แม้ว่าผลจากรายงานของ PURE study นี้ จะได้ยืนยันว่าการกินนมหรือผลิตภัณฑ์จากนมไขมันเต็ม นั่นคือไม่จำเป็นต้องพร่องมันเนยนั้น เป็นสิ่งที่ดี โดยลดความเสี่ยงของการตาย และการเป็นโรคจากเส้นเลือดหัวใจและสมอง และขณะเดียวกันก็พ้องกับรายงานอื่นๆทางสมาคมสมองที่พบว่าการกินนมไม่พร่องมันเนยนั้นกลับช่วยลดความเสี่ยงของโรคสมองเสื่อม เช่น พาร์กินสัน และอาจรวมถึงอัลไซเมอร์ด้วย

แต่กระนั้นก็ตาม ในคำแนะนำของอาหารสุขภาพโดยทั่วไปจนกระทั่งถึงปี 2023 ยังคงเน้นประเด็นในเรื่องของนมพร่องไขมัน จนกระทั่งนมที่ไม่มีไขมัน

ดังนั้น รายงานใหม่ ในวันที่ 6 กรกฎาคม 2023 ในวารสารของสมาคมหัวใจของยุโรป (European Heart Journal) ได้ตอกย้ำความสำคัญที่นมไขมันเต็มควรต้องบรรจุอยู่ในอาหารช่วยชีวิตด้วย

การศึกษานี้เป็นการขยายขอบเขตของ PURE study โดยได้กำหนดประเภทของอาหารสุขภาพเป็นคะแนนแต้ม (healthy diet scoring system) โดยได้วิเคราะห์จากประชากร 147,642 คน จาก 21 ประเทศที่อยู่ในโครงการ PURE เอง และประเมินว่าการใช้แต้มคะแนนเหล่านี้จะใช้ได้ผลดีหรือไม่ จากการศึกษาในนานาชาติอีกห้าโครงการด้วยกัน จาก 70 ประเทศ รวมแล้วครอบคลุมประชากรมากกว่า 245,000 คน

...

แต้มคะแนนที่ได้นั้นจัดตามประเภทชนิดของอาหาร ได้แก่ ผลไม้ ผัก กากใย ถั่วเปลือกแข็ง พืชผักตระกูลถั่วฝักทั้งหลาย และปลา และรวมถึงผลิตภัณฑ์นมที่ไม่พร่องไขมัน (mainly whole fat) และตั้งคะแนนอยู่ระหว่างศูนย์ถึงหก

โดยแต้มที่สูงนั้นหมายถึงมีการบริโภคชนิดของอาหารในหกประเภทนี้ จากนั้นทำการเชื่อมโยงวิเคราะห์กับอุบัติการณ์และความเสี่ยงของการเสียชีวิต และรวมทั้งที่เกิดขึ้นจากเส้นเลือดหัวใจตันและเส้นเลือดสมองตัน

จุดเด่นของรายงานนี้ยังอยู่ที่การรวมประชากรในภูมิภาคหรือประเทศที่มีรายได้น้อยโดยที่ผลที่ได้รับนั้นจะคล้องจองกับประเทศที่มีเศรษฐานะสูงกว่า

และเป็นการตั้งคำถามที่ว่า สมาคมและองค์กรต่างๆแม้กระทั่งองค์การอนามัยโลก ควรที่จะต้องมีการเน้นถึงความสำคัญของชนิดอาหารทั้งหกประเภทนี้ ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์นมที่ไม่ต้องพร่องไขมัน ไปจนถึงต้องลดความรังเกียจไขมันอิ่มตัวลงไปด้วย

รายละเอียดโครงการกำหนดคะแนนของอาหารสุขภาพช่วยชีวิตนั้นมาจากการเอาข้อมูลจากการศึกษา PURE ที่มีประชากร 147,642 คนจาก 21 ประเทศ โดยชนิดของอาหารสุขภาพแต่ละชนิดมีคะแนนเท่ากับหนึ่ง ต่อเมื่อคนนั้นมีการบริโภคอาหารชนิดนั้นมากกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มและมีคะแนนเท่ากับศูนย์เมื่อมีการบริโภคต่ำกว่า...ทั้งนี้ คะแนนรวมจะได้จากผลลัพธ์ของอาหารทั้งหกประเภทนี้

จากการติดตามเฉลี่ย 9.3 ปีในโครงการ PURE เปรียบเทียบตามคะแนนระหว่างที่น้อยกว่าหรือเท่ากับหนึ่งกับที่มีคะแนนมากกว่าหรือเท่ากับห้าพบว่ากลุ่มที่ได้คะแนนสูงนั้นจะมีความเสี่ยงของการเสียชีวิตลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ รวมทั้งเส้นเลือดหัวใจตัน กล้ามเนื้อหัวใจตายลดลงและเส้นเลือดผิดปกติในสมองลดลง

