ปี 2023 ต้องหลุดออกจากความไม่กล้าวินิจฉัย ไม่กล้าให้คำตอบ ยังอยู่วนบนความสงสัย จนอาการชัดเจน ซึ่งสายไปและทำอะไรไม่ได้แล้ว และสูญเสียโอกาสทองของการป้องกัน ชะลอ รักษา
ทั้งนี้ ทำได้โดยต้องทำอย่างเข้มข้น (ความจริงทำตั้งแต่หนุ่มสาวจะดีกว่า) ตั้งแต่ออกกำลัง ปรับอาหาร หนักผักผลไม้ งดเนื้อสัตว์บก คุมโรคประจำตัว งดบุหรี่ ถ้าจะดื่ม ดื่มแต่พองาม ไม่เกิน 30 กรัมของแอลกอฮอล์ต่อวัน จนถึงเมื่อรู้ว่าเป็นแล้ว ยาที่ขณะนี้จะทยอยจ่อออกมาให้ใช้ได้ โดยมีข้อมูลความปลอดภัยและประสิทธิภาพชัดเจนอย่างน้อย 10 ตัว จนกระทั่งถึง 30 ตัว โดยตัวนำเป็นยาแก้ไอ ambroxol ยานอนหลับ ในระบบ Orexin (อ่านเพิ่มเติมได้ในคอลัมน์สุขภาพหรรษา พิชิตสมองเสื่อมด้วยยาแก้ไอและยานอนหลับ) และยาขจัดการขยุ้ม รวมตัวของโปรตีนทาว ซึ่งกำลังขอขึ้นทะเบียนในหลายทวีป (สิงหาคม 2023)
นอกจากยาที่มาแรงดังข้างต้นในปัจจุบัน ก็มียา 3 ตัวที่ใช้ฉีดและออกมาก่อนแล้ว โดยเฉพาะ ในปี 2023 โดยใช้ได้ในคนที่มีอาการออกมาแล้ว เช่น Lecanemab และ Donanemab แต่ยังมีความเสี่ยงในเรื่องสมองบวม ตกเลือดในสมองคล้ายกับตัวแรกที่ออกมาก่อน คือ Aducanumab และการใช้ต้องมีการเพิ่มขนาด ยาเป็นขั้นตอน และต้องมีการตรวจคอมพิวเตอร์สมอง สนามแม่เหล็ก (MRI) เป็นระยะ และไม่ใช่ทุกคนที่ใช้ได้ โดยมีข้อจำกัดหลายประการและรวมค่าใช้จ่ายต่อปีอาจจะถึงแปดล้านบาท
...
ปี 2010 และ 2023 สำหรับโรคอัลไซเมอร์ต่างกันโดยสิ้นเชิง ในปี 2010 ไม่มีหวัง (เหมือนการเมือง) ตั้งแต่กลไกการเกิดโรคที่มีการถกเถียงมากมายว่าเกิดจากอะไร ไร้การวินิจฉัยที่แม่นยำและเข้าถึงได้ จนถึงการรักษา
ในสมัยนั้นการวินิจฉัยเน้นใช้ประวัติ การตรวจร่างกาย ร่วมกับแบบทดสอบการประเมินสมองเสื่อมและการตรวจโดยคอมพิวเตอร์แม่เหล็กไฟฟ้า การใช้นิวเคลียร์สแกน (PET scan) เพื่อตรวจหาโปรตีน amyloid ยังไม่แพร่หลายเนื่องจากมีราคาแพงมาก และไม่ได้มีในทุกประเทศ เพราะว่าถึงวินิจฉัยได้แม่นยำก็ยังไม่มีวิธีรักษา จึงทำให้การวินิจฉัยโดยผู้เชี่ยวชาญนั้นมีความแม่นยำแค่ประมาณ 60% และต่ำกว่า 50% ในแพทย์ทั่วไป
ปีถัดมาในปี 2011 มีการตระหนักถึงการวินิจฉัยที่ล่าช้าและความจำเป็นทางการวิจัย จึงมีการออกแนวทางวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์โดยดูจากอาการร่วมกับการเปลี่ยนแปลงทางเคมีวิทยา ดัชนี ชีวภาพ (biomarkers) ซึ่งแบ่งขั้นเป็น 3 ขั้นคือ ก่อนมีอาการ (Preclinical) มีอาการเล็กน้อย ยังใช้ชีวิตเองปกติ (mild cognitive impairment) และมีอาการทางสมองชัดเจนโดยสร้างปัญหาในการดำรงชีวิต (dementia) หลังจากนั้นก็มีการทดลองยาซึ่งมุ่งเป้าไปทางโปรตีนที่ก่อตัวผิดปกติร่วมกับการใช้สัตว์ทดลอง แต่การวิจัยในมนุษย์ยังไม่เห็นผลสำเร็จ
ต่อมาการพัฒนาการตรวจโปรตีนจากน้ำไขสันหลังและเลือด ส่งผลให้ต้องเพิ่มคำจำกัดความทางชีววิทยา (biology) ในปี 2019 โดยแยกกับอาการทางคลินิก
คำจำกัดความทางชีววิทยามีตัวย่อคือ ATN โดย A นั้นย่อมาจาก Beta Amyloid ส่วน T นั้นย่อมาจาก Tau ทั้งคู่สามารถวัดได้จากนิวเคลียร์สแกน (PET scan) หรือจากการเจาะน้ำไขสันหลัง ส่วน N นั้นย่อมาจาก neurodegeneration or dysfunction หรือการฝ่อของสมองนั่นเอง สามารถวัดได้จาก MRI scan หรือจากการเจาะน้ำไขสันหลัง
ถ้าพบทั้ง amyloid และ tau จะสามารถเรียกได้ว่าเป็น Alzheimer’s disease การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้สามารถวินิจฉัยได้แม่นยำและรวดเร็วขึ้นตั้งแต่มีอาการแค่เล็กน้อย ซึ่งจำเป็นเนื่องจากได้เข้าใกล้การรักษามากขึ้น จึงจะต้องมีความแม่นยำเพราะมีโรคสมองเสื่อมที่เกิดจากกลไกอื่นที่ออกมาคล้าย Alzheimer’s disease
ส่วนการรักษานั้นนอกจากที่เคยกล่าวไปแล้ว จากยาตัวแรกที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) คือ Aducanumab ในปี 2021 เป็นการรับรองแบบพิเศษ (accelerated approval) และได้แสดงถึงการกำจัดโปรตีนอะไมลอยด์ได้อย่างดีและชะลอโรคได้ แต่แลกมาด้วยผลข้างเคียงสมองอักเสบที่รุนแรงและพบได้เยอะพอสมควรร่วมกับราคาที่สูงมากทำให้ไม่ได้รับความแพร่หลาย
...
จนมาถึงต้นปี 2023 นี้ที่ FDA ได้ approve ยาตัวที่สอง และตัวที่สามในกลางปี คือ Lecanemab และ Donanemab ซึ่งทั้งสองตัวสามารถชะลอโรคได้เช่นกัน ทั้งนี้สนับสนุนทฤษฎีโปรตีนอะไมลอยด์ แต่จะดีจริงไหมน่าจะต้องดูในระยะยาวหลังจากที่ใช้จริงไปหลายปี เนื่องจากอาจจะไม่ได้มีแค่สาเหตุเดียวก็เป็นได้และจริงๆอาจจะมีสาเหตุอื่น เช่น การอักเสบเรื้อรังก็เป็นได้ ทำให้การตรวจดู biomarker อื่นๆเพิ่มเติมยังมีความสำคัญอยู่
ทั้งหมดที่กล่าวมาเกี่ยวโยงกับวิจัยที่อาจารย์ภูษณุ และนักวิจัยและแพทย์อีกหลายท่านในศูนย์ จึงมีโอกาสได้ไปงานประชุมอัลไซเมอร์ประจำปี Alzheimer’s Association Inter national Conference (AAIC) ที่อัมสเตอร์ดัมในเดือนกรกฎาคม 2023 ซึ่งในงานมีการย้ำและยืนยันถึงการวินิจฉัยโรคที่สามารถทำได้ตั้งแต่ยังไม่มีอาการ เหมือนกับที่อาจารย์ภูษณุชอบเปรียบเทียบว่า ไปตรวจประจำปีพบว่าเป็นเบาหวานแต่ยังไม่มีอาการ
เนื่องจากพยาธิสภาพ amyloid และ tau จะปรากฏในสมองนานตั้งแต่ยังไม่มีอาการโดยใช้ biomarkers ซึ่งจำเพาะเจาะจงต่อโรค รวมถึงอาการที่พบบ่อยในโรคอัลไซเมอร์ ก็พบได้ในโรคอื่นและโรคอัลไซเมอร์ก็อาจทำให้เกิดอาการได้อีกหลากหลายรูปแบบเช่นกัน
...
