“โรคกระดูกพรุนชนิดทุติยภูมิ (secondary osteoporosis)” หมายถึง โรคกระดูกพรุนที่เกิดจากการเป็นโรคอื่นหรือใช้ยาบางชนิด ทำให้มวลกระดูกลดลง และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหัก ซึ่งจะแตกต่างจากโรคกระดูกพรุนในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน และโรคกระดูกพรุนในผู้สูงวัย ซึ่งเป็นโรคกระดูกพรุนชนิดปฐมภูมิ
สาเหตุ
สาเหตุของโรคกระดูกพรุนชนิดทุติยภูมิแบ่งเป็น สาเหตุจากโรคหรือภาวะเจ็บป่วย และสาเหตุจากยา
ตัวอย่างโรคกระดูกพรุนชนิดทุติยภูมิที่พบบ่อย ได้แก่ ภาวะขาดวิตามินดี ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป ภาวะต่อมพาราไทรอยด์สังเคราะห์ฮอร์โมนเพิ่มขึ้น โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย โรคติดเชื้อเอชไอวี โรคเบาหวาน ภาวะรังไข่หยุดทำงานก่อนวัย โรคกระดูกพรุนจากยาสเตียรอยด์ และการรักษาโรคมะเร็งที่ทำให้เกิดการสูญเสียมวลกระดูกในโรคมะเร็งเต้านมและมะเร็งต่อมลูกหมากระยะไม่ลุกลาม
การวินิจฉัย
แพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย วัดความหนาแน่นของกระดูก และส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการอย่างเหมาะสม เพื่อหาว่าผู้ป่วยรายนั้นมีโรคกระดูกพรุนชนิดทุติยภูมิหรือไม่
...
ลักษณะของผู้ป่วยที่ควรได้รับการคัดกรองหาโรคกระดูกพรุนชนิดทุติยภูมิ ได้แก่
1) ผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 50 ปี ที่ได้รับการวินิจฉัยโรคกระดูกพรุน
2) ผู้หญิงวัยก่อนหมดประจำเดือนที่ได้รับการวินิจฉัยโรคกระดูกพรุน
3) ผู้ชายที่ได้รับการวินิจฉัยโรคกระดูกพรุน และมีอายุน้อยกว่า 65 ปี
4) ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนทุกรายที่มีกระดูกพรุนในระดับรุนแรง เช่น T-score น้อยกว่า -3.0 และหรือมีกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุนเกิดขึ้นแล้ว เป็นต้น
5) มีค่า Z-score น้อยกว่าหรือเท่ากับ -2.0
6) ผู้ป่วยที่มีการสูญเสียกระดูก (bone loss) อย่างรวดเร็ว
7) ผู้ป่วยที่มีการสูญเสียกระดูกเกิดขึ้น แม้ว่าได้รับการรักษาโรคกระดูกพรุนอย่างเหมาะสมแล้ว
8) ผู้เชี่ยวชาญหลายสมาคมแนะนำให้คัดกรองหาโรคกระดูกพรุนชนิดทุติยภูมิในผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคกระดูกพรุนทุกราย เนื่องจากพบโรคกระดูกพรุนชนิดทุติยภูมิได้บ่อย แม้ว่าผู้ป่วยรายนั้นเป็นผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน หรือผู้ชายสูงอายุก็ตาม
การรักษา
การรักษาโรคกระดูกพรุนชนิดทุติยภูมิ แบ่งเป็น การรักษาแบบไม่ใช้ยา การรักษาที่จำเพาะกับโรคหรือภาวะที่เป็นสาเหตุ และการใช้ยารักษาโรคกระดูกพรุนในบางโรคหรือภาวะ
การรักษาแบบไม่ใช้ยา
โดยการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการรักษาแบบไม่ใช้ยาในผู้ป่วยทุกรายหากไม่มีข้อห้าม ซึ่งประกอบด้วย การออกกำลังกายชนิดที่มีการกระแทก และชนิดที่เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ การได้รับแคลเซียมและโปรตีนอย่างเพียงพอ การได้รับวิตามินดีอย่างเพียงพอ การปรับพฤติกรรมดังต่อไปนี้เพื่อลดความเสี่ยงของกระดูกหัก ได้แก่ เลิกสูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป และป้องกันและลดความเสี่ยงของการหกล้ม
การรักษาที่จำเพาะกับโรคหรือภาวะที่เป็นสาเหตุของโรคกระดูกพรุนชนิดทุติยภูมิ
เป็นขั้นตอนการรักษาที่สำคัญที่สุดเพื่อช่วยลดความเสี่ยงของกระดูกหักได้ หรืออาจทำให้ความแข็งแรงหรือโครงสร้างของกระดูกกลับมาเป็นปกติได้ ในขณะที่การให้ยารักษาโรคกระดูกพรุนเหมือนในผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนชนิดปฐมภูมิในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนเพียงอย่างเดียว ยังมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ เช่น การรักษาหลักของโรคกระดูกพรุนที่เกิดในผู้ป่วยโรคไทรอยด์เป็นพิษ คือการรักษาโรคไทรอยด์เป็นพิษนั้นให้หายขาด เป็นต้น
การรักษาโดยใช้ยารักษาโรคกระดูกพรุนในบางโรคหรือภาวะ
อาจต้องใช้ยารักษาโรคกระดูกพรุนร่วมด้วยกับการรักษาเฉพาะโรค เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งมักต้องพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
...
การป้องกัน
ควรดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง เพิ่มพฤติกรรมที่เพิ่มความแข็งแรงของกระดูก ลดพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจนำมาสู่การเกิดกระดูกหัก รวมถึงหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงและการใช้ยา ที่เป็นสาเหตุของโรคกระดูกพรุนชนิดทุติยภูมิ และได้รับการรักษาโรคประจำตัวที่เกี่ยวข้องกับโรคกระดูกพรุนชนิดทุติยภูมิอย่างเหมาะสม
@@@@@@
แหล่งงข้อมูล
รศ.พญ.หทัยกาญจน์ นิมิตพงษ์ สาขาวิชาโรคต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึม ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล