- การเดินมากๆ วิ่งมากเกินไป ใส่รองเท้าส้นสูงมากและนานเกินไป การออกกำลังกายบางชนิด อาจทำให้เป็นโรครองช้ำได้!!!
- โรครองช้ำ กับโรคกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท ทำให้เกิดการปวดบริเวณฝ่าเท้าได้เช่นกัน ต้องได้รับการวินิจฉัยเพื่อการรักษาได้ถูกต้อง
- การนวดแผนโบราณ ไม่ได้ช่วยรักษาโรครองช้ำ เพียงแค่ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อได้บ้างเท่านั้น
อาการปวดบริเวณฝ่าเท้า อาการที่ดูไม่ร้ายแรงจนทำให้หลายคนมองข้าม เพราะมองว่าแค่ซื้อยาแก้ปวดรับประทานก็คงหาย แต่ในความเป็นจริงแล้ว อาจเป็นสัญญาณอันตรายทำให้เกิด “โรครองช้ำ” ที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมากเพราะทำให้การเดินมีความยากลำบาก เนื่องจากมีอาการอักเสบปวดบวมใต้ฝ่าเท้า เหมือนมีเข็มมาทิ่มตลอดเวลา ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้จนเรื้อรัง นอกจากจะรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน โดยไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องจะทำให้เกิดอาการบาดเจ็บหรือปวดในส่วนต่างๆ ของร่างกายเพิ่มมากขึ้น อาจทำให้เส้นเอ็นฉีกขาด ต้องได้รับยารักษาที่แรงขึ้น หรือถึงขั้นต้องผ่าตัดได้
สาเหตุของ “โรครองช้ำ”
...
โรครองช้ำ เกิดจากการรองรับการกระแทกของฝ่าเท้าและอุ้งเท้า ในขณะที่เรามีการยืน เดิน ซึ่งมีการลงน้ำหนักบนฝ่าเท้า ทำให้อุ้งเท้าของเราแบนราบกับพื้น และแรงที่กระทบลงมานั้น ทำให้เกิดแรงตึงตัวระหว่างส้นเท้ามากขึ้นจนเกิดเป็นพังผืดหรือได้รับความเสียหาย มีการอักเสบสะสมเรื่อยๆ จนเกิดการฉีกขาดของเอ็นฝ่าเท้า
ซึ่งการอักเสบของพังผืดใต้ฝ่าเท้านั้น มักมีอาการปวดบวมบริเวณส้นเท้าในแนวตามแถบของพังผืดใต้ฝ่าเท้าตอนตื่นนอน มีอาการเจ็บแปล๊บๆ เหมือนโดนอะไรมาแทงบริเวณส้นเท้าหรือปวดแบบโดนของร้อนๆ สัมผัส และจะดีขึ้นหลังจากได้เดิน แต่ก็อาจจะกลับมาปวดอีกครั้งก่อนนอน อาการจะเป็นๆ หายๆ
ซึ่งสาเหตุหลักของการเป็นโรครองช้ำมาจากการใช้งานข้อเท้าหนักเกินไป การเดินมากๆ วิ่งมากเกินไป ใส่รองเท้าส้นสูงมากและนานเกินไป รวมถึงในคนที่มีน้ำหนักตัวมาก หรือมีกระดูกรูปเท้าผิดปกติ เช่น อุ้งเท้าแบน หรือโก่งมากเกินไป การออกกำลังกายบางประเภท อาทิ การเต้นแอโรบิก การปั่นจักรยาน ภาวะกระดูกงอกบริเวณกระดูกส้นเท้า ไขมันบริเวณส้นเท้าฝ่อลีบตามอายุเองก็มีส่วนทำให้อุ้งเท้าและฝ่าเท้าได้รับแรงกระแทกจนเกิดเป็นโรครองช้ำต่อมา
การรักษา
ก่อนได้รับการรักษาโรครองช้ำ แพทย์ต้องวินิจฉัยก่อนว่าไม่ได้เป็นโรคอื่นที่มีอาการคล้ายคลึงกัน เช่น โรคกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท ซึ่งจะทำให้เกิดการปวดบริเวณฝ่าเท้าได้เช่นกัน แต่โรคดังกล่าวมักมีอาการอื่นร่วมด้วย ส่วนโรครองช้ำจะมีอาการปวดบริเวณจุดเกาะของพังผืดบริเวณฝ่าเท้าเท่านั้น
หากแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าเป็นโรครองช้ำจะให้การรักษา ดังต่อไปนี้
- แพทย์ส่วนใหญ่จะทำการรักษาด้วยการให้รับประทานยาร่วมกับการแช่เท้าในน้ำอุ่นและยืดเหยียดฝ่าเท้าและเอ็นร้อยหวาย
- รับประทานยา เช่น ยาแก้ปวด ยาคลายกล้ามเนื้อ
- แนะนำให้ลดน้ำหนัก โดยควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้มากเกินไป เพราะอาจจะทำให้เอ็นฝ่าเท้ารับน้ำหนักมากเกินไปส่งผลให้อาการนั้นหายช้าและมีอาการปวดมากยิ่งขึ้น
