ความเชื่อไปจนกระทั่งถึงประเพณี ประพฤติ ปฏิบัติ การแช่น้ำเย็นเจี๊ยบหรือแช่น้ำแข็ง มีมานานแล้ว และมีในรูปแบบต่างๆ เช่น ในประเทศหนาว โดยเฉพาะในฤดูหนาวมีการว่ายน้ำเย็นจัด ถึงขนาดที่เปิดแผ่นน้ำแข็งและลงไปว่ายในน้ำ

และมีสมาคมนานาชาติยกตัวอย่างเช่น international ice swimming association หรือ international winter swimming association โดยในแต่ละสมาคมก็จะมีการกำหนดให้ว่ายในน้ำที่อุณหภูมิ -2 ถึง 2 องศา หรือในระหว่างอุณหภูมิ 2.1 ถึง 5 องศา หรือ 5.1 ถึง 9 องศา เป็นต้น

การว่ายในน้ำแข็งหรือน้ำเย็นเจี๊ยบ เช่นนี้ เปรียบเสมือนเป็นการท้าทายร่างกาย ให้มีการปรับเปลี่ยนตัวให้ได้ ซึ่งรวมถึงทุกอวัยวะและสมอง ในการปรับให้มีการรักษาสมดุลความร้อนในร่างกาย

โดยที่ร่างกายมีระบบควบคุมการระบายหรือสร้างและเก็บความร้อน เช่น ทางผิวหนังซึ่งจะเชื่อมโยงกับเส้นเลือดที่อยู่ในชั้นไขมันและมีการยืดหดตามความเหมาะสม แต่ในร่างกายส่วนที่อ่อนบาง เช่น มือ เท้า จมูก และใบหู จะมีกลุ่มเส้นเลือดอีกชนิดที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้น จึงถูกกระทบได้ง่ายเมื่อเจอกับความเย็น

...

กลไกอื่นๆคือ การสั่นสะท้าน (shivering) ซึ่งเป็นการสร้างความร้อนขึ้นอีก โดยมีการหดเกร็งของกล้ามเนื้อในร่างกายผ่านทางการควบคุมอุณหภูมิในสมองที่เหมือนกับเครื่องเทอร์โมสตัท (thermostat) ในสมอง ส่วนไฮโปธาลามัส (hypothalamus)

ไขมันสีน้ำตาล (brown adipose tissue) เป็นอีกกระบวนการหนึ่งที่สร้างความร้อน ทั้งนี้ เนื่องจากไขมันน้ำตาลนี้มีจำนวนของอนุภาคไมโทคอนเดรีย (mitochondria) มากมาย ดังนั้น สามารถสร้างความร้อน โดยมีการเผาผลาญไขมันไตรกรีเซอร์ไรด์ (ผ่าน uncoupling mitochondrial electron transport และ noradrenaline -induced membrane depolarization and sodium pumping)

การควบคุมความร้อนในตัวที่ตอบสนองต่ออุณหภูมิเย็น ยังขึ้นอยู่กับเพศ อายุ และอาจมีบทบาททางด้านพันธุกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องอีกด้วย

มีรายงานผลต่อสุขภาพเมื่อเผชิญความเย็นเจี๊ยบ ในวารสาร international journal of circumpolar health เดือน ตุลาคม 2022 และเป็นการวิเคราะห์จากรายงาน 728 ชิ้น คัดเลือกจนกระทั่งเหลือ 104 ชิ้น ที่มีความสมบูรณ์และเหมาะสมในผลกระทบต่อสุขภาพ

โดยมีการลดลงของอัตราส่วนระหว่าง ApoB (ตัวไม่ดี) และ ApoA1 (ตัวดี) ปริมาณของ homocysteine ลดลง (หมายความว่าดี) ตลอดจนระดับฮอร์โมนคอร์ติโซลในเลือด ระดับอินซูลินและระดับของอันตรายจาก oxidative stress ลดลง

ในขณะเดียวกัน มีการเพิ่มของระดับฮอร์โมนหลายตัวของต่อมไทรอยด์ มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในระบบภูมิคุ้มกันในส่วนของ T cell รวมทั้ง cytokines และการตอบสนองต่ออินซูลินดีขึ้น เป็นต้น

