โรคมะเร็งที่พบเป็นอันดับที่ 3 ของคนไทย ผู้ป่วยส่วนใหญ่กว่าจะรู้ว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่เมื่อมีอาการขับถ่ายปกติ เช่น ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ถ่ายมีมูกเลือด ท้องผูก ปวดเบ่งถ่ายตลอดเวลา อุจจาระลำเล็กลง ก็มักพบโรคในระยะที่เป็นมากแล้ว ซึ่งมีโอกาสเสียชีวิตสูง การตรวจคัดกรองเพื่อป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือการมาพบแพทย์ทันทีตั้งแต่มีอาการผิดปกติในระยะเริ่มแรกเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะสำหรับโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ถ้ารู้เร็ว รักษาเร็ว และถูกวิธี จะมีโอกาสหายมากขึ้น วันนี้คอลัมน์ ศุกร์สุขภาพ จะพาไปรู้จักโรคนี้กัน รวมถึงสาเหตุเกิดโรคนี้

“ลำไส้ใหญ่ และทวารหนัก” เป็นอวัยวะในช่องท้องที่อยู่ท้ายสุดของทางเดินอาหาร มีความยาวประมาณ 150 เซนติเมตร แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่

ส่วนที่ 1 ซีกัม (caecum) เป็นลำไส้ใหญ่ส่วนต้นเหนือท้องน้อย อยู่ทางด้านขวา มีไส้ติ่งออกมาขนาดเท่านิ้วก้อย

ส่วนที่ 2 โคลอน (colon) แบ่งเป็น 3 ส่วนย่อย ดังนี้

2.1 ลำไส้ใหญ่ส่วนทอดขึ้นบน เป็นส่วนที่ยื่นตรงขึ้นไปเป็นแนวตั้งฉากทางด้านขวาของช่องท้อง ขึ้นข้างบนไปจนชิดตับ

2.2 ลำไส้ใหญ่ส่วนขวาง เป็นส่วนที่วางพาดตามแนวขวางของช่องท้อง ข้ามไปทางด้านซ้ายลำตัวจนถึงบริเวณใต้ม้าม

2.3 ลำไส้ใหญ่ส่วนทอดลงล่าง เป็นส่วนที่ดิ่งลงมาเป็นแนวตั้งฉาก อยู่บริเวณเชิงกรานซีกซ้าย ส่วนปลายจะขดตัวคล้ายตัวเอส (S) เรียกว่าซิกมอยด์ และจะต่อกับลำไส้ตรง

ส่วนที่ 3 ลำไส้ตรง (rectum) เป็นลำไส้ใหญ่ส่วนสุดท้าย อยู่แนวกลางลำตัว ปลายของไส้ตรงจะเปิดสู่ภายนอกทางทวารหนัก

...

หน้าที่ของลำไส้ใหญ่ มีดังนี้

1. ดูดน้ำ วิตามิน แร่ธาตุ (โซเดียม และโพแทสเซียม) และน้ำตาลกลูโคสที่เหลือค้างอยู่ในกากอาหาร กลับเข้าสู่หลอดเลือดฝอย

2. รับ และเก็บกากใยอาหาร

3. สร้างน้ำเมือกจากผนังลำไส้ใหญ่ด้านใน

4. เป็นที่อยู่ของแบคทีเรียหลายชนิดที่มีประโยชน์ และไม่เกิดโทษ เช่น แบคทีเรียที่ช่วยสังเคราะห์วิตามินบี 12 และวิตามินเค

ถ้ามีเชื้อโรคเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ จะทำให้ลำไส้ใหญ่ไม่สามารถดูดน้ำกลับสู่เลือดได้ ทำให้เกิดอาการท้องร่วง และถ้ากากอาหารอยู่ในลำไส้ใหญ่นานเกินไป จะถูกลำไส้ใหญ่ดูดน้ำออกมามาก ทำให้เกิดอาการท้องผูก

จะเห็นได้ว่า “ลำไส้ใหญ่” เป็นอวัยวะที่สำคัญมากอวัยวะหนึ่งของร่างกาย หากเกิดความผิดปกติกับลำไส้ใหญ่ ก็จะส่งผลเสียด้านอื่นๆ ต่อร่างกายตามมา ซึ่งในบทความนี้จะกล่าวถึง “มะเร็งลำไส้ใหญ่” ซึ่งเป็นโรคที่พบประมาณร้อยละ 10.3 ของผู้ป่วยมะเร็งทั้งหมด พบมากเป็นอันดับ 3 ทั้งในเพศหญิง และเพศชาย (ข้อมูลปี 2561)

รู้จักมะเร็งลำไส้ใหญ่

“มะเร็งลำไส้ใหญ่” เป็นโรคที่เกิดจากเซลล์เยื่อบุผนังลำไส้ใหญ่เปลี่ยนแปลง และเจริญเติบโตผิดปกติ จนไม่สามารถควบคุมได้ แบ่งเป็น มะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนโคลอน (colon) และมะเร็งลำไส้ตรง (rectum)

“มะเร็งลำไส้ใหญ่” เกิดจากการกลายพันธุ์ของเซลล์ ทำให้มีการเพิ่มขึ้นของขนาดเยื่อบุที่เติบโตเร็ว เซลล์เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เป็นความผิดปกติในระยะก่อนเป็นมะเร็ง ต่อมาเกิดติ่งเนื้อของเยื่อบุลำไส้แตกกิ่งแล้วกลายเป็น “มะเร็ง” ในที่สุด

