เราเตอร์ไว-ไฟ คือตัวกระจายสัญญาณความถี่วิทยุหรืออินเตอร์เน็ตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโทรศัพท์ แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์จะรับสัญญาณเพื่อให้บริการออนไลน์ เมื่อคลื่นความถี่ที่มองไม่เห็นเคลื่อนที่ มันจะตีกลับหรือทะลุผ่านทุกสิ่ง ทั้งกำแพง ผนัง เฟอร์นิเจอร์ หรือร่างกายคนเรา และก็มีการวิจัยพบว่า การเคลื่อนไหวของคนเรา เช่น การหายใจ จะเปลี่ยนเส้นทางของสัญญาณจากเราเตอร์ไปยังอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เล็กน้อย

เมื่อเร็วๆนี้ ทีมวิจัยนำโดยสถาบันมาตรฐานและเทคโนโลยีแห่งสหรัฐอเมริกา (NIST) โดยเจสัน โคเดอร์ เผยการพัฒนาอัลกอริธึมชื่อ BreatheSmart ซึ่งสามารถวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงเล็กๆน้อยๆ ของสัญญาณความถี่ เพื่อช่วยระบุถึงผู้ที่มีปัญหาในการหายใจ ทีมอธิบายว่า การใช้เราเตอร์ไว-ไฟ วัดอัตราการหายใจของบุคคล จะใช้ข้อมูลข่าวสารของช่องสัญญาณ (CSI) ที่ส่งจากระบบรับ เช่น โทรศัพท์มือถือ แล็ปท็อป ไปยังจุดเชื่อมต่อคือเราเตอร์ โดยสัญญาณ CSI ที่ส่งออกมาจะเหมือนกันเสมอ แต่เมื่อสัญญาณของ CSI เคลื่อนผ่านออกไป มันจะบิดเบี้ยวเมื่อกระเด้งออกจากสิ่งของหรือสูญเสียแรง ตัวกระจายสัญญาณไว-ไฟก็จะวิเคราะห์ปริมาณของการบิดเบี้ยว

ทีมจึงได้สร้างหุ่นจำลองเพื่อจำลองสภาวะการหายใจหลายแบบ ทั้งหายใจปกติไปจนถึงหายใจผิดปกติ เช่น หายใจเร็วผิดปกติจากโรคหอบหืด ปอดบวม ปอดอุดกั้นเรื้อรัง ตั้งไว้ในห้องควบคุมเสียงสะท้อนพร้อมเราเตอร์และตัวรับสัญญาณไว-ไฟที่ขายตามท้องตลาด ทีมพบว่า ขณะที่หุ่นหายใจ การเคลื่อนไหวของหน้าอกทำให้เส้นทางที่สัญญาณไว-ไฟเคลื่อนที่เปลี่ยนไป โดยอัลกอริธึม BreatheSmart ทำให้ทีมจำแนกรูปแบบการหายใจได้.

Credit : Susanna Mosleh /NIST