ดัชนีชี้วัดความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดดีขึ้น รวมทั้งกลไกในการเผาผลาญไขมันและการหายใจในขณะที่มีการทำงาน

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเหล่านี้ยังไม่สามารถสรุปว่า เป็นกลไกทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้เต็มที่ เพียงแต่อาจมีข้อสนับสนุนของประโยชน์ที่จะได้รับ จากการเข้าไปกระโจน ว่าย อาบดำในน้ำเย็นเจี๊ยบ โดยควรต้องมีข้อระวังผลร้ายต่อสุขภาพที่ทำให้ร่างกายเย็นชืด (hypothermia) โดยต้องประเมินตัวเองก่อน

โดยที่ผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้ได้ให้คำแนะนำว่า ถ้าจะเริ่มน้ำเย็นแบบนี้ ลองเริ่มจากการอาบน้ำไม่ร้อน และในเมืองหนาวค่อยๆลดอุณหภูมิลงเรื่อยๆ เป็นเวลา 30 ถึง 60 วินาที จนชิน และมีความรู้สึกกระปรี้กระเปร่า ทั้งนี้ ไม่จำเป็นต้องวอร์มอัพก่อน หรือเมื่อออกกำลังกายหนักแล้วตรงเข้าอาบน้ำเย็นเลย เมืองไทยเองคงยากนะครับ เพราะเป็นการอาบน้ำอุ่นหรือร้อนอยู่แล้วจากน้ำก๊อก

...

เมื่อเริ่มอยู่ตัว ลองอาบน้ำโดยใส่น้ำแข็งเข้าไปปรับให้อุณหภูมิอยู่ที่ 10 ถึง 15 เซลเซียส ซึ่งวิธีนี้นักกีฬาที่บาดเจ็บไม่ว่าเส้นเอ็น กระดูก ข้อหรือกล้ามเนื้อ ต่างก็ใช้วิธีนี้มานาน หรือในหนังที่เราดูหลายเรื่องก็มีการฟื้นฟูการบาดเจ็บโดยลงไปในอ่างอาบน้ำที่ใส่น้ำแข็ง

อ่านมาถึงตรงนี้ พวกเราอาจจะตั้งคำถามกับหมอว่า หมอเพิ่งพูดไปหยกๆไม่ใช่หรือว่า ให้ไป...อบร้อนซาวน่า แล้วสมองใส ตอนนี้มีเรื่องอาบน้ำเย็นเจี๊ยบจนไปถึงอาบน้ำแข็ง

ทั้งหมดนี้อาจจะเรียกว่าเป็น “คนละเรื่องเดียวกัน” กล่าวคือ ในเรื่องของการอบร้อนก็เป็นประเพณีประพฤติกันมาช้านาน เช่นกัน ในแถบนอร์เวย์ ญี่ปุ่น เอเชีย แต่กลไกทางวิทยาศาสตร์ที่แต่แรกคิดว่าการเจอความร้อนขนาด 50 องศาเซลเซียส ควรจะเป็นการสร้างความเครียดให้กับโรงพลังงานของเซลล์คือไมโทคอนเดรีย และทำให้กระทบระบบกำจัดขยะซึ่งเกิดจากโปรตีนจับตัวกันเป็นขยุ้มและเกิดเป็นพิษ แต่ผลกลับกลายเป็นว่าความร้อนกลับทำให้ระบบนี้เก่งขึ้น และกลายเป็นคลี่ขยุ้มโปรตีนให้กลับเป็นของดีเอามาใช้ใหม่ ทั้งนี้ อาจจะเป็นได้ในกรณีของความเย็นระดับที่ว่านี้ โดยอาศัยกลไกอย่างเดียวกันหรือคล้ายกัน

...

ในหลายประเทศหรือในออนเซนจะพบว่า เมื่ออบร้อน อาบหรือซาวน่าร้อนเต็มที่ จะมาจบอยู่ที่แช่น้ำเย็นจัด ซึ่งพวกเราหลายคนคงผ่านมาแล้วและรู้สึกกระชุ่มกระชวยขึ้นบ้างไม่มากก็น้อย

ที่นำมาเล่าให้ฟังทั้งหมดนี้ เพื่อความรู้ความเข้าใจและน่าจะมีประโยชน์ในการรักษาสุขภาพโดยไม่ได้พึ่งยาเป็นหลักครับ.

หมอดื้อ