โรคพาร์กินสันเป็นโรคที่ลุกลามและทำให้ร่างกายทรุดโทรม ซึ่งในที่สุดจะทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถเดินหรือพูดได้ การวินิจฉัยโรคก็มีความซับซ้อน ซึ่งวิธีปกติในการแสดงภาพโครงสร้างสมองก็จะใช้วิธีเอ็มอาร์ไอ (MRI) คือตรวจด้วยเครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า แต่วิธีนี้ก็ยังไม่ละเอียดพอที่จะเปิดเผยการเปลี่ยนแปลงทางชีววิทยาที่เกิดขึ้นในสมองของผู้ป่วยพาร์กินสัน
เมื่อเร็วๆนี้ ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮิบรูแห่งเยรูซาเลมในอิสราเอล นำโดยศาสตราจารย์อาวีฟ เมเซอร์ เผยว่า การเปลี่ยนแปลงของเซลล์ในโรคพาร์กินสันอาจถูกเปิดเผยโดยการปรับเทคนิควิธีเอ็มอาร์ไอ จนได้วิธีใหม่ที่เรียกว่า qMRI (quantitative MRI) วิธีการนี้ช่วยให้ดูโครงสร้างจุลภาคภายในส่วนลึกของสมองส่วนลึกที่เรียกว่า striatum ซึ่งเป็นส่วนของสมองที่มีการเสื่อมลงเมื่อมีการพัฒนาของโรคพาร์กินสัน ด้วยวิธีการวิเคราะห์ด้วยภาพจากวิธี qMRI ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางชีววิทยาในเนื้อเยื่อส่วนลึกในสมองตรง striatum อย่างชัดเจน และยังบ่งชี้ว่าการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เกี่ยวข้องกับระยะเริ่มต้นของโรคพาร์กินสันในผู้ป่วย
ทั้งนี้ ทีมวิจัยระบุว่ากำลังพัฒนา qMRI ให้เป็นเครื่องมือที่นำไปใช้ในสถานพยาบาลได้ คาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 3-5 ปี ซึ่งการวิเคราะห์ด้วยวิธีนี้จะช่วยให้สามารถระบุกลุ่มย่อยของคนที่เป็นโรคพาร์กินสัน เพราะบางรายอาจตอบสนองต่อยาบางชนิดได้แตกต่างไปจากยาอื่นๆ เป็นไปได้ว่าการวิเคราะห์นี้จะนำไปสู่การรักษาแบบเฉพาะบุคคล ทำให้ได้ค้นพบตัวยาใหม่ๆในอนาคต โดยผู้ป่วยแต่ละรายจะได้รับยาที่เหมาะสมที่สุด.
Credit : Mezer Lab/Hebrew Universiry