ชีวิตที่วุ่นวายเร่งรีบของคนออฟฟิศ จะหาเวลาออกกำลังกายทีก็ลำบาก และยังต้องนั่งทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน มักมีอาการปวดเมื่อยคอ ตึงไหล่ ก็คิดว่าเพราะทำงานหนักไป พยายามหายาทาน ฝั่งเข็ม หรือนวดแผนไทยก็ไม่หาย ซึ่งจริงๆ แล้วเราควรรีบหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการเหล่านี้ก่อนที่จะมีผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว หรือออฟฟิศซินโดรมถามหา จนนั่งทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร มาลองสังเกตดูว่า อาการปวดเมื่อยของคุณมีปัจจัยเหล่านี้เกี่ยวข้องด้วยหรือไม่?
ปัจจัยที่ทำให้ปวดเมื่อย และบาดเจ็บ
· ทำมากเกินไป กิจกรรมบางอย่าง เช่น การเดิน การนั่ง การนอน ถ้าเรา อยู่ในอิริยาบถนั้นๆ นาน มากจนเกินไปก็สามารถส่งผลเสียต่อร่างกายได้เช่นกัน
· หนักมากเกินไป พฤติกรรมบางอย่างที่เกินความพอดีของร่างกาย เช่น ยกของหนักเป็นเวลานาน ออกกำลังกายหักโหมมากเกินไป แต่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง
· ยืดมากเกินไป ท่าทางการยืดเหยียดบางท่าอาจอยู่ในลักษณะที่ผิดรูป เช่น บิดตัวหยิบของในรถ ส่งผลให้เกิดอาการบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อ กระดูก และข้อ ได้เป็นต้น
...
ทำไมนั่งนานๆ ถึงปวดบริเวณก้นกันนะ
นั่งทำงานนานๆ แล้วรู้สึกเจ็บบริเวณก้นข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง บริเวณนั้น คือ Sitting Bones หรือกระดูกที่อยู่ปลายล่างของกระดูกสันหลัง ซึ่งเป็นส่วนที่รับน้ำหนักเวลานั่ง หากได้รับการกดทับนานๆ จึงเกิดอาการปวดเมื่อยนั่นเอง
ปรับเปลี่ยนท่า ป้องกันอาการปวดเมื่อย
ท่านอน ควรเปลี่ยนท่าทางระหว่างนอน เพื่อไม่ให้กระดูกและกล้ามเนื้อถูกกดทับมากจนเกินไป
· นอนหงาย ควรเอาหมอนรองใต้เข่า ลดระดับหมอนลง เพื่อไม่ให้หลังแอ่นและทำให้กระดูกสันหลังอยู่ในแนวตรง
· นอนตะแคง ขาที่อยู่ด้านล่างเหยียดตรง ขาด้านบนงอเข่างอสะโพกเล็กน้อยวางบนหมอนข้าง จะทำให้กระดูกสันหลังอยู่ในแนวตรง
ท่านั่ง
· ระดับแขนเป็นระนาบเดียวกับโต๊ะ
· นั่งเต็มก้น เก้าอี้ควรมีพนักพิง ปรับเก้าอี้ให้สูงเสมอเข่า
· หากใช้หมอนอิงควรเลือกแบบหนุนได้เต็มแผ่นหลัง
· ปรับระยะห่างและความสูงของจอให้อยู่ในระดับสายตา
· การใช้เบาะรองนั่ง ช่วยลดแค่แรงกด ไม่ได้ช่วยลดอาการปวดเมื่อยได้
นอกจากการปรับเปลี่ยนท่าทาง และใช้อุปกรณ์ภายในสำนักงานให้เหมาะสมแล้ว การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หันมาออกกำลังกายเพื่อช่วยให้ร่างกายมีความแข็งแรง ยืดหยุ่นและทนทาน เช่น การเดินเร็ว วิ่งจ๊อกกิ้ง ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ หรือการยกเวทก็จะช่วยให้กล้ามเนื้อมีความแข็งแรงมากขึ้น หากทำเป็นประจำ จะเป็นการปรับสรีระได้เองอย่างถูกต้องตามหลักการยศาสตร์ ซึ่งเป็นวิธีการเริ่มต้นดูแลตัวเองง่ายๆ แต่สามารถช่วยลดความปวดเมื่อยและการบาดเจ็บของร่างกายได้
บทความโดย: คุณฐิติ ตังคะพิภพ นักกายภาพบำบัดชำนาญการพิเศษ All You Can Fits โรงพยาบาลพญาไท 2