“ภาวะมีบุตรยาก” นับเป็นปัญหาของคู่สมรสที่พบค่อนข้างมากในสังคมยุคใหม่ เนื่องจากคู่สมรสแต่งงานช้า อายุที่มากขึ้นของฝ่ายหญิงส่งผลให้การตกไข่ที่คุณภาพดีน้อยลง หรือหากมีการตกไข่ ไข่ที่ได้ก็มักจะไม่สมบูรณ์ ส่วนทางฝ่ายชายเองก็เช่นกัน หากไม่ได้ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงดี ก็ส่งผลให้อสุจิไม่แข็งแรงด้วยเช่นกัน ซึ่งก่อนที่จะรู้ว่าคุณเป็นผู้มีบุตรยากหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาก่อนว่าหากคุณแต่งงานมาแล้ว 1 ปี และมีเพศสัมพันธ์สม่ำเสมอ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยไม่ได้คุมกำเนิดแล้วยังไม่ตั้งครรภ์ แสดงว่าคุณอยู่ในกลุ่มผู้มีบุตรยากต้องมาพบแพทย์ เพื่อปรึกษา และวางแผนการมีบุตร

สาเหตุของการมีบุตรยาก

แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย

ฝ่ายหญิง สาเหตุก็มีด้วยกันหลากหลาย ตั้งแต่การตกไข่น้อยเกินไป ไข่ไม่สมบูรณ์ การมีเนื้องอกในโพรงมดลูก และการอุดตันของท่อนำรังไข่

ฝ่ายชาย หากไม่ได้ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ พักผ่อนไม่เพียงพอ สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลให้อสุจิไม่แข็งแรง และไม่นำไปสู่การปฏิสนธิ

แนวทางการรักษา

  • การรักษาภาวะมีบุตรยากจะรักษาตามสาเหตุที่พบ เช่น หากฝ่ายหญิงมีเนื้องอกที่มดลูก แพทย์ก็จะตัดเนื้องอกที่โพรงมดลูกออกไป คุณแม่ก็สามารถตั้งครรภ์ได้ตามปกติ
  • คุณแม่ที่มีปัญหาเรื่องไข่ไม่ตก ภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (PCOS) ก็จะให้ยากระตุ้นให้เกิดการตกไข่
  • ส่วนในรายที่กระตุ้นแล้วไข่ก็ยังไม่ตกอีก เนื่องจากฮอร์โมนรังไข่เสื่อม อาจจะต้องมีการฉีดยากระตุ้นไข่ หรือการทำเด็กหลอดแก้ว หรือการทำอิ๊กซี่มาช่วย
  • ส่วนถ้าสาเหตุมาจากทางฝ่ายชาย ก็จะแนะนำให้รับประทานอาร์จินีนและซิงค์ ซึ่งจะช่วยให้อสุจิมีความแข็งแรง แต่ถ้าปริมาณเชื้ออสุจิน้อยมากๆ ก็จะใช้การทำอิ๊กซี่ เพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์

...

นวัตกรรมเกี่ยวกับการตั้งครรภ์มีอะไรบ้าง

ปัจจุบันมีทางเลือกสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่อยากมีลูกด้วยกันหลายวิธี ดังนี้

1. IUI คือ การคัดแยกเชื้ออสุจิ เพื่อฉีดเข้าโพรงมดลูก โดยนำเชื้ออสุจิ ที่ได้รับการคัดเลือกว่าแข็งแรง ฉีดเข้าไปในโพรงมดลูกโดยตรงในช่วงเดียวกันกับที่มีการตกไข่ เพื่อให้ตัวอสุจิว่ายขึ้นไปที่ท่อนำไข่ และผสมกับไข่ง่ายขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์มากกว่าวิธีธรรมชาติ

2. การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) และการทำอิ๊กซี่ (ICSI) เริ่มตั้งแต่การทำเด็กหลอดแก้ว เป็นการกระตุ้นไข่ของคุณแม่ให้โตทั้งหมด ซึ่งแต่ละคนจะมีไข่ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับอายุ บางคนมี 5 ใบ บางคนมี 10 ใบ และอาจมีมากหรือน้อยกว่านี้ตามความสามารถในการทำงานของรังไข่

หลังจากกระตุ้นไข่แล้ว จะเจาะดูดไข่ของฝ่ายหญิงออกมาผสมกับอสุจิของฝ่ายชายข้างนอก โดยปล่อยให้อสุจิเข้าไปผสมกับไข่เองเรียกว่า “การทำหลอดแก้ว หรือ IVF” แต่ในปัจจุบัน นิยมผสมไข่และอสุจิด้วยวิธีอิ๊กซี่มากกว่า โดยหลังจากเจาะดูดไข่ของฝ่ายหญิงออกมาแล้ว จะใช้เข็มดูดอสุจิ 1 ตัว เข้าไปผสมกับไข่ 1 ใบโดยตรง เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิเป็นตัวอ่อน

เมื่อได้ตัวอ่อนมาแล้วก็จะนำไปเลี้ยงในห้องแล็บประมาณ 5-6 วัน แล้วจึงใส่กลับเข้าไปในโพรงมดลูก เพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์

