ใครจะคิดว่า แค่ร่างกายขาดน้ำ จะมีผลถึงสมอง

คุณอาจจะเคยรู้สึกว่า ตื่นมาแล้วสมองไม่แจ่มใสเอาเสียเลย ผลวิจัยล่าสุดพบว่า การที่ร่างกายขาดน้ำแม้ในระดับที่เล็กน้อยจะเริ่มส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของสมองให้ทำงานชนิดที่ยากและซับซ้อนได้ไม่ดีเท่าที่ควร

แม้หลายคนจะรู้ว่า การดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายนั้นดีต่อสุขภาพ แต่ทีมนักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งจอร์เจีย (GIT) ของสหรัฐฯ ได้ทำการศึกษาภาวะขาดน้ำแบบเจาะลึก ทำให้ทราบว่าเมื่อร่างกายสูญเสียน้ำในระดับใดจึงจะทำให้กระบวนการคิดและสั่งการของสมองเริ่มได้รับผลกระทบ

...

รายงานวิจัยนี้ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์และวิทยาศาสตร์ว่าด้วยการกีฬาและการออกกำลังกาย (Medicine & Science in Sports & Exercise) โดยระบุว่า ภาวะขาดน้ำแม้เพียง 2% ของมวลกาย หรือเทียบเท่ากับการเสียเหงื่อปริมาณ 1 ลิตร ก็เริ่มส่งผลเสียต่อการประมวลผลของสมองในงานที่ต้องใช้สมาธิสูงและมีความยุ่งยากซับซ้อนแล้ว

ทีมผู้วิจัยได้วิเคราะห์ผลการศึกษาในอดีต 33 ชิ้น ซึ่งว่าด้วยความสัมพันธ์เกี่ยวข้องระหว่างภาวะขาดน้ำกับประสิทธิภาพในการใช้สมอง โดยงานวิจัยทั้งหมดครอบคลุมกลุ่มตัวอย่าง 416 คน ที่มีภาวะขาดน้ำตั้งแต่ระดับ 1% ไปจนถึงระดับ 6% ของมวลกาย

ผลวิเคราะห์พบว่า ภาวะขาดน้ำที่ระดับ 2% ของมวลกาย ก็เพียงพอที่จะทำให้การทำงานของสมองเริ่มรวนเรได้แล้ว แม้การขาดน้ำในระดับนี้จะไม่ทำให้คนเรารู้สึกกระหายน้ำเลยก็ตาม นอกจากนี้ยังพบว่า ภาวะขาดน้ำในระดับเล็กน้อยดังกล่าวส่งผลเสียต่อกระบวนการสร้างสมาธิ และการประสานงานของระบบประสาทสั่งการที่ควบคุมให้ร่างกายเคลื่อนไหวมากที่สุด

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า โดยทั่วไปให้คนเราดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว หรือราว 2 ลิตรต่อวัน ซึ่งปริมาณน้ำที่ควรดื่มนั้นขึ้นอยู่กับเพศ วัย สภาพอากาศ และสภาพร่างกายของแต่ละคนด้วย ส่วนภาวะขาดน้ำรุนแรงเนื่องจากการเสียเหงื่อ อาเจียน ปัสสาวะมากผิดปกติหรือท้องร่วง จะทำให้อ่อนเพลีย มึนงง หัวใจเต้นเร็วและหอบหายใจแรง จนถึงแก่ชีวิตได้

ภาวะขาดน้ำ หรือ Dehydration มักเกิดขึ้นเมื่อร่างกายของคุณไม่มีน้ำมากเท่าที่ต้องการ หากน้ำไม่เพียงพอร่างกายของคุณจะไม่สามารถทำงานได้อย่างถูกต้อง โดยคนเราสามารถมีภาวะขาดน้ำเล็กน้อย ปานกลาง หรือรุนแรงได้ ขึ้นอยู่กับปริมาณของเหลวที่ขาดหายไปจากร่างกายของคุณ

สาเหตุของภาวะขาดน้ำ อาจเกิดจากการดื่มน้ำน้อย หรือเสียเหงื่อมากเกินไป ปัสสาวะมากเกิน ท้องเสีย อาเจียน ฯลฯ ซึ่งอาการที่สังเกตได้คือ ความกระหายน้ำ ปากแห้งหรือเหนียว ไม่ปัสสาวะ หรือปัสสาวะน้อย ปัสสาวะเหลืองเข้ม ผิวแห้ง เย็น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ถ้าอาการรุนแรงอาจจะเวียนศีรษะ หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว อาจถึงขั้นหมดสติได้

...

ทางที่ดีที่สุดควรหมั่นสังเกตตนเอง และพยายามดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่หากขาดน้ำ อาจเกิดอาการรุนแรงมากกว่าคนที่อายุน้อยได้.