สาเหตุ และปัจจัยเสี่ยง

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่แน่ชัด แต่มีปัจจัยบางอย่างเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ ดังนี้

- อายุ ผู้สูงอายุมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มากกว่าผู้ที่มีอายุน้อย และร้อยละ 90 ของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่มีอายุมากกว่า 50 ปี

- ประวัติมะเร็งในครอบครัว ถ้าบุคคลในครอบครัว ญาติสายตรงลำดับแรก ได้แก่ พ่อ แม่ พี่น้อง มีประวัติเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยเฉพาะเมื่อเกิดโรคในอายุน้อยกว่า 60 ปี จะมีโอกาสเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้มากกว่าคนทั่วไป

- ผู้ที่เคยเป็นโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง หรือมีติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่

- โรคทางพันธุกรรมบางชนิด เช่น Hereditary nonpolyposis colon cancer (HNPCC หรือ Lynch syndrome) และ Familial adenomatous polyposis (FAP) เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งลำไส้มากขึ้น

- ผู้ที่เคยมีประวัติเป็นมะเร็งรังไข่ มดลูก หรือเต้านม จะมีโอกาสเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้มากกว่าคนปกติ

- ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงจะกระตุ้นให้เกิดการหลั่งกรดน้ำดีมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการระคายเคืองของเยื่อบุของผนังลำไส้ และทำให้เกิดการแบ่งตัวของเยื่อบุผนังลำไส้มากขึ้น นอกจากนี้อาหารปิ้งย่าง รมควัน จะมีสารก่อมะเร็ง การรับประทานผัก ผลไม้น้อย การสูบบุหรี่ และดื่มสุราจัด

...

การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ มีดังนี้

1. กลุ่มประชาชนทั่วไป คือ กลุ่มที่ไม่มีอาการ และไม่มีปัจจัยเสี่ยง ไม่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็ง ไม่มีอาการผิดปกติทางระบบลำไส้ใหญ่ และไส้ตรง แนะนำให้ตรวจเริ่มต้นที่อายุ 50 ปีขึ้นไป โดยมีหลักการตรวจ ดังนี้

     1.1 ตรวจอุจจาระทุกปี เพื่อหาเลือดในอุจจาระ ก่อนตรวจควรงดอาหารที่มีเนื้อแดง ผักผลไม้สีแดง วิตามินซี ยาแก้ปวด เช่น แอสไพริน บูเฟน

     1.2 การตรวจทางทวารหนัก

     นอกจากนี้ควรตรวจอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ร่วมด้วย

          1. ส่องกล้องลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย ทุก 5 ปี หรือร่วมกับการตรวจสวนแป้งลำไส้ใหญ่ ทุก 5 ปี

          2. การตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่ ทุก 10 ปี

          3. การตรวจลำไส้ใหญ่ด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) colonography ทุก 5 ปี

สำหรับการเจาะเลือดหาสารบ่งชี้โรคมะเร็ง Carcino embryonic antigen (CEA) พบว่า ไม่มีประโยชน์สำหรับการตรวจคัดกรองมะเร็ง เนื่องจากผลการตรวจไม่จำเพาะ ค่า CEA ที่สูงกว่าปกติ อาจพบได้ในโรคลำไส้อักเสบ โรคตับอักเสบ ตับอ่อนอักเสบ หรือโรคเรื้อรังอื่นๆ เช่น เบาหวาน หรือในคนที่สูบบุหรี่จัด

...

2. กลุ่มเสี่ยงสูง ได้แก่

     2.1 ผู้มีประวัติมะเร็งลำไส้ใหญ่ และไส้ตรงในครอบครัว แนะนำให้ส่องกล้องลำไส้ใหญ่ตั้งแต่อายุ 40 ปี และควรตรวจก่อน 10 ปี ในรายที่มีญาติสายตรงลำดับแรก คือ พ่อแม่ พี่น้องท้องเดียวกันเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ เช่น ถ้าญาติเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่อายุ 40 ปี ควรตรวจตั้งแต่อายุ 30 ปี ถ้าหากไม่พบความผิดปกติ แนะนำให้ตรวจติดตามทุก 3-5 ปี

     2.2 ผู้มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ และทวารหนัก ชนิด Familial adenomatous polyposis (FAP) แนะนำให้ส่องกล้องลำไส้ใหญ่ตั้งแต่อายุ 10-15 ปี ตรวจทุกปี จนอายุครบ 24 ปี จากนั้นตรวจทุก 2 ปี จนอายุครบ 34 ปี ตรวจทุก 3 ปี จนอายุครบ 44 ปี จากนั้นทุก 3-5 ปีไปตลอด และควรตรวจเลือดหาความผิดปกติของยีนด้วย

สัปดาห์หน้า ยังมีความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ต่อ รอติดตามกันนะคะ

@@@@@@@@@@

แหล่งข้อมูล
คุณประไพ เชิงทวี พยาบาลเฉพาะทางโรคมะเร็ง (ผู้ชำนาญการพิเศษ) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล