ด้วยสภาพแวดล้อมและสังคมในปัจจุบัน ส่งผลให้ผู้หญิงเราแต่งงานช้าและมีลูกช้าลง ซึ่งอายุของหญิงตั้งครรภ์ที่เหมาะสมและมีความเสี่ยงน้อยที่สุด คือ ตั้งครรภ์เมื่ออายุน้อยกว่า 35 ปี ทว่า ช่วงอายุที่เหมาะสมจริงๆ คือ 20-35 ปี อย่างไรก็ดี การตั้งท้องเร็วเกินไป หรืออายุมากเกินไป ก็มีปัญหาด้วยกันทั้งนั้น ดังนั้น ในผู้หญิงที่อยากมีบุตรเมื่ออายุมากกว่า 35 ปี มีความจำเป็นต้องเตรียมพร้อมสำหรับการมีบุตร และเมื่อตั้งครรภ์แล้วก็ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษจากสูติแพทย์
หากอายุเกิน 35 ปีแล้วมีการตั้งครรภ์ แพทย์ก็จะนับว่าเป็นครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากอายุมาก ปัญหาจากการตั้งครรภ์ก็จะเพิ่มตามไปด้วย โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเด็นหลักๆ ดังนี้
1. สุขภาพของมารดา แม้ว่าจะไม่ได้ตั้งครรภ์ แต่เมื่ออายุเพิ่มขึ้น ก็อาจจะมีโอกาสเป็นโรคต่างๆ ได้มากขึ้น เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมัน โรคหัวใจและหลอดเลือด ฯลฯ และเมื่อตั้งครรภ์ อาการต่างๆ ของโรคก็จะแสดงออกระหว่างตั้งครรภ์ได้เร็วขึ้น ดังนั้น หญิงตั้งครรภ์ที่อายุมาก ก็มีโอกาสจะพบโรคแทรกซ้อน เช่น ครรภ์เป็นพิษ เบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ได้มากกว่าหญิงตั้งครรภ์ที่อายุน้อยกว่า นอกจากนี้ยังพบว่ามีโอกาสแท้งบุตรได้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
2. สุขภาพทารก หากตั้งครรภ์ตอนอายุมาก โดยเฉพาะมากกว่า 35 ปี จะพบความผิดปกติของโครโมโซมของทารกในครรภ์ได้มากขึ้น โดยเฉพาะโรคดาวน์ซินโดรม นอกจากนี้ ก็ยังมีโรคโครโมโซมที่ผิดปกติในหลายๆ โรคได้เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน จึงมีคำแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์ที่อายุมากกว่า 35 ปีตรวจเลือดคัดกรองหรือเจาะน้ำคร่ำตรวจโครโมโซมของทารกในครรภ์ทุกราย
...
ดังนั้น อายุที่เหมาะสมในการตั้งครรภ์ คือ ต่ำกว่า 35 ปี แต่ถ้าเกิน 35 ปีแล้วมีแผนจะตั้งครรภ์ ก็ควรปฏิบัติ ดังนี้
1. ตรวจสุขภาพว่ามีโรคประจำตัวอะไรหรือไม่ ถ้ามี ก็รักษาโรคนั้นๆ ให้อยู่ในภาวะที่เหมาะสม หรือค่อนข้างปกติที่สุดก่อนการตั้งครรภ์
2. ตรวจการเตรียมความพร้อมก่อนมีบุตร ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง เช็กสุขภาพเบื้องต้น ตรวจภายใน อัลตราซาวนด์อุ้งเชิงกราน เพื่อประเมินว่ามีสาเหตุของภาวะบุตรยากอื่นๆ นอกเหนือจากปัจจัยด้านอายุที่เพิ่มขึ้นอีกหรือไม่ เนื่องจากอายุที่มากขึ้น โอกาสในการที่จะตั้งครรภ์ก็จะน้อยกว่าคนที่อายุน้อยกว่าด้วย ดังนั้น ในกลุ่มนี้ บางรายอาจจะต้องใช้เทคโนโลยีที่ช่วยให้มีบุตรง่ายขึ้น
3. อาหารการกิน แนะนำให้รับประทานอาหารให้หลากหลายครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงการใช้ยาโดยไม่จำเป็น หลีกเลี่ยงการดื่มสุราและสูบบุหรี่ เนื่องจากอาจทำให้คุณภาพรังไข่เสื่อมได้เร็วขึ้นแล้วยังอาจส่งผลเสียต่อทารกในครรภ์ในกรณีที่มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น
4. หากตั้งครรภ์แล้วควรฝากครรภ์ และติดตามการฝากครรภ์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นได้เมื่อเทียบกับหญิงตั้งครรภ์ที่อายุน้อยกว่า
แม้ว่าการตรวจคัดกรองต่างๆ จะไม่ได้รับประกันว่า เด็กที่คลอดมาจะปกติ เพราะทุกการตรวจไม่มีความ 100% บางโรคที่เป็นข้อจำกัดในการวินิจฉัยระหว่างตั้งครรภ์ จะสามารถตรวจพบความผิดปกติเมื่อคลอดออกมาแล้ว อย่างไรก็ตาม การตรวจคัดกรองก่อนตั้งครรภ์ก็ยังเป็นที่แนะนำ ซึ่งสามารถตรวจพบความผิดปกติในหลายๆ โรค เช่น ธาลัสซีเมีย พบได้บ่อยมากในคนไทย ถ้าหญิงตั้งครรภ์และคู่สมรสตรวจพบว่าเป็นธาลัสซีเมีย มีโอกาสที่ลูกจะเป็นธาลัสซีเมีย ส่งผลให้เด็กมีสุขภาพไม่แข็งแรง ซีด และต้องรับเลือด การตรวจคัดกรอง ก็จะทำให้สามารถเตรียมพร้อมตั้งครรภ์ให้ได้ลูกปลอดโรคธาลัสซีเมียได้ นอกจากนี้ การตรวจเตรียมพร้อมก่อนตั้งครรภ์จะมีการตรวจภูมิหัดเยอรมัน หากยังไม่มีภูมิ ก็จะแนะนำให้ฉีดวัคซีนก่อนตั้งครรภ์ เนื่องจากหากเป็นหัดเยอรมันระหว่างตั้งครรภ์ มีโอกาสที่ทารกในครรภ์จะเกิดการแท้งหรือพิการได้ 100% การตรวจคัดกรองก่อนตั้งครรภ์ก็จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้
@@@@@@
แหล่งข้อมูล
อ.พญ.สิริลักษณ์ ตันธนาวิภาส สาขาวิชาเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล