“การนอนหลับ” เป็นสิ่งสำคัญส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ เนื่องจากขณะที่หลับ อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายได้หยุดพักอย่างเต็มที่ อีกทั้งยังมีการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ และการปรับสมดุลของสารเคมีต่างๆ ในร่างกาย อีกทั้งยังส่งผลในเรื่องของความจำและพัฒนาการต่างๆ โดยเฉพาะในเด็ก ดังนั้น การนอนหลับพักผ่อนที่ดีและมีประสิทธิภาพ จึงส่งผลต่อพัฒนาการที่ดีต่อไปในอนาคตของเด็กคนนั้น

เวลานอนที่เหมาะสมของเด็กแต่ละช่วงวัย เด็กแรกเกิด-6 เดือน เป็นช่วงที่หลับสลับกับตื่น แต่โดยรวมแล้วเด็กจะนอนรวมประมาณ 12-16 ชั่วโมง ในช่วงอายุ 6 เดือน-1 ปี จำนวนชั่วโมงจะลดลงเหลือประมาณ 14-15 ชั่วโมง จากนั้นเด็กจะเข้าสู่วัยก่อนวัยเรียนจำนวนชั่วโมงการนอนประมาณ 11-13 ชั่วโมง วัยเรียนจำนวนชั่วโมงการนอนประมาณ 10-11 ชั่วโมง จนเข้าวัยรุ่นชั่วโมงการนอนของเด็กจะลดลงไปเรื่อย ๆ จนเท่ากับผู้ใหญ่ คือ 7-9 ชั่วโมง โดยควรฝึกให้เด็กมีสุขลักษณะในการนอนที่ดีนอนเหมาะสมตามช่วงวัย

หากเด็กมีปัญหาการนอนหลับ เช่น นอนกรน ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น จะส่งผลต่อความจำ สมาธิ และปัญหาการเรียน ซนมากกว่าเด็กคนอื่น ดังนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองควรสังเกตพฤติกรรมของเด็กว่ามีอาการดังกล่าวข้างต้นหรือไม่

...

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น คือ ภาวะที่มีการอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนต้น ที่เกิดขึ้นเป็นช่วงๆ ในขณะนอนหลับ ทำให้เกิดภาวะพร่องออกซิเจนในเลือด และเกิดภาวะคาร์บอนไดออกไซด์คั่งในเลือด ซึ่งมีผลทำให้คุณภาพของการนอนหลับลดลง เด็กจะมาด้วยอาการ ได้แก่ นอนกรนบ่อยมากกว่า 3 คืนต่อสัปดาห์ หายใจแรงกว่าปกติในขณะนอนหลับ มีหยุดหายใจแล้วตามด้วยเสียงหายใจดังเฮือก ปัสสาวะรดที่นอน นอนในท่านั่งหลับหรือแหงนคอขึ้น ริมฝีปากเขียว ปวดศีรษะตอนตื่นนอนผล็อยหลับ หรือง่วงเวลากลางวัน มีปัญหาการเรียนและพฤติกรรม เช่น ซุกซนผิดปกติ หรือสมาธิสั้น ก้าวร้าว และจากการตรวจร่างกายในเด็ก จะพบได้ทั้งน้ำหนักน้อย หรืออ้วนกว่าเกณฑ์ ต่อมทอนซิลโต คางเล็กหรือร่นหลัง เพดานปากโค้งสูงหรือโหว่ การเจริญเติบโตช้ากว่าเกณฑ์ ความดันโลหิตสูง อาการแสดงหัวใจด้านขวาล้มเหลว

หากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้หลายระบบ ได้แก่ ระบบประสาทและพฤติกรรมซึ่งส่วนใหญ่จะแสดงออกเป็นการซนมากผิดปกติ บางครั้งมีปัญหาเรื่องความตั้งใจในการทำงานจนเข้าข่ายโรค ซนสมาธิสั้น หรืออาจมีพฤติกรรมก้าวร้าว หรือหลับมากผิดปกติในช่วงกลางวัน ระบบหัวใจและหลอดเลือดได้แก่ การควบคุมความดันโลหิตผิดปกติ ความดันโลหิตสูง หัวใจห้องซ้ายหนาตัวขึ้น และหากอาการรุนแรงมีภาวะพร่องออกซิเจนในเลือดติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน จะทำให้มีความดันเลือดในปอดสูง หัวใจห้องขวาทำงานผิดปกติ และหัวใจวายในที่สุด ระบบต่อมไร้ท่อ เช่น ปัญหาโรคอ้วน การสะสมไขมันที่ผิดปกติ เป็นต้น

