ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ระบุว่า มะเร็งเต้านม เป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในผู้หญิง โดยในปี 2020 ตรวจพบผู้หญิงเป็นมะเร็งชนิดนี้ 2.3 ล้านคน เสียชีวิตกว่า 685,000 ราย และยังเป็นสาเหตุการตายมากที่สุดเป็นอันดับสองของผู้หญิง
อย่างไรก็ตาม สมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา (American Cancer Society) ยืนยันว่า หากสามารถ ตรวจพบมะเร็ง เต้านมในระยะเนิ่นๆ หรืออยู่ในระยะลุกลามเฉพาะที่ อัตราการรอดในช่วงระยะเวลาชีวิต 5 ปี จะอยู่ที่ 99%
ซึ่งการตรวจพบในระยะแรกนี่เองที่ทำให้ ดร.จานัน ดาเตวิเริน (Canan Dagdeviren) นักวิทยาศาสตร์ชาวตุรกีและคณะทำงานมีเดียแล็บ ของสถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเสตต์ หรือเอ็มไอที (MIT) ได้ร่วมพัฒนาเทคโนโลยี “อัลตราซาวด์ บรา” ซึ่งเป็นชุดชั้นในตรวจหามะเร็งเต้านม
ดร.ดาเตวิเรินบอกว่า อุปกรณ์ที่ประดิษฐ์ขึ้นมานี้ช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตอีกราว 22% ในกลุ่มผู้หญิงที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งในระยะหลังๆด้วย
“อัลตราซาวด์ บรา” ของ ดร.ดาเตวิเริน สามารถใช้งานได้ง่ายดายโดยไม่ต้องมีผู้ช่วย ผู้ใช้สามารถนำแผ่นอุปกรณ์ดังกล่าวแนบติดกับเสื้อชั้นใน หรือยกทรง อีกทั้งยังยืดหยุ่นและใช้ซ้ำได้หลายครั้ง
...
ลักษณะของบราพิเศษ ประดิษฐ์ขึ้นเป็นช่องรูปรังผึ้ง 6 ช่องของตัวอุปกรณ์แบบแผ่นแปะ มีไว้เพื่อติดตั้งกล้องฉายคลื่นอัลตราซาวด์ขนาดกะทัดรัด ซึ่งสามารถปรับตำแหน่งได้ ช่วยให้สามารถตรวจหาสิ่งผิดปกติภายในทรวงอกได้รอบด้าน ที่สำคัญเครื่องนี้ใช้งานได้โดยไม่รู้สึกเหนียวเหนอะหนะจากเจลสำหรับอัลตราซาวด์อีกด้วย
“เครื่องนี้สามารถตรวจพบซีสต์ขนาดเล็กได้ถึงเส้นผ่า ศูนย์กลาง 0.3 เซนติเมตร ซึ่งเป็นขนาดของเนื้องอกระยะเริ่มต้น และค่อนข้างแม่นยำในการค้นหาความผิดปกติ” ดร.ดาเตวิเรินบอก
“เต้านมของแต่ละคนมีเอกลักษณ์เฉพาะ รวมทั้งยังมีความหลากหลายของขนาดเนื้อเยื่อต่อมและไขมันของแต่ละคน” เฮเลน ยูเล นักรังสีการแพทย์ในสหราช อาณาจักร อธิบาย
หากจะเปรียบเทียบระหว่างผู้หญิงที่มีเนื้อเยื่อต่อมและเนื้อเยื่อไขมันว่าเป็นอย่างไรขณะที่รับการตรวจหน้าอก พบว่า ผู้หญิงที่มีเนื้อเยื่อต่อมจำนวนมากมักจะรู้สึกไม่สบายระหว่างการตรวจแมมโมแกรมมากกว่ากลุ่มผู้หญิงที่มีเนื้อเยื่อไขมัน
งานวิจัยหลายชิ้นพบว่าเนื้องอกในเต้านมพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วจนเป็นมะเร็งแบบก่อนกำหนดราว 20-30% ในระหว่างที่ผู้ป่วยมีการตรวจแมมโมแกรมเป็นปกติ
คณะทำงาน MIT บอกว่า เนื้องอกดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะลุกลามมากกว่า ส่วนที่ตรวจพบในรอบการตรวจปกติ ดังนั้น อัลตราซาวด์ บรา จึงเหมาะสำหรับผู้หญิงที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นมะเร็งเต้านม
ทีม MIT ใช้เวลาพัฒนาอัลตราซาวด์ บราถึง 6 ปีครึ่ง ก่อนที่จะได้รับการจดสิทธิบัตรในสหรัฐฯ ในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา แต่ยังอยู่ในขั้นตอนการทดสอบการใช้งานกับมนุษย์อยู่ในขณะนี้
เบื้องต้นราคาชุดละประมาณ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 36,000 บาท แต่ทีมพัฒนาบอกว่าราคาจะลดลงอีกหากผลิตได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลาราว 4-5 ปี
การพัฒนาอัลตราซาวด์ บรา น่าจะเป็นความหวังใหม่สำหรับกลุ่มผู้หญิง และนอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ที่สามารถใช้อุปกรณ์ดังกล่าวในการตรวจหาสิ่งผิดปกติในส่วนอื่นๆของร่างกายได้ด้วย.