เมื่อมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น สิ่งหนึ่งที่สร้างความกังวลใจให้คุณแม่ทุกท่านก็คือ “ภาวะแท้ง” ซึ่ง “ภาวะท้องลม” ก็เป็นหนึ่งในสาเหตุของการแท้งบุตร โดยสามารถเกิดขึ้นได้ประมาณ 10-15% ของทุกๆ การตั้งครรภ์

“ท้องลม” เป็นการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติ ไม่ได้เป็นไปตามธรรมชาติ โดยปกติ เมื่อมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น จะต้องมีการเจริญเติบโตของถุงตั้งครรภ์และถุงตัวอ่อน และเห็นหัวใจของตัวอ่อนเต้น หลังจากนั้นจะเห็นการเจริญเติบโตของตัวอ่อนโตไปเรื่อยๆ จนกระทั่งคลอดออกมาเป็นทารก

ส่วนการท้องลม เป็นการผิดพลาดของการตั้งครรภ์ มีเพียงถุงตั้งครรภ์ แต่เมื่ออัลตราซาวนด์ดูแล้ว จะไม่พบตัวอ่อน ทั้งที่เป็นช่วงระยะเวลาที่ควรจะเห็นตัวอ่อนแล้ว นั่นคือประมาณ 7-9 สัปดาห์

สาเหตุของการเกิดท้องลม เกิดจากโครโมโซมของตัวอ่อนที่ผิดปกติ หรือตัวอ่อนที่มีความผิดปกติ ทำให้ไม่มีการเจริญเติบโตของตัวอ่อน ไม่สามารถมองเห็นด้วยอัลตราซาวนด์ ซึ่งปัจจัยเสี่ยง คือ อายุที่มากขึ้นของหญิงตั้งครรภ์ ก็มีโอกาสที่จะมีความผิดปกติได้ง่าย และมีภาวะท้องลมได้ง่าย เป็นความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น

ส่วนปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่ส่งผลให้เป็นท้องลมมากขึ้นหรือไม่นั้น ก็เช่นการออกกำลังกายที่มากเกินไป การกินอาหาร หรือการกินยาบางชนิด ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนว่ามีผลทำให้เกิดท้องลมได้

ภาวะท้องลมส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ ยกเว้นกรณีที่คนไข้มีลักษณะของอาการแท้งมาแล้ว คือ มีเลือดออกจากช่องคลอดเล็กๆ น้อยๆ และเมื่ออัลตราซาวนด์ดู ก็พบว่าไม่มีตัวอ่อน ทั้งที่อายุครรภ์ 7-9 สัปดาห์แล้ว ซึ่งควรจะต้องเห็นทารกในท้องแล้วแต่ไม่เห็น ซึ่งนับเป็นอาการแสดงของท้องลมได้ แต่พบน้อย

...

สิ่งที่พบบ่อย คือ คุณแม่มาฝากครรภ์ปกติ อาการที่ตรวจพบก็เช่นเดียวการตั้งครรภ์ทั่วไป แต่อาการแพ้จากการตั้งครรภ์อาจจะน้อยกว่าคนทั่วไป เนื่องจากถุงการตั้งครรภ์พัฒนาไม่เหมาะสม ฮอร์โมนต่างๆ จึงหลั่งได้ไม่เต็มที่ อาการท้องต่างๆ เช่น วิงเวียน คลื่นไส้อาเจียน จึงไม่ได้มากเท่าคนท้องปกติ กรณีนี้เป็นอาการที่พบได้มากกว่าการมีเลือดออกที่กล่าวไปข้างต้น นั่นคือมาตรวจตามปกติแล้วไม่พบทารกในครรภ์ พบเพียงถุงการตั้งครรภ์

สูตินรีแพทย์สามารถวินิจฉัยภาวะท้องลมได้โดยการอัลตราซาวนด์ จะพบถุงตั้งครรภ์ในโพรงมดลูก แต่ไม่พบตัวอ่อนในโพรงมดลูกตามอายุครรภ์ที่ควรตรวจพบ ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

“ภาวะท้องลม” เป็นหนึ่งในสาเหตุของการแท้งบุตร สุดท้ายคุณแม่ก็จะต้องยุติการตั้งครรภ์ ซึ่งก็อาจจะมีอันตรายเช่นเดียวกับการแท้งบุตรทั่วไป ได้แก่ การตกเลือดหลังแท้ง อาจจะมีภาวะติดเชื้อตามหลังการแท้ง ซึ่งภาวะการตกเลือดหลังแท้ง อาจจะมีอันตรายถึงชีวิตได้ หากมารับการรักษาไม่ทันการ จึงเป็นเรื่องที่คุณแม่ต้องใส่ใจและระวังมากเป็นพิเศษ

จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า ท้องลมนั้นจะจบลงด้วยการแท้งบุตร ซึ่งการรักษาภาวะท้องลมนี้ก็มีด้วยกัน 3 วิธี ดังนี้

1. สังเกตอาการ และให้ถุงการตั้งครรภ์หลุดออกมาเองตามธรรมชาติ วิธีนี้ต้องอาศัยความร่วมมือของคนไข้และการดูแลตนเองที่เหมาะสม เช่น สามารถมาโรงพยาบาลได้ทันที บ้านอยู่ใกล้โรงพยาบาล มีความสามารถในการประเมินตนเองว่า อาการแบบไหนเรียกว่ามีเลือดออกมาก หรือเลือดออกน้อย จึงจะเหมาะสมกับวิธีนี้

2. การใช้ยาในการช่วยขับถุงการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติ แพทย์จะให้ยากลับไปใช้ ซึ่งจะเป็นยาเหน็บ และต้องอาศัยความร่วมมือของคนไข้เหมือนวิธีที่ 1 คือ สามารถประเมินตนเองได้ และหากมีเหตุการณ์ฉุกเฉิน ต้องมาโรงพยาบาลได้ทันท่วงที

3. การขูดมดลูก หรือการดูดมดลูก เป็นการผ่าตัดเล็ก โดยที่คนไข้ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ข้อดีของวิธีนี้ก็คือ ไม่ต้องลุ้นว่าจะต้องมาโรงพยาบาลเมื่อไร ไม่ต้องอาศัยความร่วมมือในการดูแลตนเอง เพราะอยู่ในความดูแลของแพทย์ ส่วนข้อเสีย คือ คนไข้จะรู้สึกเจ็บมากกว่า 2 วิธีแรก หรืออาจจะส่งผลในระยะยาว คือ มีการบาดเจ็บในโพรงมดลูกมากกว่าการทำให้หลุดตามธรรมชาติ หรือการใช้ยาเหน็บขับออก

ภาวะท้องลมไม่สามารถป้องกันได้ 100% แต่เมื่อคุณแม่รู้ตัวว่ากำลังตั้งครรภ์ ควรไปฝากครรภ์ และดูแลตนเองให้ดี กินอาหารให้เหมาะสม หลากหลาย และครบ 5 หมู่ รวมถึงหลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นอันตรายต่อการตั้งครรภ์ เช่น การใช้ยา หากต้องใช้ยา ต้องแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรก่อนว่ากำลังตั้งครรภ์อยู่ หลีกเลี่ยงการเจ็บป่วยที่รุนแรงในช่วงแรกๆ ของการตั้งครรภ์ ซึ่งอาจจะมีผลให้การตั้งครรภ์หยุดชะงัก และนำไปสู่การเกิดท้องลมหรือการแท้งบุตรได้ นอกจากนี้ การท้องลมไม่ได้มีผลต่อการตั้งครรภ์ในครั้งต่อไป และไม่ได้มีอันตรายเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นภาวะที่สามารถเกิดขึ้นได้ ดังนั้น คุณแม่สามารถตั้งครรภ์ได้ตามปกติ แต่หากท้องลมติดต่อกัน 2 ครั้งขึ้นไป อาจจะต้องมาพบแพทย์หาสาเหตุเพิ่มเติมต่อไป

...

@@@@@@@@@

แหล่งข้อมูล
อ. พญ.สิริลักษณ์ ตันธนาวิภาส สาขาวิชาเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล