“โรคลมพิษหรือผื่นลมพิษ” ตรงกับภาษาอังกฤษว่า “urticaria” เป็นโรคที่มีลักษณะผื่นนูนคัน (wheal) ล้อมรอบด้วยรอยโรคแดง (flare) โดยผื่นสามารถขึ้นได้ทั้งตัว ใบหน้า ลำตัว และแขนขา โดยผื่นจะหายภายใน 24 หรือ 48 ชั่วโมง โดยไม่เหลือร่องรอยไว้เลย

ประเภทของโรคลมพิษ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

1. ลมพิษเฉียบพลัน (acute urticaria) คือผื่นลมพิษที่มีอาการต่อเนื่องเป็นเวลาน้อยกว่า 6 สัปดาห์ พบได้บ่อยทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะหายจากโรคภายใน 3-6 สัปดาห์

เป็นลมพิษชนิดที่มีความสำคัญมาก เพราะคนไข้บางรายอาจแพ้แบบรุนแรงได้ เรียกว่า “anaphylaxis” ซึ่งนอกจากจะมีผื่นที่กล่าวมาแล้ว จะมีอาการบวมที่บริเวณใบหน้า รอบดวงตา เยื่อบุปาก ปากบวม รวมถึงบวมที่เยื่อบุในทางเดินหายใจ เช่น หลอดลม ทำให้มีอาการแน่นหน้าอก หายใจขัด จนถึงช็อกและหมดสติได้ ซึ่งเป็นภาวะเร่งด่วนที่ต้องให้ยาและสังเกตอาการ เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

สาเหตุของลมพิษเฉียบพลัน ที่พบบ่อยมีดังนี้

     1.1 การแพ้อาหาร โดยส่วนมากจะมีอาการตั้งแต่เด็ก ซึ่งสาเหตุของอาหารที่แพ้ ได้แก่ นมวัว ไข่แดง ไข่ขาว ถั่ว ข้าวสาลี อาหารทะเลเปลือกแข็ง เป็นต้น เมื่อรับประทานอาหารที่แพ้ไป ภายใน 6 ชั่วโมง ก็จะเกิดอาการผื่นลมพิษขึ้น และสามารถแพ้แบบรุนแรงชนิด Anaphylaxis ได้

     1.2 การแพ้ยา เช่น ยากลุ่มเพนนิซิลิน ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAID สารทึบรังสีเมื่อฉีดขณะทำการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ สามารถเกิดผื่นลมพิษเฉียบพลันได้เช่นกัน

     1.3 การติดเชื้อไวรัส เช่น ไข้ออกผื่นในเด็ก หรือเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิดที่เกิดฝีหนอง ทำให้เกิดลมพิษได้

...

     1.4 แมลงสัตว์กัดต่อย เช่น ผึ้ง มด ต่อ แตน เป็นต้น


2. ลมพิษเรื้อรัง คือผื่นลมพิษที่มีอาการอย่างน้อย 2 ครั้งต่อสัปดาห์ และต่อเนื่องนานกว่า 6 สัปดาห์ มักพบในผู้ป่วยวัยกลางคน 20-40 ปี และพบในเด็กได้น้อย

สาเหตุของลมพิษเรื้อรัง สามารถจัดประเภทเป็นกลุ่มย่อยตามสาเหตุ และพยาธิกำเนิดได้ดังนี้

      2.1 ผื่นลมพิษเรื้อรังที่เกิดขึ้นเอง (Spontaneous urticaria) โรคลมพิษเรื้อรังส่วนใหญ่ไม่มีสาเหตุ แต่อาจเกิดจากการมีภาวะต่างๆ ซ่อนอยู่ เช่น การมีแอนติบอดีต่อโรคไทรอยด์ การมีฟันผุ โรคกระเพาะจากการติดเชื้อแบคทีเรีย H. pyroli เป็นต้น

      2.2 ลมพิษจากปัจจัยทางกายภาพ (Physical urticaria) คือ ผื่นลมพิษที่เกิดจากการกระตุ้นโดยปัจจัยทางด้านกายภาพ กล่าวคือเมื่อได้รับปัจจัยกระตุ้นก็ทำให้เกิดผื่นลมพิษ ได้แก่

          2.2.1 Cold urticaria ลมพิษหลังสัมผัสความเย็น หรือน้ำแข็ง

          2.2.2 Aquagenic urticaria ลมพิษหลังสัมผัสน้ำ

          2.2.3 Cholinergic urticaria ลมพิษหลังจากออกกำลังกายจนเหงื่อออก หรือการออกกำลังกายหนักแล้วอุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้น ก็ทำให้เกิดลมพิษได้เช่นกัน

          2.2.4 Heat urticaria ลมพิษหลังสัมผัสความร้อน

          2.2.5 Solar urticaria ลมพิษหลังสัมผัสแสงอัลตราไวโอเล็ต และ visible light

          2.2.6 Delayed pressure urticaria ลมพิษหลังโดนกดทับ เช่น สายชุดชั้นในที่รัด การใส่กางเกงที่คับเกินไป ก็ทำให้เกิดลมพิษตามรอยกดทับได้

การรักษาและดูแลตนเอง

ขั้นตอนการรักษาลมพิษเฉียบพลัน และเรื้อรัง มีดังนี้

  • การกำจัดสาเหตุและหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น เช่น หยุดยาที่เป็นสาเหตุของลมพิษ เลี่ยงอาหารที่แพ้ เลี่ยงโดนความเย็นใน cold urticarial เป็นต้น
  • แนวทางการดูแลรักษาที่จำเพาะ ได้แก่ การให้ยาต้านซามีน (Antihistamine) จัดเป็นการรักษาหลักของโรคลมพิษ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม H1 และ H2 antihistamine ซึ่งต้องรับประทานก่อนเกิดผื่นลมพิษ และต่อเนื่องตามคำแนะนำของแพทย์

...

การพยากรณ์โรค

โรคลมพิษเฉียบพลัน ส่วนใหญ่ร้อยละ 90 ของผู้ป่วยจะหายเองในเวลา 3-6 สัปดาห์ สำหรับลมพิษเรื้อรัง ร้อยละ 50 ของผู้ป่วยหายได้เองใน 1 ปี ร้อยละ 65 ของผู้ป่วยหายได้เองใน 3 ปี และร้อยละ 85 ของผู้ป่วยหายได้เองใน 5 ปี ตามลำดับ

การวินิจฉัยแยกโรค

ในการรักษาลมพิษ (urticaria) จะต้องวินิจฉัยแยกโรคออกจากลมพิษเส้นเลือดฝอยอักเสบ (urticarial vasculitis) ให้ได้ เนื่องจากอาการใกล้เคียงกันมาก โดยลมพิษเส้นเลือดฝอยอักเสบจะมีไข้ ปวดข้อ และลักษณะผื่นลมพิษใช้เวลาหายนานกว่า 1-2 วัน และเมื่อผื่นหายแล้วจะเป็นรอยดำ หากมีลักษณะดังกล่าวควรรีบมาพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุว่ามีการอักเสบของเส้นเลือดบริเวณอื่นในร่างกายอีกหรือไม่ เพื่อจะได้วางแผนการรักษาต่อไป

@@@@@

แหล่งข้อมูล

รศ. พญ.สุธินี รัตนิน สาขาวิชาโรคผิวหนัง ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล