หากมองย้อนกลับไปในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ปีหลัง จะพบว่า “ปัญหาสุขภาพ” ได้กลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ถูกให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ทั้งการก่อตัวของโรคระบาดระดับวิกฤตการณ์อย่างโควิด-19 ที่ทำให้ทุกฝ่ายต่างเล็งเห็นว่าการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงเป็นเรื่องจำเป็น ไปจนถึงการที่คำว่า “สังคมสูงอายุ” ได้ขยับเข้ามาใกล้ตัวมากขึ้น หลายประเทศได้เข้าสู่สังคมสูงวัยแล้ว ซึ่งรวมไปถึงประเทศไทยที่เราเองก็ก้าวสู่สถานการณ์ดังกล่าวแบบเต็มตัวตั้งแต่ปี 2022 ด้วยจำนวนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 12 ล้านคน คิดเป็น 18.3% ซึ่งเข้าหลักเกณฑ์สังคมสูงวัยเรียบร้อย
ไม่ว่าจะเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บก็ดี หรือเรื่องของสังคมสูงวัยที่มาถึงโดยไม่ทันตั้งตัวก็ตาม สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ “เวชศาสตร์การป้องกันโรค (Preventive Care)” ได้รับความสนใจมากขึ้นทุกขณะ ในฐานะตัวแปรสำคัญที่จะช่วยให้ใช้ชีวิตในโลกทุกวันนี้ได้อย่างมีคุณภาพและมีความสุขสมวัย โอกาสนี้ไทยรัฐออนไลน์จึงขอชวนผู้อ่านมาทำความรู้จักกับศาสตร์แห่งการป้องกันโรคร่วมกันในบทสัมภาษณ์พิเศษ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรภา หัตถโกศล ภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หรืออาจารย์นุ่น ที่จะมาเล่าให้เราฟังว่าเหตุใดการป้องกันถึงเป็นเรื่องสำคัญ และการใส่ใจกับโภชนาการจะช่วยให้เราก้าวสู่สังคมสูงวัยไปด้วยกันอย่างมั่นใจได้อย่างไร
เตรียมร่างให้พร้อมสู้กับ “เวชศาสตร์การป้องกันโรค (Preventive Care)”
“เวชศาสตร์การป้องกันโรคคือการเข้าไปดูแลการใช้ชีวิต เรามุ่งเข้าไปทำให้ร่างกายเค้าแข็งแรง จากนั้นเราจะย้อนกลับมาเห็นว่าปัญหาของเค้าคืออะไร แล้วจะมีหนทางแก้ปัญหาอย่างไร ดูเรื่องของอาหาร โภชนาการ คุณภาพชีวิต”
อาจารย์นุ่นเกริ่นให้เราฟังให้เบื้องต้นก่อนจะเล่าต่อไปว่าเวชศาสตร์การป้องกันโรคเป็นศาสตร์ที่มีการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง โดยหลักแล้วคือการเข้าไปสำรวจความเสี่ยงการเกิดโรคของแต่ละบุคคลเพื่อหาวิธีรับมือและชะลอโรคอย่างถูกต้องและยั่งยืน แบ่งเป็น 3 ระยะ โดยระยะแรกคือการมองหาความเสี่ยงเกิดโรค ไม่ว่าจะโรคทางกรรมพันธุ์ โรคที่อาจเกิดจากสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย โรคจากภูมิอากาศ ไปจนถึงไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตว่ามีความเสี่ยงอย่างไรบ้าง อาทิ มีการสูบบุหรี่ หรือดื่มแอลกอฮอล์หรือไม่ การนอนหลับ ขับถ่าย เป็นอย่างไร ชอบทานอาหารแบบไหน เป็นต้น ซึ่งการเข้าใจสิ่งเหล่านี้จะทำให้สามารถมองหาแนวทางป้องกันได้ดียิ่งขึ้น
ในระยะที่สองคือการดูแลควบคู่ไประหว่างที่เกิดโรคแล้ว อาทิ เมื่อเราติดโควิด หรือมีอาการของภูมิแพ้แล้ว จะป้องกันอย่างไรไม่ให้ลุกลาม หรือทำอย่างไรไม่ให้เกิดผลข้างเคียง รวมไปถึงทำอย่างไรให้ร่างกายกลับมาแข็งแรงโดยเร็วที่สุด และในระยะที่สามคือการป้องกันหลังจากที่รักษาโรคเสร็จสิ้น เช่น ในกรณีของอาการลองโควิด การติดตามเซลล์มะเร็ง หรืออาการของหลอดเลือดอุดตัน ที่จำเป็นต้องมีการวางแนวทางเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำหรือเกิดเหตุอะไรที่แย่กว่านั้น
การดูแลทั้งสามระยะของเวชศาสตร์การป้องกันโรคประกอบไปด้วยวิธีการต่างๆ ที่หลากหลาย ที่แพทย์จะแนะนำให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล นอกจากนี้เวชศาสตร์การป้องกันโรคยังครอบคลุมไปถึงการมองหาแนวทางต่างๆ ที่จะช่วยส่งเสริมให้เรามีสุขภาพแข็งแรง ต่อยอดไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีไปจนแก่ชรา สามารถช่วยเหลือตนเองโดยไม่ต้องเป็นภาระของใคร ซึ่งหากสังคมตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลตนเองด้วยเวชศาสตร์การป้องกันโรค สถานการณ์สังคมสูงวัยที่เรากำลังเผชิญร่วมกันก็อาจจะไม่น่าหวั่นใจอย่างที่คาด เพราะทุกคนยังคงสามารถทำกิจกรรมที่รักได้อย่างเต็มที่ ด้วยกำลังกายและกำลังใจที่สมบูรณ์
แต่การจะไปถึงจุดนั้น เราต้องใส่ใจกับเรื่องอะไรบ้าง อาจารย์นุ่นได้อธิบายให้เราฟังเพิ่มเติมว่า “ปัจจุบันจะเห็นว่าไทยเราเข้าสู่สังคมสูงวัยแล้วเรียบร้อยแล้ว ขณะเดียวกันผู้สูงอายุก็มีอายุยืนขึ้น อย่างไรก็ตามปัญหาที่ตามมากับผู้สูงอายุก็คือปัญหาสภาพร่างกายที่มันเป็นเหมือนกราฟที่ถดถอยลง ซึ่งพอมันเป็นอย่างนั้นก็ต้องการการดูแล ซึ่งเรื่องของการรักษามีภาครัฐเข้ามาช่วย แต่การดูแลให้คุณภาพชีวิตเขายังสามารถอยู่ในสังคม ยังทำงานได้ ก็ต้องมีการส่งเสริม ซึ่งเป็นเรื่องน่ากังวลที่ประเทศไทยมีประชาชนเพียง 48% เท่านั้นที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพกาย ซึ่งเป็นตัวเลขน้อยที่สุดในอาเซียน (ข้อมูลจาก Meta Report 2024)”
อาจารย์นุ่นเสริมอีกว่าในปัจจุบันมีงานวิจัยออกมาว่ามนุษย์สามารถมีอายุได้ถึง 120-140 ปี แม้ฟังดูเป็นตัวเลขที่น่าทึ่งแต่ก็มีอยู่ 3 พื้นที่ในโลกที่สามารถไปถึงจุดนั้นได้ ประกอบไปด้วย โอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น, ซาดิเนีย ประเทศอิตาลี และโลมาลินดา ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งร่วมกันครองแชมป์เมืองที่มีประชากรอายุยืนมากที่สุด โดยจุดร่วมของทั้งสามเมืองนี้คือการเป็นเมืองที่เงียบสงบ ประชาชนใช้ชีวิตสบายๆ ไม่เคร่งเครียด มีวิถีชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติ ทานอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน ผ่านการแปรรูปน้อย ให้ความสำคัญกับการพักผ่อน และมีโครงสร้างพื้นฐานรวมถึงนโยบายที่สนับสนุนผู้สูงอายุให้ยังสามารถใช้ชีวิตร่วมกับชุมชนได้อย่างดี
จะเห็นได้ว่าจุดร่วมดังกล่าวล้วนสอดคล้องไปกับแนวทางของเวชศาสตร์การป้องกันโรค ซึ่งเราสามารถนำมาปฏิบัติตามได้เช่นกัน อาทิ ในเรื่องของวิถีชีวิตที่อาจจะลองปรับให้ช้าลง มองหาความสงบและเข้าหาธรรมชาติมากขึ้น เพื่อลดความเคร่งเครียดที่จะทำให้ฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) หลั่งมากเกินไปจนทำให้ระบบต่าง ๆ ของร่างกายทำงานไม่ปกติ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการพยายามพักผ่อนให้เพียงพอ หมั่นออกกำลังกายให้เหมาะสมตามช่วงวัย และที่สำคัญอย่างยิ่งคือการใส่ใจกับ “โภชนาการ” ซึ่งต้องครบถ้วนทั้ง 5 หมู่ และไม่ขาดสารอาหารที่จำเป็นไม่ว่าจะ คาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ “โปรตีน” หรือ “กรดอะมิโน” ตัวแปรสำคัญซึ่งเกี่ยวพันโดยตรงกับความแข็งแรงของกล้ามเนื้อซึ่งจะทำให้เราสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะยาว
“กรดอะมิโน” ตัวแปรสำคัญช่วยเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี
“กรดอะมิโนคือองค์ประกอบที่ย่อยที่สุดของโปรตีนหลังผ่านกระบวนการย่อยเพื่อให้ร่างกายสามารถดูดซึมได้ ซึ่งเซลล์ทุกเซลล์ของร่างกายประกอบไปด้วยโปรตีน และโปรตีนเป็นส่วนประกอบสำคัญของกล้ามเนื้อ ซึ่งการมีโปรตีนที่เพียงพอนอกจากจะทำให้กล้ามเนื้อแต่ละส่วน ไม่ว่าจะกล้ามเนื้อเรียบ กล้ามเนื้อลาย และกล้ามเนื้อหัวใจ มีความสมบูรณ์แข็งแรง ก็ยังทำให้กล้ามเนื้อสามารถยึดเกาะกับกระดูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีส่วนช่วยยึดเส้นผมไม่ให้หลุดร่วงง่าย ช่วยเผาผลาญพลังงาน ดังนั้นหากร่างกายได้รับโปรตีนและกรดอะมิโนที่จำเป็นไม่เพียงพอ ก็จะทำให้กล้ามเนื้อทั้งหมดทำงานได้ไม่เต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออายุมากขึ้นกล้ามเนื้อจะน้อยลง เมื่อกล้ามเนื้อน้อยลงก็ไม่สามารถที่จะไปมัดกระดูก พอมันแน่นไม่พอ กระดูกมันจะสลายออกมา นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงต้องทานโปรตีนให้เพียงพอเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อ”
อาจารย์นุ่นอธิบายถึงกลไกการทำงานของโปรตีน เผยให้เห็นความสำคัญของสารอาหารหลักชนิดนี้ ขณะเดียวกันยังเสริมอีกว่า กรดอะมิโนซึ่งเป็นผลผลิตจากโปรตีนนั้นแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ กรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกาย และกรดอะมิไม่จำเป็น
ในส่วนของกรดอะมิโนจำเป็น (Essential Amino Acid) เป็นกรดอะมิโนที่ร่างกายสร้างเองไม่ได้ จะได้รับจากอาหารที่กินเข้าไปเท่านั้น ประกอบไปด้วย 9 ชนิด ได้แก่ Histidine, Isoleucine, Leucine, Lysine, Methionine, Phenylalanine, Threonine, Tryptophan และ Valine ซึ่งในจำนวนนี้มีชนิดที่น่าสนใจคือกลุ่มของกรดอะมิโน BCAAs (Branched-Chain Amino Acids) ซึ่งประกอบไปด้วยกรดอะมิโนที่จำเป็น 3 ชนิด คือ Isoleucine, Leucine และ Valine โดยการศึกษาล่าสุดระบุว่ามีส่วนช่วยในการเสริมสร้างกล้ามเนื้อได้มากที่สุด ทำให้กล้ามเนื้อที่ถดถอยหรือได้รับบาดเจ็บกลับมาทำงานได้เร็วที่สุด ช่วยทำให้ร่างกายสามารถดูดซึมสารอาหารไปช่วยเสริมสร้างและซ่อมแซมกล้ามเนื้อได้มากขึ้น และยังช่วยเพิ่มความทนทานของกล้ามเนื้อได้อีกด้วย จึงอาจกล่าวได้ว่าการบริโภคกรดอะมิโนที่จำเป็นเป็นประจำควบคู่ไปกับการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม เป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันการสูญเสียมวลกล้ามเนื้ออันเนื่องมาจากอายุที่มากขึ้น ซึ่งจะทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ในระยะยาว
ภาพจาก https://www.ajinomoto.com/
ทั้งนี้ อาหารที่มีกรดอะมิโนจำเป็นอยู่ในปริมาณมาก ได้แก่ ไข่ เนื้อสัตว์ต่าง ๆ ถั่วเมล็ดแห้งต่าง ๆ ทั้งถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วแดง ถั่วดำ โดยอาหารเหล่านี้สามารถหาทานได้ง่าย มีประโยชน์ อย่างไรก็ตามในบางกรณีที่ระบบต่าง ๆ ของร่างกายไม่สามารถดูดซึมได้อย่างมีประสิทธิภาพก็อาจจำเป็นต้องเสริมจากแหล่งอื่น ๆ เพิ่มเติม
ปรับไลฟ์สไตล์สู่ศาสตร์แห่งการป้องกันโรคด้วยการเริ่มต้นที่ “รักตัวเอง”
อันที่จริงแล้วไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ให้ความสำคัญกับศาสตร์การป้องกันมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากบุคลากรทางการแพทย์ ผู้เกี่ยวข้องกับศาสตร์โภชนาการต่าง ๆ ไปจนถึงโครงการจากทางภาครัฐ เช่น แคมเปญจาก สสส. ที่มุ่งสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการบริโภคที่เหมาะสม ไปจนถึงนโยบายต่าง ๆ เช่นกฎหมายเรื่องน้ำตาล เป็นต้น
อย่างไรก็ตามกุญแจสำคัญที่สุดของการมีสุขภาพที่ดีนั้นไม่ใช่ใครอื่นหากแต่เป็น “ตัวเราเอง” เท่านั้น ที่ในวันนี้อาจจะถึงเวลาต้องปรับแนวคิดเพื่อ “รักตัวเอง” อย่างเหมาะสม ผ่านการดูแลทั้งสุขภาพใจและสุขภาพกายด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้น รวมไปถึงในส่วนที่สำคัญเป็นพิเศษคือในเรื่องของโภชนาการ ที่จำเป็นต้องเลือกทานให้ครบถ้วน ใส่ใจกับปริมาณและคุณภาพของ “กรดอะมิโน” ซึ่งจะทำให้เราก้าวสู่ช่วงวัยที่ท้าทายได้อย่างมั่นใจมากยิ่งขึ้น โดยอาจารย์นุ่นได้ฝากความเห็นทิ้งท้ายได้อย่างน่าสนใจว่า
ภาพจาก https://www.ajinomoto.com/
“เรามักให้สิ่งที่ดีกับคนที่เรารัก แต่เรามักจะให้ตัวเราเองในสิ่งที่เราชอบ เราลองกลับกันแล้วใช้สติเป็นกรรมการกับตัวเองเสมอ ถามตัวเองว่าอันนี้ที่ฉันกินมันจำเป็นต้องเท่านี้ไหม น้อยกว่านี้ได้ไหม หรือผักหรือผลไม้อะไรที่มันดี เรากินมากกว่านี้อีกนิดได้ไหม พยายามรักตัวเอง รักหัวใจ รักร่างกาย จากนั้นมันก็จะรักในการกินในสิ่งที่ดีค่ะ”
สำหรับผู้ที่สนใจเวชศาสตร์การป้องกันโรครวมถึงเรื่องของโปรตีนและกรดอะมิโน ล่าสุดทางด้านกลุ่มบริษัทอายิโนะโมะโต๊ะผู้เชี่ยวชาญด้านกรดอะมิโนระดับโลกที่ได้ทำการศึกษาศาสตร์ของกรดอะมิโนมายาวนานเกือบ 100 ปีตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง และมีความตั้งใจอยากเห็นคนไทยหันมาใส่ใจตนเองมากขึ้นตามแนวคิด กินดี มีสุข (Eat well, Live well) กำลังจัดแคมเปญดี ๆ อย่าง “Life is Full of Amino Acids ชีวิตหมุนรอบกรดอะมิโน” บอกเล่าความสำคัญของกรดอะมิโนที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีและยั่งยืน เพื่อให้เราทุกคนเตรียมความพร้อมสำหรับวันนี้และอนาคต โดยสามารถติดตามกิจกรรมที่น่าสนใจต่าง ๆ ได้เลยที่ช่องทางต่าง ๆ ของ Ajinomoto https://www.ajinomoto.co.th/th