ฉะนั้น อาการเพียงอย่างเดียวไม่สามารถใช้วินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์โดยแม่นยำได้
ทั้งนี้ จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงคำจำกัดความทางชีววิทยาเดิมให้ใช้เป็นทางคลินิก และโดยไม่ได้เป็นคำจำกัดความทางการวิจัยอีกต่อไป เพราะ biomarker ของ amyloid (A) และ phosphorylated tau (T) พบว่าล้วนจำเพาะเจาะจงกับ AD ทั้งสิ้น
การวินิจฉัย AD จึงอาศัยเพียง A หรือ T ก็ได้ ต่างจากเดิมที่อาศัย A และ T นับเป็น core AD biomarker ที่สำคัญสามารถวินิจฉัย core AD biomarker ด้วยการตรวจจากเลือด Blood biomarker อย่างเดียวและศักดิ์ศรีไม่ต่างจาก CSF หรือ PET โดยเป็นหน้าที่ของแพทย์ที่จะต้องพิจารณาความแม่นยำของการตรวจแต่ละชนิด ทั้งนี้ เพื่อเตรียมตัวสำหรับยาที่จำเพาะกับพยาธิสภาพ เพราะ Alzheimer’s disease ไม่ใช่โรคที่รักษาไม่ได้อีกแล้ว ทั้งนี้โดยที่ยังไม่ต้องมี N เนื่องจากระยะนี้ เริ่มมี dysmetabolism โดยยังไม่ถึงกับต้องมีการเหี่ยว ฝ่อ ลีบ ของสมอง
นอกจากนั้น ยังมี biomarker ของการทำลายของสมอง neurode generation (N) แต่ไม่จำเพาะเจาะจงกับ AD โรคเดียว ยังพบในโรคอื่นๆ โดยสามารถใช้ในการติดตามความรุนแรงของการทำลายสมองได้ในโรคสมองเสื่อมทั้งหลาย และในโรคที่มีความผิดปกติจากสาเหตุอื่นๆได้ และยังเพิ่ม I หรือการอักเสบ (inflammation) ในประเภทนี้ด้วย
และประเภทสุดท้ายคือ Biomarkers สำหรับโรคอื่นที่อาจจะเจอร่วมกันได้ (co-pathology) ในที่นี้เริ่มกำหนดขึ้นมาสองชนิด ได้แก่ V = เส้นเลือดสมอง (vascular) โดยใช้การสแกนแม่เหล็กไฟฟ้า และ S = alpha-synuclein โดยใช้ RT-QuIC ซึ่งจะไม่ได้ลงลึก ถ้าสนใจเพิ่มเติมสามารถอ่านสรุปได้ใน facebook ของหมอดื้อ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha และของ นพ.ภูษณุ ธนาพรสังสุทธิ์ poosanu thana อาจารย์เป็นผู้เขียนความรู้ต่างๆ และดูแลการวิจัยทั้งหมดที่กล่าวมา
...
เนื่องจากเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องใช้ความเข้าใจ แพทย์ทั่วไปต้องเข้าใจเหมือนที่เข้าใจโรคอื่นๆ ซึ่งจะช่วยหลุดออกจากความไม่กล้าวินิจฉัย ไม่กล้าให้คำตอบ อยู่บนความสงสัย จนอาการชัดเจนซึ่งสายไปและทำอะไรไม่ได้แล้ว จบแล้วครับ วันนี้ถ้ายังเดินไม่ถึงหมื่นก้าวลุกเลยครับ
จาก นพ.ภาสิน เหมะจุฑา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาอายุรกรรมประสาท.
หมอดื้อ