อาการเป็นหวัดเรื้อรัง คัดจมูกบ่อยๆ ที่หลายคนอาจคิดว่าเป็นเรื่องเล็กๆ อาจเป็นสัญญาณเริ่มต้นของโรคมะเร็งหลังโพรงจมูก ที่บางครั้งกว่าจะตรวจพบ อาการของโรคก็ลุกลามไปมากแล้ว

มะเร็งหลังโพรงจมูก (Nasopharyngeal carcinoma: NPC) เป็นการเติบโตของเซลล์ที่ผิดปกติหรือมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับเซลล์ ความเปลี่ยนแปลงนี้จะก่อให้เกิดเนื้อร้ายที่สามารถแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆของร่างกายได้ เป็นมะเร็งที่เกิดบริเวณหลังโพรงจมูก ซึ่งมีลักษณะเป็นโพรงกว้าง อยู่ทางด้านหลังของจมูก เป็นทางผ่านของอากาศไปยังผนังคอ เป็นตำแหน่งที่สารบางอย่างไหลผ่านเข้าไปได้ง่าย เช่น ควันบุหรี่ ควันพิษต่างๆ หรือสารที่เกิดจากการเผาไหม้และอาจเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ส่งผลให้เกิดการระคายเคืองบริเวณดังกล่าว

มะเร็งหลังโพรงจมูกเป็นหนึ่งในมะเร็งบริเวณศีรษะและคอที่พบบ่อยในประเทศไทย ช่วงอายุที่พบบ่อยคือ 30-60 ปี และพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 3 เท่า

สาเหตุและปัจจัยความเสี่ยงสำคัญคือ การติดเชื้อเรื้อรังของไวรัส EBV (Epstein-Barr Virus) ความเสี่ยงทางด้านพันธุกรรม พบมากในบริเวณ South East Asia โดยเฉพาะในประเทศจีนตอนใต้และฮ่องกง พฤติกรรมการรับประทาน

...

อาหาร เช่น การรับประทานเนื้อสัตว์หมักดองเป็นเวลานาน ปลาเค็ม เนื้อเค็ม แหนม ไส้กรอกอีสาน ซึ่งมีสารก่อมะเร็งที่ชื่อว่าไนโตรซามีน (Nitrosamines) เป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งหลังโพรงจมูก โดยหากสูดดมสารนี้เข้าไปสัมผัสกับเยื่อบุหลังโพรงจมูก อาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของ DNA ของเซลล์เยื่อบุผิว จนเกิดการกลายพันธุ์ของเซลล์ได้ การสัมผัสสารก่อมะเร็งจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม เช่น ฝุ่นไม้หรือขี้เลื่อย ฝุ่นหนัง ฝุ่นจากสิ่งทอ บุหรี่ ไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์สารประกอบนิกเกิล ฟอร์มาดีไฮด์ และโครเมียม รวมถึง PM 2.5 ด้วย

อาการเบื้องต้นของโรคนี้ ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายไข้หวัด ไอ เจ็บคอ และน้ำมูกไหล ทำให้เข้าใจผิดและไม่ตื่นตัวที่จะไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจหรือรักษาอาการสำคัญที่สังเกตได้ชัดที่สุดในระยะแรก คือ อาการหูอื้อข้างเดียว ชาที่บริเวณใบหน้าบางส่วน และมีก้อนนูนอยู่ตรงต้นคอใต้ติ่งหู ที่เรียกส่วนนี้ว่าลำคอด้านนอกส่วนบน บางครั้งมีเลือดกำเดาไหลและคัดจมูกข้างเดียว อาจมีการเห็นภาพซ้อนในบางครั้ง ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นอาการเริ่มแรกของมะเร็งหลังโพรงจมูก ที่หากสังเกตดีๆจะรู้ว่าแตกต่างจากไข้หวัดทั่วไป หากมีอาการเหล่านี้นอกเหนือจากไอ เจ็บคอ และน้ำมูกไหล ควรรีบพบแพทย์ โดยเฉพาะในคนที่มีอาการบวมมากขึ้น เลือดกำเดาไหลมากขึ้น หูอื้อมากขึ้น ปวดหู และเกิดการติดเชื้อในหูชั้นกลาง

การตรวจวินิจฉัยและรักษามะเร็งหลังโพรงจมูก แพทย์จะทำการส่องดูภายในจมูก โดยใช้กระจกหรือกล้องบางชนิด เพื่อดูที่หลังโพรงจมูกว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นหรือไม่ หากพบเนื้องอกบางอย่าง ที่ส่วนมากมักเป็นข้างใดข้างหนึ่งมีลักษณะเนื้อนูน ผิวขรุขระ อาจมีเลือดซึมหรือไม่มีเลือด อาจต้องทำการตัดชิ้นเนื้อออกมาตรวจ และดูว่ามีการกระจายไปยังส่วนอื่นๆหรือไม่ หรือกระจายไปยังส่วนไหนแล้วบ้าง

เมื่อตรวจเรียบร้อยแล้วก็จะทำการรักษาด้วยวิธีรังสีรักษา หรือที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่าฉายแสง ซึ่งก่อนฉายแสงแพทย์จะให้ผู้ป่วยทำฟันก่อน เพราะหลังฉายแสงแล้วจะไม่มีการยุ่งกับคนไข้ที่ฟันผุเด็ดขาด เนื่องจากจะทำให้ติดเชื้อและเกิดการอักเสบที่กระดูกกรามได้ง่าย ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังการฉายแสง ผู้ป่วยอาจจะเจ็บคอค่อนข้างมาก จึงมักให้อาหารทางกระเพาะอาหาร เพื่อลดการเสียดสีหรือกลืนที่ทำให้ผู้ป่วยเจ็บปวดมาก

ในคนไข้บางรายที่อาการหนักมะเร็งลุกลามออกนอกหลังโพรงจมูกแล้ว การฉายแสงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ แพทย์อาจใช้การรักษาร่วมกับเคมีบำบัด เพื่อประสิทธิภาพการรักษาที่ดีขึ้น และในกรณีที่การรักษาทั้งสองวิธีไม่ดีขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมะเร็งไม่ตอบสนองต่อการรักษาโดยการฉายรังสี แพทย์อาจตัดสินใจใช้การรักษาโดยการผ่าตัด.

...