กรณีที่คุณแม่มีความเสี่ยงเรื่องความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น ดาวน์ซินโดรม ธาลัสซีเมีย หรือมีความผิดปกติของโครโมโซมหรือยีน สามารถทำการตรวจคัดกรองทางพันธุกรรมก่อนย้ายตัวอ่อนกลับสู่โพรงมดลูก เมื่อเลี้ยงตัวอ่อนถึงวันที่ 5-6 แล้วจะทำการดึงเซลล์ตัวอ่อนประมาณ 3-5 เซลล์ แล้วนำไปตรวจโครโมโซมหรือยีน (ตรวจได้เฉพาะยีนเดี่ยวเท่านั้น) เมื่อได้ตัวอ่อนที่มีโครโมโซมหรือยีนที่ปกติแล้ว จึงย้ายตัวอ่อนนั้นกลับสู่โพรงมดลูกต่อไป

การตั้งครรภ์ด้วยการทำเด็กหลอดแก้ว จะมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ขึ้นอยู่กับว่ารักษาในสถานพยาบาลของรัฐหรือเอกชน โดยราคาของโรงพยาบาลรัฐบาลจะอยู่ที่ประมาณ 100,000-180,000 บาท ส่วนโรงพยาบาลเอกชนอยู่ที่ประมาณ 200,000-400,000 บาท ขึ้นกับโรงพยาบาล นอกจากนี้ การตรวจโครโมโซมของตัวอ่อน จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ขึ้นอยู่กับจำนวนตัวอ่อนที่ทำการตรวจโครโมโซม

ทุกอย่างมีครบ จบที่ “รามาธิบดี”

“คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล” เป็นสถาบันทางการแพทย์สถาบันแรกที่ทำการศึกษาเรื่องการตรวจคัดกรองยีน ตรวจคัดกรองโรคความผิดปกติจากยีนเดี่ยว เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ธาลัสซีเมีย ประสบความสำเร็จ โดยเริ่มจากงานวิจัยจนนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน โดยการทำงานร่วมสหสาขาวิชาชีพ ได้แก่ อายุรแพทย์ด้านพันธุศาสตร์ กุมารแพทย์ และสูติ-นรีแพทย์ เพื่อรักษาภาวะมีบุตรยาก และวางแผนการมีบุตรคนต่อไปให้สมบูรณ์ในคู่สมรสที่เคยมีปัญหาการมีบุตรที่ผิดปกติเกี่ยวกับยีน ซึ่งรามาธิบดีมีบริการตรวจคัดกรองทุกอย่างที่เกี่ยวกับพันธุกรรม ซึ่งจะนำไปสู่การตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย และได้ผลสัมฤทธิ์ที่มีคุณภาพ

...

คู่สมรสที่มีปัญหาการมีบุตรยาก สามารถโทร.มาขอคำปรึกษาได้ที่ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ชั้น 3 ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ โทร. 02-2003323-4

เตรียมพร้อมก่อนเป็นคุณแม่

  1. ตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์เพื่อตรวจคัดกรองว่าตนเป็นพาหะธาลัสซีเมียไหม ซึ่งเป็นโรคยอดฮิตของคนไทย
  2. การตรวจสุขภาพโดยรวม เพื่อเช็กภูมิคุ้มกันของคุณแม่ เช่น หัดเยอรมัน ตับอักเสบบี ว่ายังมีภูมิคุ้มกันอยู่หรือไม่ เพราะหากได้รับเชื้อในระหว่างที่ตั้งครรภ์ แต่มีภูมิคุ้มกันแล้วลูกในท้องก็จะปลอดภัย
  3. ตรวจ HIV ซิฟิลิส ตับอักเสบบี ตับอักเสบซี เพื่อดูว่าไม่มีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่จะส่งผ่านไปให้ลูกได้
  4. แนะนำให้คุณแม่รับประทานโฟลิก แอซิด อย่างน้อย 3 เดือน เพื่อลดความพิการของสมองและไขสันหลังของทารก
  5. ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ควรเข้านอนก่อน 22.00 น. เนื่องจากฮอร์โมน ซึ่งทำหน้าที่ซ่อมแซมเซลล์ที่สึกหรอในร่างกายจะหลั่งได้ดีเวลา 23.30 น. โดยจะต้องหลับสนิทเวลา 22.30 น. หลังจากนั้นฮอร์โมนถึงจะหลั่งออกมา
  6. ออกกำลังกาย 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละ 20-30 นาที ให้อัตราการเต้นของหัวใจอยู่ที่ 120 ครั้ง/นาทีขึ้นไป จะกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารบางอย่าง เช่น เอ็นโดรฟิน ซิโรโทนิน โดปามีน ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นไข่ให้คุณภาพดี รวมถึงอสุจิด้วย
  7. เพิ่มการกินโปรตีนให้มากขึ้น ลดคาร์โบไฮเดรต และลดของหวานต่างๆ

...

_______________________________________________

แหล่งข้อมูล
รศ. พญ.มัธชุพร สุขประเสริฐ สาขาเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล