อุณหภูมิร่างกายปกติของมนุษย์อยู่ที่เท่าไร? เป็นคำถามที่หลายคนสงสัยบ่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยๆ หรือเวลาที่นอนน้อย พักผ่อนไม่เพียงพอ จนบางครั้งทำให้มีไข้ ปวดหัว หรือมีน้ำมูก ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเช็กอุณหภูมิร่างกายปกติอยู่บ่อยๆ ถ้าหากสูงหรือต่ำกว่าปกติอาจเป็นสัญญาณเตือนของอาการเจ็บป่วยในร่างกายได้ 

อุณหภูมิร่างกายปกติเท่าไร?

อุณหภูมิเฉลี่ยของมนุษย์อยู่ที่ 36.5-37.2 °C หรือ 97.7-99.5 °F โดยส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับปัจจัย ณ ขณะนั้น ตลอดจนคุณภาพของอุปกรณ์ในการตรวจวัดหรือวิธีการตรวจวัดที่ถูกต้องและเหมาะสม

อุณหภูมิร่างกายปกติของมนุษย์ในแต่ละช่วงวัย

อุณหภูมิร่างกายของมนุษย์ในแต่ละช่วงวัยจะแตกต่างกัน ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกอื่นๆ ด้วย ดังนี้

  • อุณหภูมิร่างกายปกติของทารกเฉลี่ยอยู่ที่ 36.6-37.2 °C
  • อุณหภูมิร่างกายปกติผู้ใหญ่เฉลี่ยอยู่ที่ 36.1-37.2 °C
  • อุณหภูมิร่างกายปกติผู้สูงอายุที่อายุมากว่า 65 ปีขึ้นไปเฉลี่ยต่ำกว่า 36.2 °C

...

อุณหภูมิร่างกายปกติของมนุษย์ในแต่ละจุด

ตามปกติแล้ว แพทย์จะวัดอุณหภูมิใน 4 จุดสำคัญของร่างกาย ได้แก่ หน้าผาก ใต้ลิ้น รักแร้ และทวารหนัก ซึ่งแต่ละจุดก็จะมีอุณหภูมิแตกต่างกัน ดังนี้

  • อุณหภูมิร่างกายปกติบนหน้าผากเฉลี่ยอยู่ที่ 35.4-37.4 °C
  • อุณหภูมิร่างกายปกติวัดใต้ลิ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 35.5-37.5 °C
  • อุณหภูมิร่างกายปกติทางรักแร้เฉลี่ยอยู่ที่ 34.7-37.3 °C
  • อุณหภูมิร่างกายปกติทางทวารหนักเฉลี่ยอยู่ที่ 36.6-38.0 °C

ปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่ออุณหภูมิร่างกายปกติของมนุษย์

อย่างไรก็ดี หากร่างกายมีอุณหภูมิต่ำหรือสูงกว่าปกติ นอกจากปัจจัยในข้างต้นแล้ว อาจจะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ดังต่อไปนี้


1. อายุ
เนื่องจากการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายของทารก ผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุจะแตกต่างกัน เช่น ร่างกายของทารกหรือเด็กยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ส่งผลให้อุณหภูมิร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ อายุจึงเป็นหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่ออุณหภูมิร่างกายปกติ

2. เพศ
จากการศึกษาพบว่าเพศหญิงจะมีประสาทสัมผัสและร่างกายไวต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิมากกว่าเพศชาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ฮอร์โมนมีการเปลี่ยนแปลงหรือช่วงที่มีประจำเดือน ฮอร์โมนโพรเจสเทอโรน (Progesterone Hormone) จะสูงขึ้น ส่งผลให้อุณหภูมิในร่างกายเพิ่มขึ้น 0.3-0.5 °C

3. การกินอาหารเผ็ดร้อน
อาหารมีหลายรูปแบบ ซึ่งหากกินอาหารจำพวกสมุนไพร หรืออาหารที่เผ็ดร้อนก็จะส่งผลให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้น ในขณะเดียวกัน หากกินอาหารหรือเครื่องดื่มเย็น ก็จะทำให้อุณหภูมิร่างกายปกติลดระดับลงตามไปด้วย

4. การออกกำลังกาย
ผู้ที่ออกกำลังกายอย่างหนัก หรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้กำลังมาเป็นพิเศษ จะส่งผลให้กล้ามเนื้อและระบบต่างๆ ในร่างกายทำงานหนัก อัตราการเผาผลาญเซล์และการเต้นของหัวใจสูงขึ้น นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิในร่างกายที่สูงขึ้นตามลำดับ

5. การสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์
การสูบบุหรี่แต่ละครั้งจะเกิดการเผาไหม้ของบุหรี่และสารนิโคตินที่อยู่ด้านใน ส่งผลให้อุณหภูมิในร่างกายเปลี่ยนแปลง ดังนั้น หากเพิ่งสูบบุหรี่มา ควรเว้นระยะ 20-30 นาที ก่อนจะวัดอุณหภูมิ ในขณะเดียวกัน การดื่มแอลกอฮอล์จะส่งผลให้หลอดเลือดขยายตัว อุณหภูมิบริเวณผิวหนังจึงเพิ่มขึ้น

6. ช่วงเวลาที่วัด
อุณหภูมิในร่างกายสัมพันธ์กับสภาพอากาศในแต่ละช่วงเวลา เนื่องจากในช่วง 15.00-17.00 น. ร่างกายจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงเวลา 23.00-01.00 น. อุณหภูมิในร่างกายก็จะค่อยๆ ต่ำลง และจะเป็นแบบนี้ในทุกๆ วัน

อุณหภูมิร่างกายแบบไหนเรียกผิดปกติ?

...

หากอุณหภูมิในร่างกายสูงกว่า 37.2 °C หรือ 99.5 °F จะถือว่าผิดปกติ โดยอาจจะเป็นสัญญาณเตือนของอาการปวดหัว เป็นไข้ หรืออาการอื่นๆ ได้ แต่ในเบื้องต้น จะแบ่งระดับอุณหภูมิในร่างกายกับอาการ ดังนี้

  • อุณหภูมิ 37.5-38.4 °C : มีไข้ต่ำๆ
  • อุณหภูมิ 38.5-39.4 °C : มีไข้สูง
  • อุณหภูมิมากกว่า 40 °C : ไข้สูงมาก

อุณหภูมิร่างกายปกติขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่าง ซึ่งเมื่อใดก็ตามที่พบว่าตนเองมีอุณหภูมิผิดปกติให้รีบเข้าพบแพทย์ เพื่อเข้ารับคำปรึกษา วินิจฉัยอาการ และเข้ารักษาได้อย่างทันท่วงที