การรักษาในเด็กโดยการผ่าตัดต่อมอดีนอยด์และทอนซิล เป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในผู้ป่วยเด็กที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นที่มีต่อมทอนซิลและ/หรืออะดีนอยด์โต พบว่าช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ และทำให้คุณภาพชีวิตตลอดจนปัญหาทางด้านพฤติกรรมของผู้ป่วยดีขึ้นเมื่อเทียบกับผู้ป่วยเด็กที่ได้รับการรักษาแบบติดตามอาการ

และมีการรักษาอื่นๆ เช่น การใช้ยา มีการนำยาพ่นจมูกกลุ่มสเตียรอยด์ใช้ในผู้ป่วยเด็กที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นที่มีความรุนแรงน้อย ผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดต่อมทอนซิลและ/หรืออะดีนอยด์ได้ หรือหลังผ่าตัดแล้วยังมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นเหลืออยู่ในระดับรุนแรงน้อย อย่างไรก็ตามเนื่องจากการตอบสนองต่อยาในผู้ป่วยแต่ละรายอาจแตกต่างกัน ในรายที่ใช้ยาแล้วอาการกรนดีขึ้น แต่ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นอาจจะยังไม่หายขาด และหลังหยุดใช้ยาอาจมีอาการกลับมาได้ จึงควรติดตามอาการผู้ป่วยขณะใช้ยาและหลังจากหยุดใช้ยาแล้ว

นอกจากนี้ การแนะนำฝึกให้เด็กมีสุขลักษณะในการนอนที่ดี จะช่วยรักษาปัญหาจากการนอนหลับในเด็กได้ ดังนี้

1. ควรเข้านอนให้เป็นเวลาทุกคืน และไม่ควรเกิน 3 ทุ่ม
2. ในเด็กเล็กควรจัดให้มีตารางการงีบหลับกลางวัน
3. ควรกำหนดระยะเวลาการนอนหลับให้สม่ำเสมอ
4. ห้องนอนควรจะมืด เงียบไม่มีเสียงรบกวน และมีอุณหภูมิที่เย็นสบาย
5. ส่งเสริมให้เด็กหลับอย่างอิสระตามเวลาของเด็ก
6. หลีกเลี่ยงแสงในเวลานอน และควรให้เด็กเจอแสงในเวลาตื่นนอน
7. หลีกเลี่ยงอาหารมื้อหนัก และการออกกำลังก่อนนอน
8. ไม่ควรดูโทรทัศน์ หรือเล่นคอมพิวเตอร์ รวมทั้งโทรศัพท์มือถือ และแท็บเล็ต ในห้องนอน
9. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนไม่ว่าจะเป็นกาแฟ หรือชา น้ำอัดลม รวมทั้งช็อกโกแลต
10. รักษาตารางการเข้านอน การตื่นนอน ให้สม่ำเสมอ

หากปฏิบัติตามคำแนะนำที่กล่าวมาข้างต้น ก็จะช่วยให้ลูกนอนอย่างมีประสิทธิภาพ เรียนอย่างมีสมาธิ แต่หากพบว่าลูกมีอาการนอนที่ผิดปกติ หรือมีอาการอื่น ๆ ระหว่างวัน ก็ควรพาไปพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อหาสาเหตุและเข้ารับการรักษา เพื่อให้เขามีพัฒนาการที่ดี เติบโตและสมวัย

...

แหล่งข้อมูล

อ.พญ.อัญชนา ทองแย้ม แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบหายใจและด้านการนอนหลับในเด็ก สังกัดศูนย์โรคการนอนหลับ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล