“อาการนอนไม่หลับ” หรือหลับๆตื่นๆทั้งคืน กลายเป็นปัญหาใหญ่ของคนยุคดิจิทัล ยิ่งหลังเกิดวิกฤติโควิด-19 วิถีชีวิตของผู้คนทั่วโลกเปลี่ยนไปอย่างไม่มีวันเหมือนเดิม ยิ่งทำให้การข่มตานอนให้หลับสนิทเป็นเรื่องยากสำหรับใครหลายๆคน โดยไม่จำกัดเพศหรือวัย

สาเหตุที่ก่อให้เกิดอาการนอนไม่หลับ มาจากหลายปัจจัย ทั้ง “ปัญหาจากสิ่งแวดล้อม” เช่น ห้องนอนเปิดไฟสว่างเกินไป, มีเสียงรบกวนจากการจราจรภายนอก, เปิดโทรทัศน์ระหว่างนอน, อุณหภูมิหนาว หรือร้อนเกินไป “ปัญหาจากจิตใจ” เช่น มีความเครียดสะสม, ซึมเศร้า และวิตกกังวล นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงกับพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น ดื่มกาแฟมากเกินไป, ดื่มแอลกอฮอล์, สูบบุหรี่, กินอิ่มเกินไป หรือหิวเกินไป จนนอนไม่หลับ, ชอบเล่นสื่อโซเชียลก่อนนอน และมีอาชีพที่ต้องเปลี่ยนเวลานอนเพื่อเข้าเวรยาม

พอนอนไม่หลับก็ส่งผลให้ร่างกายอ่อนเพลียทั้งวัน กระทบต่อกิจวัตรประจำวันและการทำงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ใครที่เพิ่งเริ่มมีอาการหลับยากและหลับไม่ทน บอกเลยว่าควรรีบหาวิธีแก้ไขก่อนลุกลามหนักกลายเป็นโรคนอนไม่หลับเรื้อรัง

...

“ดร.เดวิด ฮีเบอร์” ประธานสถาบันโภชนาการเฮอร์บาไลฟ์ แนะ 6 เคล็ดลับการนอนหลับอย่างมีคุณภาพ เริ่มจาก “คิดก่อนกิน” จะช่วยจัดการกับระดับความเครียด และลดโอกาสการกินอาหารขยะแก้เครียดได้ ควรหยุดกินอาหารและของว่างอย่างน้อย 3 ชั่วโมงก่อนเข้านอน เพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นกรดไหลย้อน และอาการเสียดท้องที่ทำให้ตื่นกลางดึก

“ออกกำลังกายเป็นประจำ” ร่างกายจะหลั่งสารเอนดอร์ฟินที่ทำให้อารมณ์ดีตามธรรมชาติ ช่วยลดความเครียดได้ จะเล่นโยคะ, วิ่งในสวนสาธารณะ หรือเข้าฟิตเนส ก็เลือกให้เหมาะกับวัย

“จะพักผ่อนต้องเตรียมตัว” เตรียมดิจิทัลดีทอกซ์อย่างน้อยหนึ่งชั่วโมงก่อนนอน โดยงดใช้สมาร์ทโฟน, คอมพิวเตอร์, แท็บเล็ต และโทรทัศน์

“คลายเครียดด้วยเทคนิคช่วยผ่อนคลาย” เวลาเย็นและก่อนนอนถือเป็นช่วงที่ดีในการใช้เทคนิค ช่วยผ่อนคลาย ลองหายใจเข้าลึกๆ, ยืดเส้นยืดสาย, ปล่อยตัวตามสบาย และทำสมาธิอยู่กับลมหายใจ เพื่อทำให้ร่างกายและจิตใจสงบผ่อนคลาย

“ดื่มชาคาโมมายล์และจุดเทียนลาเวนเดอร์” ดอกคาโมมายล์ช่วยให้ผ่อนคลาย เพราะมีสารที่สามารถจับและยับยั้งตัวรับบางชนิดในสมอง ทำให้เกิดอาการง่วงนอน เช่นเดียวกับน้ำมันหอมระเหยจากลาเวนเดอร์ ที่มีฤทธิ์ส่งเสริมการนอนหลับและทำให้รู้สึกผ่อนคลาย

“นาฬิกาชีวิต คือเข็มทิศสุขภาพ” จะยุ่งแค่ไหนก็ต้องพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้สามารถเข้านอน และตื่นนอนตามเวลาเดิมได้ทุกวัน เพื่อสร้างจังหวะการนอนและจัดการนาฬิกาชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพ.