เพราะความที่คนไทยมีพฤติกรรม “ติดหวาน” โดยเฉพาะในยุคหลังๆ ที่ทั้งเครื่องดื่มยอดฮิตจากต่างประเทศอย่างชานมไข่มุก ชาเขียวมัทฉะ ชานมไต้หวัน โกโก้ปั่น และอีกสารพัดเครื่องดื่ม ที่ล้วนแล้วแต่ให้ความหวานแบบสุดขั้วกลายเป็นที่นิยมอย่างมาก แต่ขณะเดียวกันก็มีข้อมูลว่า คนไทยกินน้ำตาลมากถึงวันละ 25 ช้อนชา มากกว่าปริมาณที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ที่ไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา ถึงกว่า 4 เท่า

ในแต่ละวันคนไทยดื่มเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาลเฉลี่ยกว่า 3 แก้ว โดยเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาลซึ่งวางจำหน่ายในประเทศไทยมีปริมาณน้ำตาลสูงมากเฉลี่ย 9-9 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร ขณะที่ปริมาณที่เหมาะสมคือไม่ควรมีน้ำตาลมากกว่า 6 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร เพราะจะเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจ หลอดเลือดหัวใจ และฟันผุ

ด้วยข้อมูลที่ว่านั้นเอง ทำให้สิ่งที่เรียกว่า “สารทดแทนความหวาน” หรือ “เครื่องดื่มสูตรไดเอต” ถูกนำเข้ามาใช้แทนที่ในหลายเมนูเครื่องดื่มแก้วโปรดของคนไทย และหนึ่งในสารทดแทนความหวานนั้นก็คือ “แอสปาร์แตม” ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้เผยแพร่แนวทางแนะนำไม่ให้ผู้บริโภคใช้สารทดแทนความหวานเพื่อควบคุม น้ำหนัก และเตรียมขึ้นบัญชีสารนี้ให้กลายเป็นสารที่อาจก่อมะเร็งในมนุษย์ในเดือนกรกฎาคมนี้

...

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย บอกว่า แอสปาร์แตม (Aspartame) เป็นหนึ่งในสารทดแทนความหวานที่ผู้ซึ่ง ชื่นชอบการดื่มเครื่องดื่มแบบไม่มีน้ำตาลหรือน้ำตาล 0% เพื่อต้องการควบคุมน้ำหนักไม่ให้ได้รับพลังงานจากน้ำตาลเพิ่มแต่ก็ยังติดได้รสชาติหวานอยู่ โดยผลวิจัยเมื่อ 10 ปีก่อน ระบุว่า สารทดแทนความหวานนั้นปลอดภัย จนมีกฎหมายอนุญาตให้ใช้ได้ทั่วโลกในอาหารและเครื่องดื่ม แต่ล่าสุดมีการศึกษา ซึ่งจัดทำโดยสมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา (American Heart Association) รายงานว่า การบริโภคเครื่องดื่มผสมสารทดแทนความหวานบ่อยๆเพิ่มอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดสมองและเหตุการณ์อื่นๆที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ

“ความรู้และการค้นพบทางการแพทย์ที่ใหม่ได้ลบล้างความเชื่อเดิมที่คิดว่า การบริโภคสารทดแทนความหวานมีความปลอดภัยมากกว่าการกินน้ำตาลปกติ ซึ่งงานวิจัยล่าสุดไม่ได้ระบุแค่เรื่องของโรคหัวและหลอดเลือดสมองเท่านั้น แต่ยังพบว่าสารทดแทนความหวานหลายชนิดมีผลต่อความอยากอาหาร เพิ่มน้ำหนักตัว เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะอ้วนลงพุง ทำให้ระดับไตรกลีเซอไรด์สูง ความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดสูง และอาจเพิ่มระดับอินซูลินในเลือด เนื่องจากรสหวานทำให้ตับอ่อนอาจเข้าใจผิดว่าเป็นน้ำตาลได้ ส่งผลให้การใช้สารทดแทนความหวานในระยะยาวมีผลต่อภาวการณ์ดื้อต่ออินซูลินในร่างกาย” นพ.สุวรรณชัยบอก

อธิบดีกรมอนามัย ให้ข้อมูลว่า กรมอนามัยอยากสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับน้ำตาลที่ถูกต้องให้กับประชาชน โดยน้ำตาลจัดเป็นคาร์โบไฮเดรตชนิดหนึ่ง เป็นสารอาหารที่ให้พลังงาน น้ำตาลธรรมชาติ (Sugar) ที่ใช้ในปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบขึ้นกับวัตถุดิบและกรรมวิธีที่ผลิต มีทั้ง น้ำตาลทราย น้ำตาลกรวด น้ำตาลโตนด น้ำผึ้ง น้ำผลไม้ และน้ำเชื่อม ฯลฯ ซึ่งสำหรับคนที่ชอบความหวาน หรือพูดง่ายๆว่าติดหวาน สามารถที่จะกินน้ำตาลทั้งน้ำตาลธรรมชาติและน้ำตาลเทียมในปริมาณที่เหมาะสม เพราะไม่ว่าจะเป็นน้ำตาลอะไร หากกินในปริมาณมากเกินไปล้วนส่งผลกระทบต่อร่างกายได้ทั้งสิ้น

“การกินน้ำตาลธรรมชาติมากเกินไปจะส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง มีภาวะน้ำหนักเกินเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน หรือหากบริโภคน้ำตาลเทียมเป็นประจำ ลิ้นจะคุ้นกับรสหวานที่มากเกินไป อาจจะทำให้ติดรสหวาน และไม่สามารถควบคุมอาหารการกินได้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ที่เป็นไมเกรน ผู้ป่วยโรคลมชัก และเด็ก ซึ่งเด็กต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะกินอาหารและเครื่องดื่มในปริมาณมากเมื่อเทียบกับปริมาณที่แนะนำต่อน้ำหนักตัว” อธิบดีกรมอนามัยอธิบาย

...

American Diabetes Association (ADA) ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้สารให้ความหวาน คือ ไม่แนะนำให้ใช้ในเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี ส่วนหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตรใช้ได้ในปริมาณที่น้อยที่สุดหรือจำกัดการใช้ นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยพบว่า แม้สารให้ความหวานจะมีแคลอรีต่ำ แต่ส่งผลให้เราน้ำหนักเพิ่มขึ้นได้ เพราะกระตุ้นให้เกิดการผลิตเซลล์ไขมันมากขึ้นอีกด้วย

“หากร่างกายต้องการความหวาน ควรกินน้ำตาลแต่พอดี คือไม่ควรกินเกินร้อยละ 10 ของ พลังงานที่ร่างกายได้รับต่อวัน โดยเด็กไม่ควรกินน้ำตาลเกินวันละ 4 ช้อนชา และสำหรับผู้ใหญ่ไม่ควรกินน้ำตาลเกินวันละ 6 ช้อนชา และควรจำกัดการกินสารให้ความหวานแทนน้ำตาลอย่างแอสปาร์แตม ซูคราโลส อะเซซัลเฟมเค และแซลคาริน เลือกกินน้ำตาลจากธรรมชาติหรือน้ำตาลจากผลไม้สด เพราะมีประโยชน์และให้คุณค่าทางโภชนาการที่หลากหลาย อุดมไปด้วย วิตามิน เกลือแร่ ใยอาหาร และไฟโตนิวเทรียนท์ แต่ไม่ควรรับประทานผลไม้ที่มีรสหวานจัดมากเกินไป ควรเลือกผลไม้หวานน้อย เช่น กล้วย แอปเปิ้ล ส้ม ฝรั่ง สาลี่ แตงโม สตรอว์เบอร์รี ถึงแม้ว่าน้ำตาลในผลไม้จะมีคุณค่าก็ตาม รวมทั้งควรออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อสุขภาพที่ดี” คุณหมอสุวรรณชัยทิ้งท้าย.