ปัจจุบันการตรวจหาเชื้อเอชไอวีไม่เป็นเรื่องยุ่งยากอีกต่อไป ด้วยมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของห้องปฏิบัติการค่อนข้างมาก สามารถตรวจหาได้เกือบทุกสถานพยาบาล นอกจากนั้น ยังสามารถตรวจเบื้องต้นด้วยตนเองได้อีกด้วย ซึ่งจะขอกล่าวถึง “การตรวจมาตรฐานที่ทำในสถานพยาบาล” ก่อน

การตรวจหาเชื้อเอชไอวีแบบมาตรฐาน โดยการเจาะเลือดคัดกรองหาเชื้อโดยทั่วไป มักเรียกว่า “การตรวจหาแอนติบอดีต่อเชื้อเอชไอวี (Anti-HIV)” โดยอาจมีการตรวจเฉพาะแอนติบอดี หรือตรวจทั้งแอนติบอดีและโปรตีนพียี่สิบสี่แอนติเจนไปพร้อมๆ กันได้ โดยการเจาะจากเส้นเลือดดำ จะได้ผลค่อนข้างเร็วประมาณ 1 ชั่วโมง หากทราบว่าเป็นผลบวก จะแนะนำให้เจาะเลือดซ้ำอีกครั้งเพื่อให้ความมั่นใจว่าผลถูกต้องแน่นอน โดยเน้นว่าถูกคน ถูกเลือด เพราะการติดเชื้อเอชไอวีนั้น ต้องเข้าสู่ระบบการรักษาอย่างรวดเร็ว และในขณะนี้ยังต้องกินยาตลอดชีวิต ดังนั้น การสร้างความมั่นใจในการตรวจจึงมีความสำคัญมาก

หากมีความเสี่ยงสูงในระยะเวลาไม่ถึง 4 สัปดาห์ บางรายอาจจะยังตรวจด้วยระบบภูมิคุ้มกันวิทยา (immunology) ดังกล่าวข้างต้นไม่พบ อาจพิจารณาตรวจด้วยวิธีทางโมเลกุล หรือเรียกว่า พีซีอาร์ (PCR) ซึ่งจะเป็นการหาเชื้อสารพันธุกรรมที่จำเพาะกับไวรัสเอชไอวีในตัวผู้ป่วยทันที โดยไม่จำเป็นต้องรอดูการตอบสนองของร่างกาย จึงอาจทราบผลเร็วมากขึ้นหลังจากรับเชื้อประมาณ 2-3 สัปดาห์เท่านั้น วิธีนี้ยังนิยมใช้ตรวจทารกที่เกิดจากมารดาที่ติดเชื้อเอชไอวีที่อายุไม่เกิน 2 ปีอีกด้วย

การตรวจคัดกรองด้วยตนเอง

เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น เพราะสะดวก รวดเร็ว และสามารถทำที่ใดก็ได้ โดยมีทั้งวิธีการทดสอบด้วยเลือดปลายนิ้ว หรือการใช้สารคัดหลั่งและเนื้อเยื่อบุปากตรวจ โดยมีหลายยี่ห้อที่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยา โดยระหว่างการตรวจมีข้อแนะนำที่สำคัญคือให้ปฏิบัติตามขั้นตอนอย่างถูกต้อง แม่นยำ โดยเฉพาะการจับเวลาแต่ละขั้นตอน เพราะมิฉะนั้นอาจเกิดการแปลผลผิดพลาดได้ หากตรวจด้วยตนเองแล้วเป็นผลบวก หรือไม่แน่ใจว่าบวกหรือไม่ ควรมาพบแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่สถานพยาบาลทันที เพื่อที่จะตรวจสอบต่อไปว่าเป็นผลบวกจริงหรือไม่ และแพทย์จะแนะนำให้ตรวจเพิ่มเติม เพื่อเข้าสู่การรักษาอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจเป็นการเริ่มยาต้านไวรัสเอชไอวีในวันเดียวกัน ภายใน 1 สัปดาห์ หรือบางรายหากมีโรคฉวยโอกาสแทรกซ้อนเข้ามาแล้ว อาจมีการเลื่อนการเริ่มยาต้านไวรัสเอชไอวีออกไป ขึ้นอยู่กับแต่ละโรคที่เป็นร่วมกัน เพื่อให้เกิดปฏิกิริยาจากการได้ยาหลายตัว หรือระบบภูมิคุ้มกันที่ทำงานมากเกินไปขณะที่เริ่มยาต้านไวรัสเอชไอวีได้

...

ใครควรได้รับการตรวจคัดกรองบ้าง

ผู้ใหญ่อายุมากกว่า 18 ปีทุกคน ควรได้รับการตรวจคัดกรองหาเชื้อเอชไอวี หากมีประวัติมีเพศสัมพันธ์ หรือความเสี่ยงต่างๆ

จะทราบได้อย่างไรว่ามีความเสี่ยงในการติดเชื้อ

ผู้ที่ความเสี่ยงสูงและควรได้รับการตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อเอชไอวีมีหลายกลุ่ม ได้แก่ ผู้ที่มีอาการหรืออาการแสดงเข้าได้กับการติดเชื้อเอชไอวี ผู้ที่เคยมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน ผู้ป่วยวัณโรค ผู้ติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ผู้ใช้ยาเสพติดที่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน บุคลากรทางการแพทย์ที่ถูกเข็มตำหรืออุบัติเหตุอื่นๆ ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ผู้ที่ถูกละเมิดทางเพศ ผู้ที่ต้องการแต่งงานหรือวางแผนมีบุตร หญิงตั้งครรภ์และคู่ ทารกที่เกิดจากมารดาที่ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ที่อยู่ระหว่างการกินยาป้องกันก่อนหรือหลังการสัมผัสเชื้อเอชไอวี

การให้คำปรึกษาก่อนตรวจ

ก่อนตรวจคัดกรอง ผู้รับบริการในสถานพยาบาลควรได้รับคำปรึกษาก่อนตรวจคัดกรอง เพื่อให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับเอชไอวี และเป็นการเตรียมตัวเตรียมใจหากได้ผลตรวจเป็นบวก ว่าจะมีการดำเนินการอย่างไร หากเป็นผลลบแต่ยังมีความเสี่ยง ควรจะมาตรวจซ้ำเมื่อใด สามารถป้องกันตนเองด้วยการใช้ถุงยางอนามัย และกินยาเพร็พ (PrEP หรือยาที่กินป้องกันก่อนการติดเชื้อเอชไอวี)

การตรวจหาเชื้อเอชไอวีเป็นด่านแรกที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก การตรวจมีหลายวิธี ทั้งตรวจที่สถานพยาบาลและตรวจด้วยตนเอง หากมีความเสี่ยง ควรรีบตรวจหาและยืนยันเพื่อเข้าสู่ระบบการรักษาอย่างรวดเร็ว เพื่อให้สามารถกดไวรัสได้ ภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นจนเป็นปกติ ป้องกันการติดเชื้อหรือเป็นโรคฉวยโอกาสต่างๆ จนสุดท้ายคือการมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีชีวิตที่ยืนยาว ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สำคัญที่สุด

แหล่งข้อมูล
อ.พญ.รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านคอลัมน์ "ศุกร์สุขภาพ" เพิ่มเติม