- ใช้วิธีการรักษาแบบ insoles หรือแผ่นเสริมใต้ฝ่าเท้า (foot orthosis) ที่เหมาะสมกับรองเท้า
- ใส่เฝือกอ่อนชั่วคราว เพื่อลดการเคลื่อนไหวและการอักเสบในช่วงแรก ในเวลากลางคืนหรือสามารถใส่ได้ตามเวลาเหมาะสม
- ทำกายภาพบำบัด โดยใช้ความร้อนแบบอัลตราซาวนด์ (Ultrasound therapy) ดัดยืดที่เส้นเอ็นของฝ่าเท้าและใช้ไม้เท้าช่วยพยุงการเดิน
- ประคบเย็นหรือใช้น้ำแข็งประคบ เพื่อช่วยลดอาการปวดบวม
- รักษาด้วยคลื่นกระแทก (Shock-wave therapy) โดยใช้คลื่นเสียงกระตุ้นบริเวณจุดเกาะพังผืดฝ่าเท้า ให้เกิดการสมานตัวและลดการอักเสบ เนื่องจากทำให้เลือดมาหล่อเลี้ยงส่วนที่เสียหายและซ่อมแซมได้ ซึ่งผลการรักษามีความใกล้เคียงกับการผ่าตัด
- หลีกเลี่ยงการฉีดยากลุ่มสเตียรอยด์
- สุดท้ายหากได้รับการรักษาตามลำดับทั้งหมดแล้วนานกว่า 6 เดือน อาการยังไม่ดีขึ้น อาจต้องพิจารณาใช้การผ่าตัด โดยมีทางเลือกทั้งผ่าแบบเปิดหรือใช้กล้อง เพื่อเลาะจุดเกาะพังผืดของฝ่าเท้า ซึ่งจะช่วยให้การอักเสบและอาการปวดหายไป
...
การป้องกัน “โรครองช้ำ”
การรักษาโรครองช้ำอาจต้องใช้ระยะเวลานานในการรักษาหรือใช้ระยะเวลานานในการพักฟื้น จะดีกว่าหรือไม่หากเราสามารถป้องกันโรครองช้ำที่อาจเกิดขึ้นได้
- เลือกรองเท้าให้เหมาะกับเท้าพอดีไม่รัดเกินไป สวมใส่สบายและเหมาะกับชีวิตประจำวัน เพื่อช่วยลดแรงกระแทกจากการออกกำลังกายหรือเดินมากเกินไป หรือสวมใส่รองเท้าส้นนิ่ม โดยใช้แผ่นรองเท้า
- หยุดกิจกรรมที่ต้องใช้ฝ่าเท้าเป็นเวลานานหรือกีฬา อาทิ การว่ายน้ำ การวิ่ง การปั่นจักรยาน เพื่อหลีกเลี่ยงน้ำหนักที่จะลงฝ่าเท้า และหลีกเลี่ยงการเดินด้วยเท้าเปล่า
- สำหรับสาวๆ ที่สวมรองเท้าส้นสูงมากๆ หรือสวมเป็นเวลานาน หากมีเวลาพักควรถอดรองเท้าออก และฝึกยืดกล้ามเนื้อน่อง ยืดพังผืดใต้ฝ่าเท้าบ่อยๆ
- ผู้ที่มีเท้าผิดรูป เช่น ฝ่าเท้าแบนหรือโก่งเกินไป ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อตัดรองเท้าพิเศษ ให้เข้ากับรูปเท้าเพื่อช่วยลดการบาดเจ็บและป้องกันโรครองช้ำได้
หลายคนมองว่าโรครองช้ำเป็นเรื่องเล็กน้อยและสามารถรักษาให้หายขาดได้ไม่ยาก จนทำให้เกิดการรักษาด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็น การซื้อยามากินเอง ไปฝังเข็มเพื่อรักษา ซึ่งวิธีดังกล่าวยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าสามารถรักษาโรครองช้ำได้ รวมถึงการนวดแผนโบราณเองก็ยังไม่มีการยืนยันว่าจะรักษาโรครองช้ำได้ แม้การนวดอาจช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อบริเวณน่องได้บ้างก็ตาม
...
ดังนั้น หากมีอาการของโรครองช้ำควรไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา เพราะโรคนี้ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ให้เกิดอาการเจ็บเรื้อรัง เพราะจะส่งผลต่อการดำเนินชีวิตในระยะยาว จึงควรรักษาโรครองช้ำให้เร็วที่สุดเพื่อทำให้การใช้ชีวิตประจำวันกลับมาสดใส ได้ใส่รองเท้าสวยๆ และออกกำลังกายได้ตามใจปรารถนาอีกครั้ง
บทความโดย : นพ. สุวิชาญ บำรุงเชาว์เกษม ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ด้านการส่องกล้องโรคข้อและเวชศาสตร์การกีฬา รพ. สมิติเวช ศรีนครินทร์