- ถ่ายเป็นเลือด คือ การมีเลือดปนออกมาทางทวารหนัก โดยเป็นได้ทั้งถ่ายเป็นเลือดสด หรือเป็นเลือดเก่า ทั้งลักษณะเป็นหยด หรือปนอยู่ในก้อนอุจจาระ หรืออุจจาระลักษณะเป็นสีดำ ซึ่งลักษณะที่แตกต่างกันนี้อาจบ่งบอกถึงสาเหตุและโรคที่แตกต่างกัน เช่น ริดสีดวงทวาร ลำไส้ใหญ่อักเสบจากการติดเชื้อ เลือดออกในทางเดินอาหาร ติ่งเนื้องอกในลำไส้ใหญ่ มะเร็งลำไส้ใหญ่
- หากมีอาการถ่ายเป็นเลือด ควรสังเกตสี ลักษณะ อาการอื่นที่ร่วมด้วย เพื่อสามารถนำไปประกอบการวินิจฉัยของแพทย์ได้
- เนื่องจากอาการของริดสีดวงทวารหนัก และเนื้องอก/มะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย บางครั้งมีความคล้ายคลึงกัน ควรมาพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยแยกโรคให้ชัดเจน และนำไปสู่การรักษาที่เหมาะสม
ถ่ายเป็นเลือด คืออะไร มีอาการอย่างไร
การถ่ายอุจจาระเป็นเลือด คือการมีเลือดปนออกมาทางทวารหนัก โดยเป็นได้ทั้งถ่ายเป็นเลือดสด (มีสีแดงสด) หรือเป็นเลือดเก่าๆ (มีสีแดงคล้ำ น้ำตาล หรือดำ) ทั้งลักษณะเป็นหยด หรือปนอยู่ในก้อนอุจจาระ หรืออุจจาระลักษณะเป็นสีดำ และมีทั้งที่มีอาการปวดหรือไม่ปวดขณะถ่ายอุจจาระ ซึ่งลักษณะที่แตกต่างกันนี้อาจบ่งบอกถึงสาเหตุและโรคที่แตกต่างกัน ดังนั้น หากมีอาการถ่ายเป็นเลือด ควรสังเกตสี ลักษณะ อาการอื่นที่ร่วมด้วย เพื่อสามารถนำไปประกอบการวินิจฉัยของแพทย์ได้
ถ่ายเป็นเลือด บ่งบอกโรคอะไร
การถ่ายเป็นเลือดสามารถเป็นอาการของโรคได้หลายโรค ไม่เฉพาะเพียงแต่ริดสีดวงทวารเท่านั้น โดยโรคที่อาจทำให้มีอาการถ่ายเป็นเลือด ได้แก่
- ริดสีดวงทวาร โดยลักษณะมักเป็นการมีเลือดหยดขณะอุจจาระ อาจมีอาการปวด หรือเห็นก้อนโผล่จากทวารหนัก
- ลำไส้ใหญ่อักเสบจากการติดเชื้อ มักร่วมกับอาการท้องเสีย ถ่ายเป็นน้ำ ปวดท้อง มีไข้
- เลือดออกในทางเดินอาหาร มีทั้งทางเดินอาหารส่วนบน โดยอุจจาระจะมีสีดำคล้ายยางมะตอย มีกลิ่นคาว และเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนล่าง โดยจะเป็นเลือดสดปนกับอุจจาระ
- ติ่งเนื้องอกในลำไส้ใหญ่ โดยมีเลือดออกเคลือบอยู่ในอุจจาระเป็นๆ หายๆ ซึ่งติ่งเนื้อลำไส้ใหญ่บางชนิดสามารถพัฒนาเป็นมะเร็งได้
- มะเร็งลำไส้ใหญ่ ถ้าเป็นระยะเริ่มแรกอาจไม่มีอาการ ถ้าเป็นมากขึ้นอาจมาด้วยอาการท้องผูกสลับถ่ายเหลว และถ่ายมีเลือดปนในก้อนอุจจาระ มีภาวะซีดร่วมกับปวดท้องได้
...
อาการถ่ายเป็นเลือด เมื่อไรควรมาพบแพทย์
เนื่องจากอาการของริดสีดวงทวารหนัก และเนื้องอก/มะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย บางครั้งมีความคล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะถ้ามีอาการดังนี้ ควรมาพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยแยกโรคให้ชัดเจน และนำไปสู่การรักษาที่เหมาะสม (เพราะในปัจจุบันมะเร็งลำไส้ใหญ่ไม่ได้เกิดกับผู้สูงอายุเท่านั้น คนที่มีอายุน้อยก็สามารถเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้เช่นกัน)
- ถ่ายมีมูกขาวๆ ปนกับเลือดสีคล้ำๆ
- มีภาวะซีดร่วมด้วย
- ถ่ายอุจจาระบ่อย ถ่ายไม่สุด หรืออาการถ่ายไม่ค่อยออก
- รู้สึกปวดในรูทวารหนักตลอดเวลา
- มีอาการท้องผูก สลับท้องเสีย
- ขนาดของอุจจาระเล็กลงอย่างต่อเนื่อง
- น้ำหนักลดลง
- มีประวัติเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ในครอบครัว
ริดสีดวงทวารคืออะไร มีอาการอย่างไร
ริดสีดวงทวาร คือ การที่เส้นเลือดบริเวณทวารหนักมีการโป่งพองจากการเบ่งหรือแรงดันอย่างต่อเนื่อง บางครั้งเส้นเลือดที่โป่งพองมีขนาดใหญ่จนไม่สามารถยุบตัวลงไปเองได้ อาจเกิดการแตก หรือมีเลือดออกเป็นหยดหลังการถ่าย หรืออาจพบเมื่อทำความสะอาด และอาจเกิดความเจ็บปวดได้ในบางราย บางรายอาจคลำก้อนได้บริเวณทวารหนัก มีอาการคัน หรือขับถ่ายไม่สะดวก
โดยริดสีดวงทวารแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
1. ริดสีดวงทวารภายใน
จะเกิดขึ้นภายในทวารหนัก โดยหลอดเลือดที่โป่งพองอาจจะไม่โผล่ออกมาให้เห็น และไม่สามารถคลำได้ จะตรวจพบต่อเมื่อส่องกล้องเท่านั้น ซึ่งมี 4 ระยะของโรค ตามขนาดจากเล็กไปใหญ่ นั่นคือ
- ระยะที่ 1 ขนาดเล็ก อยู่ข้างในรูทวาร ไม่ยื่นออกมา อาจมีเลือดสดๆ ขณะถ่ายหรือหลังถ่ายอุจจาระ
- ระยะที่ 2 หัวริดสีดวงโตขึ้น โผล่ออกมาขณะเบ่งถ่ายและหดกลับเข้าไปได้เองหลังถ่ายอุจจาระเสร็จเรียบร้อย จะมีเลือดออกได้บ่อยขึ้น สีแดงสด
- ระยะที่ 3 หัวริดสีดวงขนาดใหญ่ และโผล่ออกมาขณะเบ่งถ่ายอุจจาระ ไม่กลับเข้าไปได้เอง ต้องใช้มือดันเข้าไป จะมีเลือดออกบ่อยๆ และมีอาการระคายเคืองมากขึ้น
- ระยะที่ 4 หัวริดสีดวงโตมากโผล่ออกมาด้านนอก ไม่สามารถดันกลับเข้าไปได้ อาจรู้สึกปวด รบกวนชีวิตประจำวัน
2. ริดสีดวงทวารภายนอก
ริดสีดวงทวารภายนอก จะเกิดขึ้นบริเวณปากรอยย่นทวารหนัก จากการที่กลุ่มหลอดเลือดดำใต้ผิวหนังปากทวารหนักโป่งพอง สามารถมองเห็นและคลำได้ เวลาอักเสบจะมีอาการเจ็บปวด
บางคนอาจมีทั้งริดสีดวงภายในและภายนอกอักเสบในเวลาเดียวกัน
การรักษาอาการถ่ายเป็นเลือด ที่เกิดจากริดสีดวงทวารหนัก
วิธีการรักษาโรคริดสีดวงทวารหนักขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของแต่ละบุคคล ได้แก่
การรักษาโดยไม่ผ่าตัด
ใช้รักษาริดสีดวงทวารหนักภายใน ระยะที่ 1 และ 2 คือขนาดไม่ใหญ่มาก ซึ่งมีหลายวิธี ดังนี้
- การเหน็บยา
- การฉีดยา
- การใช้ยางรัด (Rubber band ligation)
การรักษาโดยการผ่าตัดริดสีดวง
เหมาะกับริดสีดวงภายนอกอักเสบ และริดสีดวงภายใน ระยะที่ 3 และ 4
- การผ่าตัดแบบมาตรฐานปกติ
- การผ่าตัดริดสีดวงโดยใช้เครื่องมือตัดเย็บอัตโนมัติ (PPH stapler)
- การผ่าตัดริดสีดวงด้วยเลเซอร์
- การผ่าตัดแบบ Doppler guided hemorrhoid artery ligation with recto-anal repair
มะเร็งลำไส้ใหญ่คืออะไร มีอาการอย่างไร
มะเร็งลำไส้ใหญ่ คือเนื้องอกชนิดร้ายแรงที่มีการเจริญเติบโตที่บริเวณลำไส้ใหญ่ และมักสัมพันธ์กับติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ โดยในบางรายอาจพบมีเลือดปนมากับอุจจาระ โดยมีลักษณะเป็นเลือดปนอยู่ในเนื้ออุจจาระ หรือเคลือบอยู่กับอุจจาระ บางรายมีอาการถ่ายเป็นเลือด หรือถ่ายดำ ท้องผูกสลับท้องเสีย อาจมีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด หรือหากเป็นในระยะรุนแรงอาจมีอาการของระบบอื่นที่มีการแพร่กระจายของมะเร็ง เช่น ภาวะเหลือง น้ำในท้อง น้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด หรืออาการทางระบบประสาทจากการแพร่กระจายไปที่สมอง เป็นต้น
...
การวินิจฉัยและรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
การวินิจฉัยสามารถทำได้ตั้งแต่ในระยะต้น โดยปัจจุบันมีการแนะนำการตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 45 ปี หรือผู้ที่อายุน้อยกว่า 45 ปี แต่มีอาการผิดปกติและมีความเสี่ยง เช่น เบาหวาน ประวัติโรคมะเร็งและเนื้องอกในครอบครัว โรคไขมันพอกตับ เป็นต้น
ในการส่องกล้องลำไส้ใหญ่จะตรวจสอบว่ามีติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ ซึ่งมักสัมพันธ์กับมะเร็งหรือไม่ หรือหากพบความผิดปกติอื่นๆ แพทย์ก็จะตัดติ่งเนื้อนั้นผ่านกล้อง และนำชิ้นเนื้อนั้นๆ ออกมาตรวจพิสูจน์ว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ โดยมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นมะเร็งชนิดที่ถ้าตรวจพบตั้งแต่ในระยะเริ่มต้นก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ การรักษาขึ้นอยู่กับระยะและชนิดของมะเร็ง
ถ่ายเป็นเลือด ป้องกันได้อย่างไร
การถ่ายเป็นเลือด สามารถป้องกันได้โดยการรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์หรือกากใย เช่น ผัก ผลไม้ เพื่อป้องกันท้องผูก หรือปรึกษาแพทย์เพื่อรับยาระบาย หากใช้ยาที่อาจทำให้เกิดอาการท้องผูก เช่น
- ยาแก้ปวดชนิดรุนแรง
- ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว
- หลีกเลี่ยงกาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งจะทำให้ร่างกายขาดน้ำ
- ฝึกการขับถ่ายให้ตรงเวลา
- ออกกำลังกายเป็นประจำ จะกระตุ้นการขับถ่ายของลำไส้
- ทำความสะอาดหลังขับถ่ายด้วยน้ำ หรือกระดาษชำระที่มีความนุ่ม ป้องกันการเสียดสีจนเกิดแผลและความเจ็บปวดได้
บทความโดย : นพ.พรเทพ ประทานวณิช ศัลยแพทย์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก รพ.สมิติเวช สุขุมวิท