำได้ยาก การใช้แค่พลังแรงใจและความอดทนเข้าสู้นั้นไม่เพียงพอ เพราะระบบควบคุมการรับรู้ปริมาณสารอาหารและความอิ่มในสมองได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปแล้วอย่างถาวร

แต่ล่าสุดมีข่าวดีมาฝากคนอยากลดความอ้วนแบบได้ผลทันที และไม่มีอันตรายหรือผลข้างเคียงใดๆ เป็นนวัตกรรมล่าสุดของโลกในการลดความอ้วนเลยก็ว่าได้ เมื่อ ดร.สริยา ศรีนิวาสัน วิศวกรชีวภาพจากเอ็มไอที (MIT) หรือสถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเสตต์ของสหรัฐฯ สามารถคิดค้นยาเม็ดที่ชื่อว่า VIBES ที่ย่อมาจาก Vibrating Ingestible BioElectronic Stimulator หรือยาเม็ดกระตุ้นไฟฟ้าชีวภาพ ที่สั่นและกลืนกินได้ ทำให้รู้สึกอิ่มเร็วอย่างปลอดภัย

...

ดร.ศรีนิวาสัน บอกว่า ยาเม็ด VIBES เป็นยาที่ไม่มีสารเคมีใดๆ มีเพียงกลไกขนาดเล็กจิ๋วซ่อนอยู่ ซึ่งทำให้เม็ดยาเข้าไปสั่นในกระเพาะอาหาร แรงสั่นสะเทือนนี้จะหลอกสมองให้รับรู้ว่ากระเพาะอาหารยืดขยายตัวจนเต็มที่แล้ว เป็นที่มาของความรู้สึกอิ่มทั้งที่ยังกินอาหารเข้าไปได้ไม่มากเท่าไหร่

“ผู้ที่ต้องการควบคุมความอยากอาหาร สามารถกลืนยาเม็ดนี้ลงท้องได้ก่อนกินอาหารทุกครั้ง โดยไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์อย่างเช่นที่พบในยาออกฤทธิ์กดประสาท หรือการผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหาร” ศรีนิวาสัน ซึ่งปัจจุบันทำงานเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัย ฮาร์วาร์ด บอก

เธอยืนยันว่าคนที่ได้ใช้ยาเม็ด VIBES ดังกล่าว สามารถลดอาหารที่กินในแต่ละมื้อลงได้ถึง 40% ถือเป็นทางเลือกใหม่ที่สุดสำหรับการรักษาโรคอ้วนในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้มีงานวิจัยทางการแพทย์ ระบุว่า สมองของคนอ้วนมีความบกพร่องในการรับรู้ ความ รู้สึกอิ่ม จึงทำให้อยากอาหารและกินอาหารมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารที่มีไขมันและคาร์โบไฮเดรตสูง ส่วนการดื่มน้ำมากๆ และเน้นกินอาหารที่มีกากใยหรือไฟเบอร์สูง ที่เชื่อว่าช่วยให้อิ่มเร็วขึ้นโดยได้รับพลังงานหรือแคลอรีน้อยลงนั้น อาจทำได้ยากในผู้ลดความอ้วนบางกลุ่ม ขณะที่การผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหารก็มีค่าใช้จ่ายสูงมาก

ผลการศึกษาของทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติจากสหรัฐฯ และเนเธอร์แลนด์ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Nature Meta bolism ฉบับล่าสุด หลังทำการทดลองที่แสดงให้เห็นว่า สมองของคนที่เป็นโรคอ้วนมีการตอบสนองทางประสาทแตกต่างออกไปจากสมองของคนที่มีน้ำหนักในเกณฑ์ปกติ โดยมีการหลั่งฮอร์โมนโดพามีน สารสื่อประสาทที่สร้างความรู้สึกเป็นสุขพึงพอใจและความอิ่มหลังกินอาหารได้น้อยมาก

ดร.มิเรล์ เซอร์ลี ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาต่อมไร้ท่อ (endocrinology) จากมหาวิทยาลัยเยลของสหรัฐฯ หัวหน้าทีมวิจัยครั้งนี้ อธิบายถึงกระบวนการวิจัยที่ได้ทำไปแล้วว่า ทีมวิจัยได้ทำการทดลองกับอาสาสมัคร 60 คน โดยใช้อุปกรณ์ fMRI และเครื่องสแกนคอมพิวเตอร์ชนิดอื่นๆ ติดตามดูการทำงานของสมองส่วน striatum ซึ่งเป็นปมประสาทตรงฐานสมองที่ควบคุมความต้องการแสวงหาและบริโภคอาหาร หลังจากอาสาสมัครได้รับอาหารเหลวที่เป็นไขมันและคาร์โบไฮเดรตทางสายยาง โดยต่อตรงเข้าที่กระเพาะอาหารเพื่อหลีกเลี่ยงอิทธิพลของรสชาติและกลิ่นอาหาร ทีมผู้วิจัยได้ติดตามดูความเคลื่อนไหวของสมองส่วน striatum และระดับฮอร์โมนโดพามีนไปพร้อมกัน และพบว่าความผิดปกติในสมองของคนอ้วน โดยเฉพาะการหลั่งฮอร์โมนโดพามีนได้น้อย เป็นสภาวการณ์ที่เกิดขึ้นถาวร ไม่สามารถแก้ไขให้กลับคืนสู่สภาพเดิมได้ แม้คนอ้วนผู้นั้นจะลดน้ำหนักตัวลงได้สำเร็จถึงกว่า 10% แล้วก็ตาม.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สมาร์ทไลฟ์” เพิ่มเติม