ความเครียด มีสาเหตุมาจากวิถีชีวิตปัจจุบัน ที่เราทำงานกันอย่างหนักหน่วง คนทำงานต้องรับมือจนถึงดึกดื่น หลายคนต้องคุยไลน์ ตอบอีเมล หลายคนต้องการเป้าหมายผลลัพธ์ที่ดีที่สุด สำเร็จทั้งทางฐานะการเงิน สังคม ความรับผิดชอบต่อครอบครัว และยังต้องรักษาความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
ภารกิจต่างๆ ผลักดันให้มนุษย์ต้องมีความกดดันในการใช้ชีวิต และความเครียดมากมาย ดึงเอาพลังงานด้านการตื่นตัวมาใช้แบบไม่มีการพักผ่อน จนร่างกายจดจำทำซ้ำ ไม่สามารถควบคุมฮอร์โมนการตื่นตัวที่มากเกินไปจนร่างกายเสียสมดุล
อ่านเพิ่มเติม: ไขความลับความเครียด กระตุ้นมนุษย์ให้ตื่นตัวมากเกินไป
ขณะเดียวกันความเครียดสะสม ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดโรค แต่ละวันที่เราไปเผชิญภาระความรับผิดชอบกับชีวิต หลายคนเลือกผ่อนคลายความเครียด โดยการเพิ่มผลกระทบอื่นสู่ร่างกาย เช่น การปาร์ตี้ ดื่ม และสูบ รวมถึงการกิน ล้วนเป็นสิ่งที่จะส่งผลกระทบต่อร่างกายมากขึ้น
...
แต่หากมองตามตำราศาสตร์ "อายุรเวท" วิธีการดูแลสุขภาพที่มีมายาวนานกว่า 3,000 ปี มีตั้งแต่การป้องกัน จนถึงรักษา โดยหลักการสำคัญ คือ การเข้าใจธรรมชาติของร่างกายและจิตใจเรา เรียกว่าการมีสติ ตระหนักรู้ ก็จะทำให้รู้เท่าทันเชื้อโรค และสิ่งแปลกปลอม ที่ทำให้ร่างกายเกิดโรค โดยวิธีปฏิบัติเริ่มตั้งแต่การควบคุมดูแลสุขอนามัยความสะอาดทั้งจิตใจและร่างกายอย่างเคร่งครัด ควบคู่กับการดูแลภูมิอากาศ และสิ่งแวดล้อมรอบตัว การออกกำลังกาย โยคะ และการใช้สมุนไพรให้สมดุล
หลักการเบื้องต้นของการสมดุลในร่างกายของศาสตร์อายุรเวท คือ เข้าใจการทำงานของจิตและร่างกาย มีส่วนประกอบ 3 ธาตุ หรือ ตรี โทศะ (Tri Dosha) ที่ต้องรักษาสมดุล หรือ แพทย์แผนไทยคือ ธาตุเจ้าเรือน ประจำตัวเด่นแตกต่างกันไป ประกอบด้วย
1. วาตะ (Vata) ธาตุลมในร่างกาย ควบคุมการเคลื่อนไหวของส่วนต่างๆ ในร่างกาย การหายใจ และควบคุมอารมณ์ความรู้สึก
2. ปิตตะ (Pitta) ธาตุไฟ พลังการเผาผลาญให้ความอบอุ่นร่างกาย การดูดซึมอาหาร ก่อให้เกิดความโกรธ อิจฉาริษยา
3. กผะ (Kapha) ธาตุดิน และน้ำ เป็นโครงสร้างร่างกายที่ทำให้เส้นเอ็นกล้ามเนื้อหล่อลื่นส่วนต่างๆ ของร่างกาย ตอบสนองต่ออารมณ์การยึดติด ความโลภ การให้อภัยและความรัก รวมถึงความเคลื่อนไหว และการเฉื่อยชา
สิ่งเหล่านี้ทำงานเป็นเวลาของธรรมชาติ บางช่วงเราต้องการพลังไฟในการเผาผลาญ บางช่วงต้องการลมมาเคลื่อนพลัง ดับอารมณ์ความรู้สึกที่ตื่นตัว รัก โลภ โกรธ หลง ให้สงบ และเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อให้เคลื่อนไหวพลังงานในร่างกายได้อย่างสมดุล
นอกจากนี้การค้นหาตัวตนที่ดีที่สุด คือ ความสุข สงบในจิตใจ จะนำมาซึ่งประโยชน์นานัปการ ดังนั้นในทุกๆ วันเราจึงควรปล่อยให้นาฬิกาชีวิตทำงานเหมือนดวงอาทิตย์ มีขึ้น และมีลง เมื่อร่างกายตื่นตัวยามเช้า ตอนเย็นก็ควรจะละทิ้งทุกอย่างกลับคืนสู่ตัวเรา เมื่อกลับมาถึงบ้านทุกวันเราจึงต้องคืนกลับสู่จิตใจสงบ หรือ ดึงจิตกลับสู่ร่างกายของเรา ด้วยการอยู่กับตัวเองสักครู่
สิ่งที่หลอมรวมจิตกับกายให้อยู่ด้วยกัน อยู่กับปัจจุบัน คือ "ลมหายใจ" ซึ่งลมหายใจมีผลต่อชีวิตมากกว่าที่คิด ลมหายใจ คือ "พลังชีวิต" เมื่อเราเริ่มควบคุมลมหายใจได้ ก็นำไปสู่การควบคุมพลังงานและการพัฒนาร่างกายและจิต เป้าหมายต่างๆ ในชีวิตดำเนินไปตามที่เราตั้งใจไว้
หากใครที่ยังใหม่ในการทำสมาธิอยู่กับลมหายใจ ในเบื้องต้นแนะนำให้สัมผัสธรรมชาติ จะช่วยดูดซับความสับสนวุ่นวาย ปล่อยร่างกายและจิตใจให้กลมกลืนกับธรรมชาติ เมื่อจิตสงบนิ่งโดยธรรมชาติ ก็จะทำให้เราเข้าใจธรรมชาติ ก็จะนำไปสู่การเข้าใจธรรมชาติวิธีชีวิตในตัวเรา เฝ้าสังเกตร่างกาย ความเครียดกดดัน ทุกข์ หรือ สุข อารมณ์ต่างๆ เกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไปตามธรรมชาติ
ทางเลือกอีกทางที่จะเชื่อมกายกับจิตเข้าหากัน คือ การฝึกโยคะ โดยลมหายใจควบคู่กับการเคลื่อนไหว ลมหายใจเข้าออก จะเป็นตัวเชื่อม ดึงสติ ตระหนักรู้ จิตใจจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เป็นเวลานาน หรืออาจจะใช้เทคนิค การสวดมนต์ ก็ช่วยให้จิตใจสงบอีกวิธี เมื่อจิตใจและร่างกาย ตระหนักรู้ หลอมรวมกายและจิตใจเป็นหนึ่งเดียวกัน ความสับสน วุ่นวายทั้งกายใจทำให้เจ็บป่วยก็จะมีโอกาสค่อยๆ กลับมาเยียวยาตัวเองได้
...