ปกติร่างกายจะมีระบบภูมิคุ้มกันตนเองที่ทำหน้าที่ต่อต้านเชื้อโรคต่างๆ แต่ในบางครั้งหากมีปัจจัยกระตุ้นและระบบภูมิคุ้มกันนี้กลับมาทำร้ายตัวเราเอง ต่อต้านเซลล์ในร่างกาย ก็จะเกิดโรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE) ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าระบบภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติขึ้นมาไปต่อต้านเซลล์หรือร่างกายในอวัยวะหรือระบบไหน ซึ่งมีได้หลายระบบเลย และอาการแสดงก็แตกต่างกันออกไป
โรคแพ้ภูมิตัวเอง เป็นโรคที่พบได้ทุกเชื้อชาติ ตั้งแต่วัยรุ่นถึงวัยกลางคน อายุระหว่าง 20-40 ปี แต่จะพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชายมากถึง 8-9 เท่า
สาเหตุของการเกิดโรคที่แท้จริงยังไม่สามารถสรุปได้ แต่เชื่อว่ามีปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดโรคนี้ได้ เช่น ปัจจัยทางพันธุกรรม ถ้าคุณพ่อคุณแม่มีประวัติเป็นโรคนี้ ลูกก็มีโอกาสเป็นมากขึ้น ปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่สำคัญคือ แสงแดด เพราะสามารถกระตุ้นให้โรคกำเริบได้ เนื่องจากเวลาที่แสงแดดกระทบกับผิวหนัง ก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีเอ็นเอ หรือการติดเชื้อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไวรัส แบคทีเรีย ก็ทำให้กระตุ้นโรคนี้ได้ นอกจากนี้ ฮอร์โมนเอสโตรเจนมีโอกาสกระตุ้นให้เกิดโรคนี้มากกว่าในผู้ชาย ส่งผลให้มีสถิติผู้หญิงเป็นมากกว่าผู้ชาย รวมถึงการกินยาบางกลุ่ม เช่น cimetidine, hydralazine, hydrochlorothiazide, mesantoin, para-aminobenzoic acid (PABA) เป็นต้น ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยด้วยเช่นกัน
อาการและอาการแสดง
อาการแสดงของโรคแพ้ภูมิตัวเอง จะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่ว่าเกิดความผิดปกติที่ระบบใดของร่างกาย ซึ่งอาการแสดงบ่อยมักเกิดที่ระบบผิวหนัง โดยพบได้ 70-80% เลย มักจะมารูปของผื่นแพ้แสง เป็นผื่นรูปผีเสื้อ เด่นบริเวณแก้ม จมูก บางรายพบผื่นที่บริเวณหู แผลในเพดานปาก ผมร่วง เป็นต้น
...
ถ้ามีความผิดปกติระบบข้อ ก็จะมีอาการปวดข้อร่วมด้วย
กรณีที่มีอาการปัสสาวะเป็นฟอง อาการบวม หรือหากรุนแรงมากคนไข้ก็อาจจะไตวายได้ แสดงว่าเกิดความผิดปกติที่ไต
ในรายที่มีภาวะซีด เกล็ดเลือดต่ำ เลือดออกง่าย ช้ำง่าย ติดเชื้อง่าย แสดงว่าระบบเลือดผิดปกติ
อาการทางระบบประสาท การรับรู้เปลี่ยนแปลงไป อาการชัก แสดงว่าเกิดความผิดปกติที่ระบบประสาท
หากเกิดที่ปอด ก็จะมีอาการปอดอักเสบ หายใจแล้วเจ็บหน้าอกบริเวณปอด เป็นต้น
การรักษา มีดังนี้
1. แพทย์จะต้องวินิจฉัยโรคให้เร็ว เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้น
2. จะต้องพิจารณาดูว่าโรคเกิดขึ้นที่ระบบใดของร่างกาย ถ้าอาการแสดงน้อยก็อาจจะให้แค่ยากินลดการอักเสบ ยาแก้ปวดร่วมกับยาทาเพื่อลดการอักเสบ โดยเฉพาะอาการทางผิวหนังก็อาจจะมีการทายาในกลุ่มสเตียรอยด์ เพื่อลดการอักเสบบริเวณผิวหนัง และแนะนำป้องกันแสงแดดให้ถูกต้อง
3. ถ้าคนไข้มีอาการทางระบบอื่นๆ ภายในร่างกาย เช่น ระบบไต ปอด ระบบสมอง ระบบเลือดมาเกี่ยวข้อง ก็อาจจะต้องมีการให้ยากดภูมิ ซึ่งเป็นยาในกลุ่มของสเตียรอยด์ ซึ่งยาเหล่านี้ ถ้าคนไข้มีอาการมาก ก็จะต้องใช้ยาในขนาดที่สูงขึ้น และเนื่องจากภูมิคุ้มกันที่ถูกกดอยู่แล้ว ก็จะส่งผลให้คนไข้ติดเชื้อง่าย เพราะฉะนั้นคนไข้กลุ่มนี้จะต้องดูแลตัวเองให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ โดยการพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงไปในที่ชุมชนแออัด กินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ และหมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ
ข้อควรปฏิบัติอื่นๆ มีดังนี้
1. รับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ โดยไม่ต้องกังวลว่าการกินยากดภูมิจะทำให้ร่างกายอ่อนแอ เพราะแพทย์จะพิจาณาปริมาณยาให้เหมาะสม
การให้ยากดภูมิในคนไข้โรคภูมิแพ้ตัวเอง เพื่อป้องกันไม่ให้ภูมิไปทำลายอวัยวะอื่นๆ ให้มีอาการแสดงมากขึ้น ดังนั้น การกินยาในขนาดที่เหมาะสม มาตรฐาน จะช่วยป้องกันโรคได้ดีกว่า ไม่แนะนำให้หยุดยาเอง เพิ่มหรือลดยาเอง เนื่องจากการให้ยาอยู่ในความควบคุมของแพทย์
2. หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่จะทำให้โรคกำเริบ เช่น หลีกเลี่ยงแสงแดด ทาครีมกันแดด สวมเสื้อแขนยาว เป็นต้น
3. หมั่นดูแลร่างกายให้แข็งอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
แหล่งข้อมูล
อ.นพ.ธีรพงษ์ รัตนนุกรม สาขาวิชาโรคผิวหนัง ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล