เมื่อผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเลือดออกในสมอง และแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้ ผู้ดูแลหรือญาติต้องเอาใจใส่ในการดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ตลอด 24 ชั่วโมง การแบ่งช่วงระยะเวลาในการดูแล จะมีประโยชน์ต่อตัวผู้ป่วยและผู้ดูแลเอง กล่าวคือ ผู้ดูแล 2 คนในการดูแลผู้ป่วย 1 คน

ผู้ดูแลควรสอบถามแพทย์ผู้รักษาเกี่ยวกับการวินิจฉัยโรค และอาการที่ผู้ป่วยเป็นในปัจจุบันให้เข้าใจมากที่สุด

ขอคำแนะนำจากแพทย์ในวิธีการดูแลผู้ป่วยที่ยังไม่เข้าใจ หรือไม่มั่นใจ ซักถามให้เข้าใจเกี่ยวกับคำแนะนำในการใช้ยา ปริมาณยาที่ผู้ป่วยต้องรับประทาน รวมถึงเวลาที่รับประทานยาในแต่ละวัน ภาวะที่ไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้น หากผู้ป่วยช่วยเหลือตนเองไม่ได้เลย จำเป็นต้องให้อาหารทางสาย ให้อาหารทางจมูก ญาติหรือผู้ดูแลต้องเรียนรู้วิธีการอย่างเข้าใจและถูกต้อง หากผู้ป่วยช่วยเหลือตนเองไมได้ และจำเป็นต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ญาติหรือผู้ดูแลต้องเรียนรู้วิธีการการดูดเสมหะ การช่วยหายใจจากทางโรงพยาบาลอย่างเข้าใจและถูกต้อง การเช็ดตัวหรือการทำกายภาพบำบัด มีความจำเป็นที่จะป้องกันภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยโรคทางสมอง สอบถามแพทย์ถึงนัดหมายที่จำเป็นเพื่อมาติดตามการรักษา หรือต้องมารับยา ให้ข้อมูลสมาชิกในครอบครัวทราบล่วงหน้า เพื่อจัดเตรียมพื้นที่ ห้อง อุปกรณ์จำเป็นในการดูแลผู้ป่วยเมื่อกลับถึงบ้าน พื้นที่ที่เหมาะสมคือ บริเวณชั้นล่าง ใกล้ห้องน้ำ โล่ง มีอากาศถ่ายเทสะดวก ที่นอนที่ใช้ทั่วไปสามารถทดแทนเตียงในโรงพยาบาลได้

ญาติหรือผู้ดูแลเป็นบุคคลที่สำคัญที่สุดในการดูแลผู้ป่วยโรคทางสมอง มิใช่อุปกรณ์ราคาแพง การพลิกตัวผู้ป่วย การช่วยผู้ป่วยเคลื่อนไหวข้อต่อต่างๆ เป็นสิ่งจำเป็นที่สุด ที่นอนลมมิอาจป้องกันแผลกดทับได้ กรณีที่ต้องใช้รถพยาบาล ต้องแจ้งความประสงค์ให้ทางโรงพยาบาลทราบล่วงหน้า อย่าลืมตรวจสอบความถูกต้องของชนิดและความครบถ้วนของยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ที่บ้าน รวมถึงของใช้ส่วนตัวที่นำมาจากบ้านก่อนออกจากโรงพยาบาล

...

ข้อควรปฏิบัติที่ญาติหรือผู้ดูแล ห้ามละเลย

การทำความสะอาดร่างกาย

ควรทำทุกวันอย่างน้อยวันละ 1-2 ครั้ง เพื่อความสะอาด และช่วยให้ผู้ป่วยสุขสบาย โดยเฉพาะเวลาผู้ป่วยมีไข้ ฟอกสบู่ให้กับผู้ป่วย บนเตียงควรให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมในการทำความสะอาดตัวเองด้วยมือข้างที่สามารถทำได้ เพื่อฝึกกล้ามเนื้อแขนและมือ ซึ่งอาจจะเช็ดตัวในท่านั่งหรือท่านอน

โดยให้มีการตะแคงตัวไปมาเพื่อทำความสะอาดได้ทั่วทั้งตัวและหลัง หรือพาผู้ป่วยไปเช็ดตัว อาบน้ำบนเก้าอี้ในห้องน้ำ ในกรณีที่สามารถเคลื่อนย้ายไปที่ห้องน้ำได้ หลังจากทำความสะอาดร่างกายเสร็จแล้ว ควรซับให้แห้งแล้วทาโลชั่น เพื่อให้ผิวหนังชุ่มชื้น ไม่ควรทาแป้งบริเวณซอกอับ เช่น รักแร้ ขาหนีบและใต้ราวนม เพราะจะทำให้เกิดเชื้อรา ผิวหนังอักเสบได้ ส่วนบริเวณมือและเท้าควรแช่แล้วถูล้างคราบออกให้สะอาด

การทำความสะอาดในช่องปากและฟัน

ญาติผู้ดูแลควรจัดเตรียมน้ำ แปรงสีฟัน ยาสีฟัน กระโถน พร้อมทั้งจัดท่านั่งให้ผู้ป่วยพร้อมในการแปรงฟันเอง ในกรณีที่ผู้ป่วยสามารถแปรงฟันเองได้ ดูแลให้ผู้ป่วยแปรงฟันให้ทั่ว แปรงลิ้นและบ้วนปากให้สะอาด

ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ให้ผู้ดูแลใช้แปรงสีฟันหรือผ้าชุบน้ำอุ่นที่ผสมเกลือแกงเล็กน้อยถูบริเวณฟัน ลิ้น และใช้ผ้าชุบน้ำสะอาดเช็ดบริเวณฟันซ้ำอีกครั้ง จากนั้นเช็ดกระพุ้งแก้มและลิ้น โดยเช็ดให้ถึงโคนลิ้น เพื่อเอาเสมหะและน้ำลายเหนียวออกให้มากที่สุด ในกรณีมีเครื่องดูดเสมหะ ผู้ดูแลสามารถใช้สายดูดเสมหะดูดน้ำล้างปากให้ผู้ป่วยได้ โดยขณะทำความสะอาด ควรตะแคงหน้าผู้ป่วยไปด้วยใดด้านหนึ่ง เพื่อป้องกันการสำลักน้ำและน้ำลาย และไม่ควรทำหลังจากเสร็จจากการรับประทานอาหารใหม่ๆ เพราะอาจทำให้อาเจียน สำลักอาหารลงปอดได้ ควรทำก่อนหรือหลังจากรับประทานอาหารไปแล้วประมาณ 2 ชั่วโมง

การทำความสะอาดผม

ผู้ป่วยควรตัดผมสั้น เพื่อความสะดวกในการดูแลความสะอาด และควรสระผมให้ผู้ป่วยอาทิตย์ละ 2-3 ครั้ง ผู้ดูแลสามารถสระผมให้ผู้ป่วยบนเตียง โดยจัดศีรษะผู้ป่วยเอียงไปบริเวณขอบเตียงด้านหนึ่ง และรองศีรษะด้วยผ้ายางที่รวบชายลงไว้ในถังรองรับน้ำ ควรใช้ยาสระผมอ่อนๆ และดูแลไม่ให้มีผมพันกัน

การทำความสะอาดอวัยวะสืบพันธุ์

...

ควรทำความสะอาดอย่างเบามือทุกครั้งเมื่อมีการทำความสะอาดร่างกาย และเมื่อมีการขับถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะ ควรใช้สำลีหรือผ้าชุบน้ำสะอาดเช็ดครบสกปรกให้หมด และซับให้แห้ง ในเพศหญิงควรเน้นการทำความสะอาดในจุดซ่อนเร้น โดยเฉพาะซอกกลีบต่างๆ ไม่ให้มีคราบ ในเพศชาย ควรเน้นบริเวณปลายขององคชาต ร่นหนังหุ้มปลายลงเช็ดให้สะอาด แล้วดึงหนังหุ้มปลายกลับที่เดิมทุกครั้ง

ผู้ป่วยมักมีปัญหาเกี่ยวกับการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว ไม่สามารถไปเข้าห้องน้ำ หรือรองกระโถนได้ทัน ผู้ดูแลควรจัดหาอุปกรณ์รองรับน้ำปัสสาวะอื่นมาช่วย เช่น ใช้ถุงพลาสติกแบบนิ่มยึดติดกับหัวหน่าว ซึ่งนิยมใช้ในผู้ป่วยชาย และแผ่นรองซับแบบต่างๆ เป็นต้น ซึ่งในผู้ป่วยที่มีปัญหาปัสสาวะหรืออุจจาระบ่อย อาจมีผิวหนังแดงบริเวณขาหนีบและก้น หลังทำความสะอาด ซับให้แห้งแล้ว ควรทาวาสลีน หรือผลิตภัณฑ์เคลือบผิวบางๆ เพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับจากสิ่งปฏิกูล

การพลิกตัว

ควรหมั่นพลิกตะแคงตัว ปรับเปลี่ยนท่าให้กับผู้ป่วยอยู่เสมอ อย่างน้อย 2 ชั่วโมง/ครั้ง โดยเฉพาะในรายที่ผู้ป่วยช่วยเหลือตนเองไม่ได้ โดยจัดตะแคงซ้าย ตะแคงขวา นอนหงาย นอนคว่ำกึ่งตะแคง สลับกันไปตามความเหมาะสม
แผลกดทับจากการนอนนิ่งๆ นานๆ โดยไม่ได้รับการพลิกตัวหรือเคลื่อนไหว จะทำให้ผิวหนังเป็นแผล และสามารถกินลึกลงไปถึงกล้ามเนื้อบริเวณนั้น การขาดเลือดไปเลี้ยงทำให้เกิดแผลขึ้น การป้องกันแผลกดทับเป็นสิ่งสำคัญที่สุด การดูแลที่ถูกต้องและสม่ำเสมอจะช่วยป้องกันการเกิดแผลกดทับได้ ควรพลิกดูผิวหนังของผู้ป่วย โดยเฉพาะบริเวณปุ่มกระดูกทุกวันว่ามีรอยแดง สีผิดปกติ มีตุ่มพุพองหรือไม่ บริเวณที่พบแผลกดทับบ่อย ได้แก่ ใบหู หนังศีรษะ ข้อศอก ข้อไหล่ เข่า ก้นกบ สะโพก ส้นเท้าและตาตุ่ม หากตรวจพบรอยแดงให้ละเว้นการนอนทับชั่วคราว และรีบปรึกษาแพทย์ในทันที

...

การพลิกผู้ป่วยอย่างน้อยทุกๆ 2 ชั่วโมง โดยมีการจัดตารางการพลิกตัวที่แน่นอน สลับเปลี่ยนท่านอน ใช้หมอนรองให้ถูกต้อง ช่วยนวดเบาๆ บริเวณปุ่มกระดูกต่างๆ ทุกครั้งที่พลิกตัวหรือเปลี่ยนท่า จะทำให้เลือดหมุนเวียนดีขึ้น อาจใช้ครีมบำรุงทาร่วมด้วยบริเวณที่สงสัย รักษาความสะอาดผิวหนังอย่าให้ชื้นแฉะหรือแห้งเกินไป ที่นอนไม่ควรนิ่มเกินไป ผ้าปูที่นอนต้องสะอาด ไม่มีรอยย่น เพื่อลดการระคายเคืองหรือเสียดสี ที่นอนลมราคาแพงไม่สามารถป้องกันแผลกดทับได้ การเปลี่ยนจุดรองรับน้ำหนักทุกๆ 2 ชั่วโมง ทั้งขณะที่นอนอยู่บนเตียง หรือนั่งอยู่บนเก้าอี้ สามารถลดการเกิดแผลกดทับได้ดีกว่า ในผู้ป่วยบางรายอาจมีน้ำลายไหลมากองบริเวณกกหู ทำให้เกิดแผลบริเวณใบหู ควรดูแล เช็ดให้แห้งอยู่เสมอ

สัปดาห์หน้ายังมีคำแนะนำในการดูแลผู้ป่วยโรคเลือดออกในสมองอีก รอติดตามกันนะครับ

@@@@@@@

แหล่งข้อมูล

คู่มือความรู้ภาคประชาชนเรื่อง เลือดออกในสมอง โดย รศ. นท. ดร. นพ.สรยุทธ ชำนาญเวช ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

คลิกอ่านคอลัมน์ "ศุกร์สุขภาพ" เพิ่มเติม