น้ำมันมะพร้าว (Coconut oil) ซึ่งสกัดจากเนื้อ (Kernel) ของมะพร้าว (Cocos nucifera) ได้รับความสนใจ และมีการแนะนำให้นำมาใช้การรักษาโรคอัลไซเมอร์ ในน้ำมันมะพร้าวมีกรดไขมันสายปานกลาง (Medium chain triglycerideds, MCTs) ซึ่งมีจำนวนคาร์บอน 8-12 อะตอม ได้แก่ กรดลอริก (C=12) กรดคาปริก (C=10) กรดคาไพรลิก (C=10) และกรดคาโปรอิก (C=8) รวมกันประมาณ 62.5% ไขมันซึ่งมีกรดไขมันสายปานกลางเมื่อเข้าสู่ร่างกายสามารถเข้าสู่ตับได้โดยตรงไม่ต้องอาศัยน้ำดีในการย่อย
โดยทั่วไปร่างกายได้รับพลังงานจากกลูโคส เมื่อกลูโคสลดลงเช่นในกรณีขาดอาหาร หรืออดอาหาร ตับจะสร้าง ketone bodies ซึ่งได้แก่ acetoacetate beta-hydroxybutyrate และ acetone จากไขมันที่ร่างกายสะสมไว้เพื่อเป็นแหล่งพลังงานแทน

ในผู้ที่เป็นโรคอัลไซเมอร์นั้น การเผาผลาญกลูโคสลดลง จึงมีผลต่อการทำงานของสมอง มีผู้เสนอให้ใช้น้ำมันมะพร้าวซึ่งจะทำให้เกิดการสร้างคีโตนเพื่อเป็นแหล่งพลังงานของสมอง และกล่าวว่าผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมสามารถใช้คีโตนได้ดีกว่ากลูโคส ซึ่งทฤษฎีนี้ยังไม่เป็นที่ยอมรับมากนักในหมู่แพทย์ที่รักษาโรคอัลไซเมอร์และนักวิจัย

การทำให้เกิดภาวะคีโตซิสในร่างกายนั้นสามารถทำได้โดยการให้อาหารที่เรียกว่า Ketogenic diet ซึ่งเป็นอาหารที่มีไขมันสูง คาร์โบไฮเดรต และโปรตีนต่ำ เพื่อให้ร่างกายใช้ไขมันเป็นแหล่งพลังงานหลักเพื่อทำให้เกิดการสร้างคีโตนขึ้น มีการใช้อาหารนี้ในการรักษาโรคลมชักมาเป็นระยะเวลานาน โดยเฉพาะในเด็กที่ไม่ค่อยตอบสนองต่อการใช้ยา และต่อมาพบว่าการใช้ MCTs oil แทนไขมันที่ใช้ตามปกติจะทำให้การดูดซึมเร็วกว่า และทำให้อาหารมีรสชาติดีกว่า เกิดภาวะคีโตซิสได้เร็วกว่า สามารถป้องกันการชักได้

...

มีรายงานการศึกษาถึงผลของการใช้ Ketogenic diet ในผู้สูงอายุที่เป็นโรคอัลไซเมอร์และมีความจำเสื่อมเล็กน้อยจำนวน 23 คน เป็นเวลา 6 สัปดาห์ โดยให้อาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำ ซึ่งจะทำให้มีระดับคีโตนเพิ่มขึ้น พบว่าทำให้ผู้ป่วยมีความจำดีขึ้นกว่าอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง และอีกการศึกษาหนึ่งเป็นการศึกษาทางคลินิกเบื้องต้นในผู้ป่วยอัลไซเมอร์ หรือผู้ป่วยความจำเสื่อมอย่างอ่อนจำนวน 20 คน โดยให้ดื่มเครื่องดื่ม MCTs เมื่อทดสอบความจำ พบว่าผู้ป่วยมีความจำบางอย่างดีขึ้น และพบว่ามีระดับ beta-hydroxybutyrate สูงขึ้นอย่างเฉียบพลันภายใน 90 นาที หลังการศึกษาทั้ง 2 ครั้ง ซึ่งเกิดขึ้นเฉพาะผู้ป่วยจำนวน 9 คนที่ไม่มี apolipoprotein E เท่านั้น

ปัจจุบันมีอาหารทางการแพทย์ (Medical food) ที่ชื่อว่า Axona® มีสารสำคัญคือกรดคาไพรลิก ซึ่งเป็นกรดไขมันสายปานกลาง มีการศึกษาทางคลินิกโดยใช้ชื่อว่า Ketasyn [AC-1202] โดยทำการศึกษาในผู้ป่วยอัลไซเมอร์อย่างอ่อนและปานกลาง จำนวน 152 คน เป็นเวลา 90 วัน แบบ randomized double-blind ใน phase 2 โดยให้ Axona® วันละ 10-20 กรัม หรือยาหลอก ในวันที่ 45 ทางผู้ผลิตรายงานว่าผู้ป่วยที่ได้รับ Axona® สามารถทำแบบทดสอบความจำได้ดีกว่า และในวันที่ 90 และหลังจากหยุดให้ Axona® แล้วคือในวันที่ 104 พบว่าผู้ป่วยที่ไม่มี apolipoprotein E gene และได้รับ Axona® มีความจำดีกว่าผู้ที่ได้รับยาหลอก ทั้งสองครั้ง แต่อย่างไรก็ตามทางผู้ผลิตไม่ได้ทำการศึกษาต่อใน phase 3 ซึ่งต้องทำในผู้ป่วยอัลไซเมอร์จำนวนมากขึ้น จึงจะสามารถผ่านการอนุมัติขององค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาให้ขึ้นทะเบียนเป็นยาได้ ดังนั้นจึงยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะสรุปได้ว่าอาหารทางการแพทย์ Axona® ใช้รักษาโรคอัลไซเมอร์ได้

สำหรับการใช้น้ำมันมะพร้าวในการรักษาโรคอัลไซเมอร์นั้น ยังไม่พบว่ามีรายงานการวิจัย หรือบทความตีพิมพ์ที่กล่าวถึงการศึกษาทางคลินิกที่ประเมินได้ว่าสามารถใช้รักษาโรคอัลไซเมอร์ จึงน่าจะมีการส่งเสริมให้มีการวิจัยทางคลินิกที่นำน้ำมันมะพร้าวมาใช้ในการรักษาโรคอัลไซเมอร์โดยตรง เพื่อจะได้ทราบถึงปริมาณที่เหมาะสมและปลอดภัย รวมถึงผลข้างเคียงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับระบบทางเดินอาหาร หรือปริมาณไขมันในเลือด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ป่วย และเป็นแนวทางใหม่ในการรักษาโรคอัลไซเมอร์ต่อไป

บทความโดย : รองศาสตราจารย์วัลลา ตั้งรักษาสัตย์ ภาควิชาอาหารเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล