You are what you eat ยังคงเป็นวลียอดฮิตที่พิสูจน์ได้ตลอดกาล เพราะล่าสุดนักโภชนาการจากมหาวิทยาลัยนอตติงแฮมของอังกฤษ นำเสนอข้อมูลการกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพที่เรียกว่า One Meal A Day หรือ OMAD ว่าเป็นการกินที่ส่งผลดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่กำลังจะลดน้ำหนัก
ดร.อะแมนดา เอเวอรี ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการจากมหาวิทยาลัยนอตติงแฮม ตีพิมพ์บทความของเธอในเว็บไซต์วิชาการ The Conversation ว่า โอแมดคือรูปแบบหนึ่งของการอดอาหารเป็นช่วงๆ (Intermittent Fasting-IF) แต่เป็นแนวทางปฏิบัติที่ค่อนข้างสุดโต่ง เพราะต้องการให้ร่างกายได้รับประโยชน์ในการฟื้นฟูสุขภาพ รักษาโรค และยืดอายุขัย ซึ่งเป็นข้อดีที่เหนือกว่าผลของการอดอาหารเพียงวันละสิบกว่าชั่วโมงตามปกติ
อย่างไรก็ตาม ดร.เอเวอรียอมรับว่า ยังมีผลวิจัยทางการแพทย์น้อยชิ้นที่มาช่วยยืนยันและรับรองถึงประโยชน์ของการกินแบบโอแมด ขณะที่ก็มีคำถามซึ่งนักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบอีกมากมายว่าการกินวันละมื้อส่งผลอย่างไรต่อกลไกการทำงานของร่างกาย
ที่ผ่านมาการศึกษาเกี่ยวกับโอแมดมักทำในสัตว์ทดลองมากกว่ามนุษย์ ดร.เอเวอรี บอกว่า ผลวิจัยเรื่องกินวันละมื้อเดียวแบบโอแมดในมนุษย์ ปัจจุบันมีอยู่เพียงการทดลองเดียวเท่านั้น ทั้งยังเป็นการวิจัยกลุ่มเล็กกับอาสาสมัครเพียง 11 คน โดยทีมผู้วิจัยกำหนดให้อาสาสมัครกลุ่มหนึ่งกินอาหาร 2 แบบ โดยใน 11 วันแรกจะกินอาหารเย็นเพียงวันละมื้อ และใน 11 วันต่อมาจะกินอาหารวันละ 3 มื้อ โดยพลังงานที่ได้รับทั้งหมดในหนึ่งวันจะคิดเป็นปริมาณแคลอรีเท่ากับที่กินในมื้อเดียวก่อนหน้านั้น
...
ผลการทดลองพบว่า เมื่ออาสาสมัครได้กินอาหารวันละมื้อ น้ำหนักตัวและมวลไขมันในร่างกายลดลงมากกว่า เมื่อเทียบกับตอนกินอาหารที่ให้พลังงานเท่ากันแบบแบ่งเป็น 3 มื้อ
ทั้งนี้ นักโภชนาการหรือเทรนเนอร์ผู้ให้คำแนะนำด้านสุขภาพบางคนมักจะอ้างถึงข้อดีของโอแมด โดยอนุมานจากผลการทดลองอดอาหารในกรอบระยะเวลาที่สั้นกว่า รวมทั้งผลของการอดอาหารแบบ 5:2 ซึ่งจะมีการกินอาหารแคลอรีต่ำเป็นบางวันในรอบสัปดาห์ สลับกับการกินตามปกติ
ผลการทดลองอดอาหารเป็นช่วงๆ (IF) ที่มีการกินอาหารตั้งแต่ 2-3 มื้อต่อวัน สามารถปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบเผาผลาญหรือเมตาบอลิซึม รวมทั้งช่วยลดความดันโลหิต ลดระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด ลดการอักเสบภายในร่างกาย ซึ่งจะเป็นการป้องกันและรักษาโรคอ้วน โรคเบาหวานประเภทที่ 2 รวมทั้งโรคหัวใจและหลอดเลือดอย่างได้ผล ทำให้หลายคนเกิดคิดเหมาเอาเองว่า การอดอาหารที่เคร่งครัดกว่านั้นน่าจะส่งผลดียิ่งขึ้นไปอีกหลายเท่า ซึ่งล่าสุดมีคำยืนยันจากผู้ที่ทดลองกินอาหารแบบ คริส มาร์ติน นักร้องนำชาวอังกฤษจากวงโคลด์เพลย์ และนักร้องชาวอเมริกัน บรูซ สปริงส์ทีน ต่างก็ออกมาเผยว่าได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร จากการกินวันละ 3 มื้ออย่างคนทั่วไป มาเป็นการกินแบบ “โอแมด” ซึ่งดีต่อสุขภาพยิ่งกว่าแทน การออกมาเปิดเผยพฤติกรรมการกินอาหารของคนดังทั้งสองคนดังกล่าว ทำให้การกินอาหารแบบโอแมดกำลังขึ้นแท่นวิธีดูแลรักษาสุขภาพยอดนิยม โดยถือเป็นเทรนด์ที่มาแรงในหมู่คนดังทั่วโลกตอนนี้
ทั้งนี้ นักโภชนาการบางส่วนเชื่อว่า “โอแมด” หรือการจำกัดเวลากินอาหารให้เหลือเพียงครั้งเดียวต่อวัน (One Meal A Day-OMAD) นอกจากจะช่วยควบคุมน้ำหนัก ดูแลสุขภาพของระบบทางเดินอาหารแล้ว ยังกระตุ้นการสร้างเซลล์ใหม่และฟื้นฟูเซลล์ร่างกาย รวมทั้งลดความเสี่ยงโรคมะเร็งด้วย
อย่างไรก็ตาม ด้านที่เป็นจุดอ่อนของการกินอาหารแบบโอแมดที่พบก็คือ การสูญเสียมวลกล้ามเนื้อและความหนาแน่นของมวลกระดูก ซึ่งทำให้เสี่ยงต่อภาวะกล้ามเนื้อลีบอ่อนแรงและกระดูกเปราะหักง่ายกว่า หากต้องกินเพียงวันละมื้อติดต่อกันเป็นเวลานาน ซึ่งตรงกันข้ามกับผลการทดลองในสัตว์นั้นออกมาตรงกันข้ามกันโดยสิ้นเชิง
หนูที่กินอาหารมื้อใหญ่วันละมื้อกลับมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเยอะกว่า เมื่อเทียบกับหนูทดลองที่ได้กินวันละหลายมื้อ ซึ่งผลวิจัยที่กลับตาลปัตรนี้ บ่งชี้ถึงความไม่แน่นอนของประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการกินแบบโอแมด โดยการเกิดผลดีหรือไม่นั้นอาจขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย อย่างเช่น เพศ วัย พื้นฐานสุขภาพของแต่ละคน รวมทั้งประเภทและสัดส่วนของอาหารที่รับประทานด้วย
...
ดร.เอเวอรีอธิบายเพิ่มเติมว่า ผลวิจัยเท่าที่มีอยู่ชี้ถึงความเสี่ยงต่อการขาดสารอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ผู้ที่กินวันละมื้อเป็นประจำ เพราะเป็นเรื่องยากมากที่จะได้รับพลังงาน โปรตีน ไฟเบอร์หรือกากใย รวมทั้งวิตามินและแร่ธาตุที่สำคัญได้ครบ ซึ่งในที่สุดจะนำไปสู่อาการท้องผูก ลำไส้แปรปรวน และการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อได้ ทำให้ในภาพรวมแล้ว นักโภชนาการส่วนใหญ่ไม่แนะนำให้คนทั่วไปลดน้ำหนักหรือรักษาสุขภาพด้วยการกินแบบโอแมด ทั้งไม่แนะนำให้เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ที่มีบุตรยาก แม่ที่กำลังให้นมบุตร และผู้ที่เสี่ยงมีภาวะผิดปกติในการกิน หันมาใช้วิธีนี้ แต่สำหรับคนทั่วไป หากต้องการกินอาหารแบบโอแมดต้องอยู่ภายใต้การดูแลจากนักโภชนาการอย่างใกล้ชิด เพราะจะต้องให้คำแนะนำเรื่องการกินอาหารที่มีคุณค่าสูง รวมทั้งการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอย่างเป็นระบบ
“คนที่กินเพียงวันละมื้อจะต้องได้รับโปรตีนมากพอในครั้งเดียว และยังต้องกินผัก ผลไม้ ถั่ว และธัญพืชเต็มเมล็ดให้เพียงพอ เพื่อที่จะได้รับสารอาหารครบถ้วน รวมทั้งต้องบริโภคผลิตภัณฑ์นมในปริมาณมากเป็นพิเศษด้วย เพื่อให้ได้แคลเซียมและไอโอดีนตามเกณฑ์ที่กำหนด ส่วนเรื่องการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้นจะมีความสำคัญมากขึ้นไปอีก ในกรณีที่คนผู้นั้นกินแบบโอแมดโดยเน้นอาหารจากพืชเป็นหลัก (plant-based)” ดร.เอเวอรีสรุป.
คลิกอ่านคอลัมน์ "สมาร์ทไลฟ์" เพิ่มเติม