โรคมะเร็งที่พบเป็นอันดับที่ 3 ของคนไทย ผู้ป่วยส่วนใหญ่กว่าจะรู้ว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่เมื่อมีอาการขับถ่ายปกติ เช่น ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ถ่ายมีมูกเลือด ท้องผูก ปวดเบ่งถ่ายตลอดเวลา อุจจาระลำเล็กลง ก็มักพบโรคในระยะที่เป็นมากแล้ว ซึ่งมีโอกาสเสียชีวิตสูง การตรวจคัดกรองเพื่อป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือการมาพบแพทย์ทันทีตั้งแต่มีอาการผิดปกติในระยะเริ่มแรกเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะสำหรับโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ถ้ารู้เร็ว รักษาเร็ว และถูกวิธี จะมีโอกาสหายมากขึ้น วันนี้คอลัมน์ ศุกร์สุขภาพ จะพาไปดูวิธีการรักษาโรคนี้กัน
การรักษา
ปัจจุบันการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ อาจใช้วิธีการรักษาวิธีเดียวหรือใช้หลายวิธีร่วมกัน ดังนี้
1. การผ่าตัด เป็นวิธีการรักษาหลักของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ มีหลายวิธี ขึ้นกับตำแหน่งของก้อนมะเร็ง ได้แก่
1.1 การตัดก้อนเนื้องอกออก และทำการเชื่อมต่อลำไส้ส่วนที่ดีให้ทำงานได้ตามปกติ
1.2 การเปิดทวารเทียม ถ้ามะเร็งอยู่ที่ลำไส้ใหญ่ส่วนปลายที่อยู่ติดกับทวารหนัก ไม่สามารถเชื่อมต่อลำไส้ได้ อาจต้องผ่าตัดปิดบริเวณทวาร และทำทวารเทียม โดยเอาปลายลำไส้เปิดออกทางหน้าท้องเป็นทางให้อุจจาระออก
1.3 กรณีโรคลุกลามมาก มีการอุดตันของลำไส้ การผ่าตัดยกลำไส้มาเปิดที่หน้าท้อง เพื่อช่วยเปิดทางระบายของเสียจากลำไส้ หรือมีเลือดออกจากก้อนมะเร็ง สามารถผ่าตัดเพื่อแก้ไขภาวะเลือดออกในช่องท้อง
...
การผ่าตัดมีประโยชน์ในมะเร็งระยะเริ่มแรก สามารถตัดก้อนออกได้หมด หรือในระยะแพร่กระจาย ไม่สามารถผ่าตัดออกได้ การผ่าตัดจะช่วยทำให้แพทย์มองเห็นรายละเอียดโรคมะเร็งที่แพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ในช่องท้อง และผ่าตัดนำเอาชิ้นเนื้อที่ผิดปกติมาตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อวิเคราะห์ความผิดปกติของยีน และวางแผนการรักษาร่วมกับวิธีอื่นๆ ต่อไป
2. รังสีรักษา เป็นการรักษาเฉพาะที่บริเวณรอยโรคมะเร็ง อาจร่วมกับการผ่าตัดหรือเคมีบำบัด การฉายรังสีมีหลายวิธี ได้แก่
2.1 ฉายรังสีร่วมกับเคมีบำบัดก่อนการผ่าตัด เพื่อลดขนาดของก้อนแล้วจึงทำการผ่าตัด ซึ่งเดิมไม่สามารถผ่าก้อนมะเร็งออกได้
2.2 ฉายรังสีเสริมหลังผ่าตัด เพื่อทำลายเซลล์มะเร็งที่อาจหลงเหลืออยู่หลังผ่าตัด หรือกรณีที่ไม่สามารถผ่าตัดได้หมด ยังมีรอยโรคมะเร็งอยู่ เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำของมะเร็ง
2.3 ฉายรังสีเพื่อลดหรือบรรเทาอาการมะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะอื่น เช่น กระจายไปที่กระดูก ทำให้เกิดอาการปวด
โดยทั่วไป การฉายรังสีมักใช้ระยะเวลาประมาณ 5-6 สัปดาห์ จะฉายวันละ 1 ครั้ง ติดต่อกัน 5 วันใน 1 สัปดาห์
3. ยาเคมีบำบัดและยามุ่งเป้า มีวิธีบริหารยา โดยการฉีดเข้าหลอดเลือดโดยตรง หรือผสมในสารละลายน้ำเกลือหยดเข้าทางหลอดเลือดอย่างต่อเนื่อง หรือรับประทานยาเม็ด การรักษา มีดังนี้
3.1 ให้ยาเคมีบำบัดก่อนการผ่าตัด เพื่อลดขนาดก้อนมะเร็ง ทำให้การผ่าตัดได้ผลดียิ่งขึ้น แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก
3.2 ให้ยาเคมีบำบัดหลังการผ่าตัด เพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งที่อาจหลงเหลืออยู่ ซึ่งมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เพื่อให้หายจากโรคหรือมีระยะปลอดโรคนานที่สุด
3.3 ให้ยาเคมีบำบัดแบบประคับประคอง เมื่ออาการโรคมะเร็งลุกลามกระจายไปยังอวัยวะอื่น โรคมะเร็งอาจไม่หายขาด แต่การรักษาหวังให้ผู้ป่วยควบคุมหรือบรรเทาอาการได้ แพทย์อาจพิจารณาหยุดยาเคมีบำบัด ถ้าการรักษาไม่ได้ผลหรือผู้ป่วยทนต่ออาการข้างเคียงไม่ได้ จึงไม่มีการกำหนดจำนวนครั้งของการรักษาอย่างแน่นอน
ปัจจุบัน การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่มีความก้าวหน้ามากขึ้น มีการรักษาแบบมุ่งเป้า มีการพัฒนายากลุ่มโมโนโคลนอลแอนติบอดี (Monoclonal Antibodies) มาใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง เช่น ยา Bevacizumab, Cetuximab, Panitumumab โดยยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งขบวนการสร้างเซลล์มะเร็ง ทำให้การรักษามีความเฉพาะเจาะจงกับเซลล์มะเร็งชนิดนั้นๆ ดังนั้น ก่อนการรักษาด้วยยามุ่งเป้า ผู้ป่วยจำเป็นต้องตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาความผิดปกติของยีนจำเพาะ เช่น K-ras ถ้าผลการตรวจพบว่าเป็น wild type การรักษาด้วยยากลุ่มมุ่งเป้า ชื่อยาซีทูซิแมบ (Cetuximab) และยาพานิทูมูแมบ (Panitumumab) จะสามารถควบคุมโรคได้ดี แต่ถ้าผลการตรวจยีนเป็นชนิดกลายพันธุ์ (mutation) การใช้ยาชนิดนี้ไม่มีประโยชน์
@@@@@@@@
...
แหล่งข้อมูล
คุณประไพ เชิงทวี พยาบาลเฉพาะทางโรคมะเร็ง (ผู้ชำนาญการพิเศษ) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
อ่านเพิ่มเติม