ข้อเข่าเป็นอวัยวะสำคัญอย่างหนึ่งของร่างกาย เพราะทำหน้าที่ในการรับน้ำหนักตัวแทบตลอดเวลา ทั้งใช้ในการเดิน ยืน นั่ง ตลอดจน Activity ต่างๆ ในชีวิตประจำวันที่ต้องมีการขยับช่วงขา อย่างการออกกำลังกาย การเล่นกีฬา ซึ่งเมื่อมีการใช้งานข้อเข่าหนักๆ ติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือเกิดอุบัติเหตุกะทันหันที่กระทบกับข้อเข่า อาจนำไปสู่ภาวะข้อเข่าเสื่อมได้ โดยมักมีอาการปวดเข่ารุนแรง ขาโก่งผิดรูป จนไม่สามารถทำกิจวัตรได้อย่างปกติ
ในปัจจุบันเทคโนโลยีการแพทย์มีการพัฒนามากขึ้น หลายคนอาจเคยได้ยิน หรือเห็นข่าวเกี่ยวกับการรักษาข้อเข่าเสื่อมด้วยเทคโนโลยีการแพทย์ต่างๆ อย่างการผ่าตัด และอาจมีข้อสงสัยว่าหากข้อเข่าเสื่อมแล้ว จะสามารถรักษาให้หายด้วยการผ่าตัดข้อเข่าได้ไหม? เรามีเกร็ดความรู้เล็กๆ เกี่ยวกับการรักษาข้อเข่าเสื่อมด้วยการผ่าตัดในปัจจุบันมาฝากกัน
ข้อเข่าเสื่อม รักษาด้วยการผ่าตัดแล้วสามารถหายเป็นปกติได้ไหม
คำถามแรกที่หลายคนสงสัย คือหากข้อเข่าเสื่อมแล้ว สามารถรักษาให้หายเป็นปกติด้วยการผ่าตัดได้ไหม คำตอบก็คือ การผ่าตัดเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยบรรเทาอาการหรือภาวะข้อเข่าเสื่อม ช่วยแก้ไขอาการปวดเข่าจากความเสื่อม แก้ไขมุมขาที่ผิดรูป ช่วยเพิ่มคุณภาพการใช้งานเข่าให้ดีมากยิ่งขึ้น แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับข้อเข่าเสื่อมจะไม่สามารถรักษาให้มีสภาพเดิมได้ 100% โดยวิธีในการดูแลและบรรเทาอาการข้อเข่าเสื่อมมีหลายแบบ หลายระดับ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการและสภาพร่างกายของผู้ป่วยแต่ละคนนั่นเอง
การรักษาข้อเข่าเสื่อมโดยการผ่าตัดมีแบบไหนบ้าง
สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากและมีอาการเรื้อรัง เช่น ปวดขาและร่างกายเวลาเดินลงน้ำหนัก เข่ามีความโก่งมากขึ้นเรื่อยๆ เข่าและข้อเข่าไม่สามารถเหยียดได้สุด หรืองอได้น้อยลง แพทย์มากประสบการณ์อาจประเมินให้รักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งจะต้องมีการวิเคราะห์อาการและสภาพร่างกายอย่างละเอียด โดยจะช่วยแก้ไขอาการปวดเข่าจากความเสื่อม แก้ไขมุมขาที่ผิดรูป ช่วยเพิ่มคุณภาพการใช้งานเข่าให้กลับมาใช้งานได้ดีมากที่สุด ซึ่งในปัจจุบันจะมีการผ่าตัดเพื่อรักษาข้อเข่าเสื่อมอยู่ 2 ลักษณะ คือ การผ่าตัดโดยไม่ต้องเปลี่ยนข้อเข่าเทียม และการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ซึ่งต่างกันดังนี้
- การผ่าตัดโดยไม่ต้องเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
การผ่าตัดโดยไม่ต้องเปลี่ยนข้อเข่าเทียมนั้นเหมาะสำหรับเคสข้อเข่าเสื่อมในกลุ่มคนไข้ที่อายุยังน้อย หรือมีอายุต่ำกว่า 60 ปี ซึ่งจะมีการผ่าตัดอยู่สองแบบ คือ การผ่าตัดปรับมุมการรับน้ำหนักของข้อเข่า และการส่องกล้องเพื่อล้างข้อเข่าและตบแต่งร่องรอยความเสื่อมในข้อเข่า โดยหลังผ่าตัดคนไข้สามารถกลับไปใช้งานข้อเข่าได้เป็นปกติในระยะเวลาไม่นาน ประมาณ 3 เดือน ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดแบบข้างเดียว หรือการผ่าตัดพร้อมกันทั้งสองข้างก็ตาม
- การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
สำหรับคนไข้ที่อายุเยอะและเกิดอาการรุนแรงจนไม่สามารถใช้งานข้อเข่าได้เลย อาจต้องทำการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ซึ่งเป็นการผ่าตัดเพื่อนำผิวกระดูกที่เสื่อมออกและทดแทนด้วยการใส่อุปกรณ์ข้อเข่าเทียมเข้าไป เพื่อช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด แก้อาการขาโก่ง และข้อเข่าผิดรูปนั่นเอง
ปัจจุบันเทคโนโลยีการแพทย์มีการพัฒนามากขึ้น ข้อเข่าเทียม เป็นวัสดุทำมาจากโลหะผสมไทเทเนียมและโคบอลต์โครเมียม ส่วนตรงกลางที่รองรับการเคลื่อนไหวของข้อเทียม เป็นวัสดุที่ทำมาจากพลาสติกโพลีเอทีลีน ซึ่งมีความปลอดภัยต่อร่างกาย และมีอายุการใช้งานที่ค่อนข้างยาวนาน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเทคนิคและความแม่นยำของศัลยแพทย์ สภาพร่างกายของคนไข้ และสภาพการใช้งานข้อเข่าของแต่ละคนด้วย
ภาวะหรือโรคข้อเข่าเสื่อม ในแต่ละคนมีอาการแตกต่างกันไป บางคนอาจมีอาการเพียงเล็กน้อย รู้สึกปวดตึงที่เข่า แต่ยังสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ บางคนอาจมีการรุนแรงจนทำให้ขาโก่งผิดรูป และไม่สามารถทำกิจกรรม หรือกิจวัตรประจำวันได้อย่างปกติเลย โดยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมที่เป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่สามารถบรรเทาอาการข้อเข่าเสื่อมรุนแรง ทำให้ผู้ป่วยโรคนี้สามารถกลับมาทำกิจกรรมต่างๆ ได้ดีมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามการป้องกันและดูแลรักษาสุขภาพกระดูกและกล้ามเนื้อเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด แนะนำให้ทุกคนรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ควบคุมน้ำหนักตัวอย่างเหมาะสม พยายามหลีกเลี่ยงหรืองดกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติกับข้อเข่า เพื่อถนอมและรักษาข้อเข่าให้สามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพไปกับเราอีกนาน
สำหรับใครมีอาการปวดข้อเข่า รู้สึกเจ็บเวลาต้องเดินลงน้ำหนัก หรือทำกิจกรรมต่างๆ ต้องการตรวจเช็กสภาพข้อเข่า หาแนวทางการดูแลรักษาที่เหมาะกับตนเอง ที่ KDMS Hospital โรงพยาบาลเฉพาะทางกระดูกและข้อ ข้อดีมีสุข เรามีโปรแกรมตรวจสุขภาพที่ครบครัน พร้อมให้คำปรึกษาและวางแผนการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม สามารถเข้าไปปรึกษาและหาแนวทางการรักษาได้ที่ KDMS Hospital ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม โทร. 02-080-8999 หรือ Line: @kdmshospital
ข้อมูลอ้างอิง
โรงพยาบาลเฉพาะทางกระดูกและข้อ ข้อดีมีสุข. (2561). การผ่าตัดรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม และการเปลี่ยนข้อเข่าเทียม. สืบค้น 9 มกราคม 2566, จาก https://kdmshospital.com/article/joint-surgery/