ในการศึกษาอีกสามโครงการที่เกี่ยวข้องกับโรคทางเส้นเลือดนั้นได้ผลคล้ายคลึงกัน มีการลดความเสี่ยงการเสียชีวิต ลดโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจและเส้นเลือดหัวใจและลดภาวะเส้นเลือดหัวใจตันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่สำหรับเส้นเลือดผิดปกติในสมองนั้นมีอัตราการลดลงแต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ และในอีกสองโครงการศึกษาได้ผลเช่นกันในการลดความเสี่ยงทั้งหมด

PURE healthy eating pattern ประกอบด้วย หนึ่ง ผลไม้ วันละสองถึงสามครั้ง สอง ผัก เช่นเดียวกันวันละสองถึงสามครั้ง สาม พืชตระกูลถั่วที่มีฝัก เปลือกอ่อน (legumes) อาทิตย์ละสามถึงสี่ครั้ง ลักษณะเด่นก็คือเมล็ดจะสามารถแบะออกหรือแบ่งซีกได้เป็นสองซีก เช่น beans ถั่วแดง ถั่วดำ ถั่วพิโต ถั่วลิมา Peas เช่น ถั่วลันเตา ทานได้ทั้งฝัก Lentis เช่น ถั่วเขียวถั่วเหลือง peanuts เช่น ถั่วลิสง soybeans เช่น ถั่วเหลือง

...

สี่ ถั่วเปลือกแข็ง (nuts) อาทิตย์ละเจ็ดครั้ง พีแคน แมคคาดาเมีย เฮเซลนัท วอลนัท อัลมอนด์ พิสตาชิโอ แคสชิวนัท เกาลัด (เรื่องของชื่อถั่ว และนัท ข้อมูลจากคีโต ไทยแลนด์)

ห้า ปลา อาทิตย์ละสองถึงสามครั้ง หก ผลิตภัณฑ์จากนมที่ไม่พร่องมันเนย อาทิตย์ละ 14 ครั้ง และงดหรือลดเนื้อสัตว์ให้มากที่สุด อาจมีไก่บ้าง

โดยสรุปจะเห็นได้ว่า การยึดหลักบริโภค ชนิดของอาหารหกประการนี้ ลดแป้ง ลดข้าว โดยไม่ต้องกังวลว่าจะขาดแป้ง ขาดน้ำตาล ทั้งนี้ เนื่องจากเราจะได้น้ำตาลจากพืช ผัก ผลไม้ ซึ่งมีความหวานตามธรรมชาติอยู่แล้ว และสำหรับถั่ว ประเภทเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ ก็จะมีคาร์โบไฮเดรตอยู่ในปริมาณสูง

และการบริโภคในลักษณะนี้ ที่ไม่มีเนื้อสัตว์ และที่สำคัญจะได้กากใย ซึ่งไปปรับจุลินทรีย์ในลำไส้ ขจัดการสร้างสารอักเสบ ที่จะทำให้ลำไส้รั่วและมีการทะลักของสารอักเสบเข้าในกระแสโลหิต และซึมเข้าสมอง ซึ่งนอกจากจะทำร้ายเส้นเลือดในร่างกายทั่วไปแล้ว ยังทำร้ายเส้นเลือดในสมองและก่อให้เกิดการกระตุ้นการสร้างโปรตีนบิดเกลียวที่เป็นพิษ เป็นบ่อเกิดของสมองเสื่อมชนิดต่างๆ และรบกวนขบวนการ คลี่โปรตีนพิษบิดเกลียวเหล่านี้ รวมกระทั่งถึงการผลักขยะเหล่านี้ทิ้งออกไปจากเซลล์สมอง

...

ชนิดของอาหารที่จำเป็นต้องพิจารณาคือ การบริโภคนมนั้น จะเป็นในลักษณะที่ต้องไม่พร่องหรือมีไขมันได้เต็มดังที่ได้มีการศึกษาก่อนหน้า ดังรายงานของการที่นมไม่พร่องไขมัน สามารถลดความเสี่ยงของสมองเสื่อมได้ และจากรายงานของการศึกษาในโครงการ PURE และในรายงานล่าสุดในปี 2023 นี้ก็ได้พิสูจน์เช่นกัน

ดังนั้น ตั้งแต่ปี 2023 นี้ ขอให้เป็นปีทองของอาหารสุขภาพช่วยชีวิต และทำให้มนุษย์เราไม่ต้องเป็นหม้อยาที่โดนโยนยาเป็นกำเข้ามา และแน่นอนโด๊ปยาเป็นกำก็ไม่รอดครับ.

หมอดื้อ