เชื่อว่าทุกคนจะต้องเคยมีอาการ “ข้อเท้าแพลง” กันมาบ้างไม่มากก็น้อย เพราะข้อเท้าแพลงส่วนมากนั้นเกิดจากอุบัติเหตุ เช่น การเดินแล้วพลิกตกริมฟุตปาท การเดินตกหลุม แม้แต่พื้นเรียบบางคนก็อาจจะเคยสะดุด หรือบางครั้งก็อาจเกิดขณะออกกำลังกาย ทำให้เกิดการบาดเจ็บบริเวณข้อเท้า ซึ่งโดยมากมักเป็นการบาดเจ็บที่ไม่รุนแรง ต่างจากการบาดเจ็บที่เกิดจากการขับรถ หรืออุบัติเหตุจากจราจร การตกจากที่สูง ซึ่งจะมีความรุนแรงมากกว่า
ข้อเท้าแพลง ส่วนใหญ่จะเป็นการบาดเจ็บบริเวณตาตุ่มข้อเท้า แต่ในบางครั้งก็เป็นการบาดเจ็บของเอ็นที่อยู่สูงขึ้นมาบริเวณเหนือข้อเท้าเล็กน้อย ซึ่งเป็นเส้นเอ็นที่ค่อนข้างมีความแข็งแรงและให้ความมั่นคงกับข้อเท้า หากเกิดการบาดเจ็บจะต้องใช้ระยะเวลาในการรักษานานกว่าข้อเท้าแพลงทั่วไป มักจะเกิดจากอุบัติเหตุข้อเท้าพลิกทั่วไป และการเล่นกีฬา
อาการหลักของข้อเท้าแพลง คือ อาการปวด บางรายอาจจะมีรอยช้ำ มีรอยจ้ำเลือดขึ้นมาได้ หลังจากนั้นอาจจะบวม และปวดมากขึ้น การเดินลำบากขึ้น หากพักการใช้งานแล้วยังไม่ดีขึ้น ก็ควรไปพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยเพิ่มเติม เพราะอาจมีการบาดเจ็บบริเวณอื่นเพิ่มเติมร่วมด้วยก็ได้
การวินิจฉัย
จะพบอาการบวมบริเวณด้านข้างข้อเท้า กดเจ็บบริเวณใกล้ๆ ตาตุ่มด้านนอก หรือบางรายอาจมีอาการเจ็บด้านใน กดเจ็บบริเวณตาตุ่มด้านใน บางคนก็มีรอยเขียวช้ำ ในรายที่เส้นเอ็นมีการบาดเจ็บมากก็จะมีอาการปวดมาก ลงน้ำหนักไม่ได้ ควรจะต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติมจากแพทย์ต่อไป
การปฐมพยาบาล ใช้หลัก POLICE ดังนี้
P – protect การป้องกันบาดเจ็บซ้ำซ้อน
OL – optimal load การพักและให้ลงน้ำหนักเร็วเท่าที่เป็นไปได้อย่างเหมาะสม
I - ice การใช้น้ำแข็งคือความเย็น
C - compression การรัดไว้ หรือพันผ้าเพื่อลดบวม
E - elevation การยกเท้าสูงเพื่อลดอาการปวด อาการบวม
...
เมื่อปฐมพยาบาลดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ก็จะช่วยบรรเทาอาการบวม และปวดลงไปได้ ซึ่งการรักษาหลักในปัจจุบันจะใช้น้ำแข็ง หรือความเย็น ประคบในช่วง 2-3 วันแรก หลังจากนั้นก็จะให้คนไข้เริ่มใช้งานอย่างค่อยเป็นค่อยไป ลงน้ำหนักเบาๆ และค่อยๆ เพิ่มทีละน้อยจนนำไปสู่การใช้งานที่ปกติภายใน 2-3 สัปดาห์
ข้อเท้าแพลง เป็นภาวะที่ไม่มีอันตรายรุนแรง แต่ในรายที่เอ็นข้อเท้ามีการฉีกขาดรุนแรงภายหลังการสมานตัวของเส้นเอ็น อาจส่งผลให้มีเส้นเอ็นที่ยืดยาวขึ้น ทำให้มีภาวะข้อเท้าหลวมตามมาได้ ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการข้อเท้าพลิกได้ง่ายขึ้นขณะเดิน หรือเมื่อเปลี่ยนทิศทางเร็วๆ อาจทำให้รู้สึกว่าข้อเท้าไม่มีความมั่นคง หรือในกรณีกระดูกอ่อนในข้อเท้ามีรอยช้ำถลอก ข้อเท้าอาจบวมๆ ยุบๆ ไม่หาย มีอาการปวดร้าวลึกๆ หรือบางรายที่เส้นเอ็นมีการสมานตัวแล้วมีพังผืดเข้าไปกดหนีบบริเวณข้อเท้า ก็อาจทำให้มีอาการเจ็บเรื้อรังได้ สรุปแล้วโดยส่วนมากข้อเท้าแพลงจะเป็นในระยะเวลาเพียงสั้นๆ และหายได้เอง
การป้องกัน
ส่วนมากข้อเท้าแพลงมีสาเหตุจากอุบัติเหตุ ซึ่งไม่สามารถป้องกันได้ ยกเว้นในรายที่เคยข้อเท้าพลิกมาก่อน อาจจะป้องกันข้อเท้าพลิกซ้ำได้โดยการออกกำลังกาย เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อด้านข้างข้อเท้า ฝึกยืดกล้ามเนื้อน่องอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงฝึกเรื่องการทรงตัว (balance) และประสาทการรับรู้อากัปกิริยา (proprioception) จะช่วยให้ยืนเดินได้มั่นคงมากขึ้น และลดโอกาสในการเกิดข้อเท้าพลิกซ้ำในอนาคตได้
@@@@@@@@@
แหล่งข้อมูล
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์จักรพงษ์ อรพินท์ ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล